ราชกิจจาฯ ออกประกาศ การร่วมลงทุน รัฐบาล - เอกชน เปลี่ยนงานวิจัยไปใช้ประโยชน์

ราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐบาลและเอกชนในโครงการซึ่งนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ พ.ศ. 2566

จากกรณี เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 66 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ "ราชกิจจานุเบกษาว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐบาลและเอกชนในโครงการซึ่งนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ พ.ศ. 2566" ซึ่งอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(8) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ประกอบมาตรการ 31 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 ส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ สถาบันวิจัย และหน่วยงานอื่นของรัฐตามที่สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ทางธุรกิจและทางสังคม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ 

ราชกิจจาฯ ออกประกาศ การร่วมลงทุน รัฐบาล - เอกชน เปลี่ยนงานวิจัยไปใช้ประโยชน์

ระเบียบร่วมลงทุน ได้กำหนดวัตถุประสงค์การร่วมทุนเพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ได้แก่ 1) เพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ เชิงสังคม หรือเชิงสาธารณประโยชน์ 2) เพื่อสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน และ 3) เพื่อสร้างธุรกิจฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรมรายใหม่ ซึ่งลักษณะโครงการร่วมลงทุน ครอบคลุม โครงการที่นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีความพร้อมไปใช้ดำเนินการ หรือเป็นโครงการที่มีอยู่แล้วและนำไปศึกษาต่อยอด หรือนำไปขยายผลให้เกิดการใช้ประโยชน์ในวงกว้าง

โดยรูปแบบการร่วมลงทุน ระบุว่า หน่วยงานเจ้าของโครงการร่วมลงทุน สามารถร่วมลงทุนกับเอกชน 1) จัดตั้งบริษัทร่วมทุนที่เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชน 2) จัดตั้งนิติบุคคลเพื่อร่วมลงทุน (Holding Company) หรือ 3) จัดตั้งนิติบุคคลเพื่อร่วมลงทุนใน ‘วิสาหกิจเริ่มต้น’ หรือ สตาร์ทอัพ (Startup) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ได้

สำหรับวิธีการคัดเลือกเอกชนมาร่วมลงทุน 1) คัดเลือกจากเอกชนอย่างน้อย 3 ราย ที่เข้ายื่นข้อเสนอร่วมลงทุน โดยยึดหลักเกณฑ์การคัดเลือด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม โดยอกชนที่ได้รับการคัดเลือกต้องมีคุณสมบัติ ประสบการณ์ ความพร้อม และความสามารถในการเข้าร่วมลงทุนเหมาะสมตามเกณฑ์ (2) ใช้วิธีการเฉพาะเจาะจงโดยหน่วยงานเจ้าของโครงการเชิญชวนเฉพาะเอกชน ซึ่งมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดรายใดรายหนึ่งให้เข้ายื่นข้อเสนอ

ทั้งนี้ การอนุมัติโครงการร่วมลงทุน ต้องพิจารณาความสอดคล้องของนโยบายร่วมลงทุน ข้อเสนอ เงื่อนไข ความเป็นไปได้ทางธุรกิจ แผนธุรกิจ และแผนการจัดการความเสี่ยง รวมถึงความพร้อมของผู้ร่วมทุนและประสบการณ์ โดยหน่วยงานเจ้าของโครงการต้องจัดทำสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนที่ต้องผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมทั้งการติดตาม และประเมินผลโครงการ ซึ่งต้องกำหนดตัวชี้วัดที่แสดงให้เห็นความคุ้มค่าของการลงทุน และประสิทธิภาพในการบริหารการลงทุน และประเมินผลตามหลักเกณฑ์ที่หน่วนงานเจ้าของโครงการกำหนด