เผย 5 วิธีใช้ “ถังดับเพลิง“ อย่างถูกต้อง เพื่อความปลอดภัย ป้องกันเหตุร้าย

เผย 5 วิธีใช้ “ถังดับเพลิง“ อย่างถูกต้อง ในยามคับขัน เพื่อความปลอดภัย ป้องกันเหตุร้าย หลายคนไม่เคยรู้มาก่อน!

เรียกได้ว่า “ถังดับเพลิง” เป็นสิ่งเราเห็นได้บ่อยตามสถานที่ต่างๆ แต่เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้จักวิธีการใช้ถังดับเพลิงที่ถูกต้อง เพราะถ้าหากไม่รู้วิธี เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินก็ไม่สามารถนำออกมาใช้งานได้ วันนี้เราจึงจะพาไปรู้จักกับประเภทและวิธีการใช้ถังดับเพลิงเวลาที่อยู่ในสถานการณ์คับขัน จะได้ใช้ถังดับเพลิงได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย

 

ประเภทของไฟ

ไฟเกิดจากองค์ประกอบ 3 อย่างด้วยกัน คือ เชื้อเพลิง (Fuel) ความร้อน (Heat) และออกซิเจน หากต้องการจะดับไฟก็ต้องทำให้องค์ประกอบอย่างใดอย่างหนึ่งหายไปหรือไม่เพียงพอกับการเผาไหม้ ซึ่งประเภทของการเกิดไฟมี 5 ประเภท ได้แก่ 

 

1. ไฟประเภท A

ไฟประเภท A (Ordinary Combustibles) ไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิงธรรมดาที่ติดไฟง่าย มักพบได้ตามอาคารและที่พักอาศัยทั่วไป เช่น ผ้า กระดาษ ขยะ พลาสติก เป็นต้น

 

2. ไฟประเภท B

ไฟประเภท B (Flammable Liquids) ไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิงที่มีเป็นของเหลวติดไฟและก๊าซติดไฟ เช่น น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล สี รวมถึงสารละลาย  

 

3. ไฟประเภท C

ไฟประเภท C (Electrical Equipment) ไฟที่มักเกิดกับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ยังมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านจนทำให้เกิดความร้อนสูง 

 

4. ไฟประเภท D

ไฟประเภท D (Combustible Metals) ไฟที่เกิดจากโลหะติดไฟง่าย เช่น อะลูมิเนียบ แมกนีเซียม ไทเทเนียม โพแทสเซียม ฯลฯ

 

5. ไฟประเภท K 

 ไฟประเภท K (Combustible Cooking) ไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิงน้ำมันที่ใช้ในการทำอาหาร เช่น น้ำมันพืช น้ำมันสัตว์ และไขมันสัตว์ 

 

เผย 5 วิธีใช้ “ถังดับเพลิง“ อย่างถูกต้อง เพื่อความปลอดภัย ป้องกันเหตุร้าย

ประเภทถังดับเพลิง

สำหรับถังดับเพลิงนั้น แบ่งออกตามการใช้งานได้เป็น 6 ประเภท ดังนี้

 

1. ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง

ถังดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง (Dry Chemical Extinguishers) ถังดับเพลิงสีแดง ด้านในบรรจุผงเคมีแห้งและก๊าซไนโตรเจน น้ำยาที่ฉีดออกมามีลักษณะเป็นละออง สามารถดับเพลิงได้ทุกชนิด เหมาะสำหรับดับไฟประเภท A B และ C ติดตั้งได้ทั้งในบ้าน อาคาร และโรงงานต่าง ๆ 

 

2. ถังดับเพลิงชนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ถังดับเพลิงชนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide (CO2) Extinguishers) ถังดับเพลิงสีแดงเหมือนกับประเภทแรก แตกต่างที่ปลายสายฉีดมีลักษณะเป็นกรวยหรือกระบอก ด้านในบรรจุก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อฉีดออกมาจะมีลักษณะเป็นไอเย็น ช่วยลดความร้อนและดับไฟได้อย่างรวดเร็ว เหมาะกับการติดตั้งในโรงงานขนาดใหญ่ สำหรับดับไฟประเภท B และ C 

 

3. ถังดับเพลิงชนิดน้ำยาเหลวระเหย

ถังดับเพลิงชนิดน้ำยาเหลวระเหย HCFC-123 (Halotron Extinguishers) ด้านในบรรจุสารเคมีเหลว เมื่อฉีดออกมาจะเป็นไอระเหย เหมาะสำหรับดับไฟประเภท A B C และ K 

 

4. ถังดับเพลิงชนิดน้ำยาโฟม

ถังดับเพลิงชนิดน้ำยาโฟม (Foam Extinguishers) ด้านในบบรจุโฟมเข้มข้น เมื่อฉีดออกมาจะเป็นฟองโฟมสีขาว ใช้ดับไฟได้ทั้งประเภท A และ B 

 

5. ถังดับเพลิงชนิดน้ำ

ถังดับเพลิงชนิดน้ำ (Water Extinguishers) ด้านในบรรจุน้ำยาเหลวระเหย ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลดความร้อนได้ดี มีความเย็นจัด โดยเฉพาะไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิงที่เป็นวัตถุของแข็ง เช่น ไม้ ผ้า พลาสติก หรือกระดาษ เหมาะสำหรับใช้ดับไฟในอาคารและบ้านทั่วไป

 

6. ถังดับเพลิงชนิด BF2000

ถังดับเพลิงชนิด BF2000 ด้านในบรรจุน้ำยาประเภทสารเหลวระเหยชนิด BF 2000 ที่ไม่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม เหมาะสำหรับใช้ดับไฟประเภท A, B, C และ D

 

เผย 5 วิธีใช้ “ถังดับเพลิง“ อย่างถูกต้อง เพื่อความปลอดภัย ป้องกันเหตุร้าย

 

วิธีใช้ถังดับเพลิง

- ดึงสลักนิรภัยปลดล็อกออกจากวาล์วที่หัวถัง ซึ่งจะมีกระดูกงูล็อกอยู่ หากดึงไม่ออกให้บิดแล้วค่อยดึงสลักออก

- ปลดสายฉีดออกจากตัวถังดับเพลิง โดยจับปลายสายฉีกแล้วดึงออกมาจะง่ายกว่าดึงออกจากโคนสาย 

- จับปลายสายให้แน่น และหันหัวฉีดไปยังต้นตอของเพลิง แล้วค่อย ๆ กดคันฉีดให้สารในถังดับเพลิงออกมาดับไฟ

- ยืนห่างประมาณ 2-4 เมตร แล้วฉีดสารเคมีไปยังฐานของต้นเพลิง พร้อมกับส่ายหัวฉีดไป-มาจนเปลวไฟดับสนิท 

 

เผย 5 วิธีใช้ “ถังดับเพลิง“ อย่างถูกต้อง เพื่อความปลอดภัย ป้องกันเหตุร้าย

 

วิธีตรวจสอบสภาพการใช้งาน

ถึงแม้จะไม่ได้ใช้งานถังดับเพลิงบ่อย ๆ ก็ควรหมั่นตรวจสอบสภาพการใช้งานของถังดับเพลิงเป็นประจำทุกเดือน และตัวถังต้องอยู่ในสภาพดี ไม่บุบ บวม หรือขึ้นสนิม ส่วนถังดับเพลิงที่ผ่านการใช้งานมาแล้วก็ควรต้องนำมาตรวจสอบระดับความดันและปริมาณสารเคมีให้อยู่ระดับที่พร้อมใช้งานได้อยู่เสมอ 

 

วิธีติดตั้งถังดับเพลิง

ตำแหน่งของถังดับเพลิงควรต้องอยู่ในที่ที่หยิบใช้งานได้สะดวก หรือถ้าเป็นไปได้ควรจัดวางถังดับเพลิงไว้ประจำห้องทุกห้องในบ้าน โดยเฉพาะส่วนที่ดูจะมีความเสี่ยงเพลิงไหม้สูง เช่น ห้องครัว ห้องนอน ห้องซักผ้า เป็นต้น เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมาจะได้ดับเพลิงได้ทันท่วงที

 

อย่างไรก็ตาม หากเกิดเพลิงไหม้ควรตั้งสติให้ดีและโทรแจ้งสถานีดับเพลิงใกล้บ้านก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นก็หาทางหนีออกมา หรือถ้าเพลิงไม่ใหญ่มาก อาจจะเลือกใช้ถังดับเพลิงดับไฟเพื่อป้องกันการลุกลามก็ได้ นอกจากนี้ ควรหมั่นศึกษาวิธีการใช้งานถังดับเพลิง รวมทั้งซ้อมหนีไฟเป็นประจำจะดีที่สุด