ห้ามเติมน้ำมัน ใส่ขวดพลาสติกเด็ดขาด แท้จริงเป็นอย่างไร "อ.เจษฎ์" ตอบชัด

"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความให้ข้อมูลในประเด็น ห้ามเติมน้ำมัน ใส่ขวดพลาสติกเครื่องดื่ม เพราะจะเกิด "ไฟฟ้าสถิตย์"

"อ.เจษฎ์ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความระบุว่า 

"ห้ามเติมน้ำมัน ใส่ขวดพลาสติกเครื่องดื่ม เพราะจะเกิด "ไฟฟ้าสถิตย์" จริงหรือ?"

มีคำถามน่าคิด จากผู้ที่ไปชมคลิปใน IG ช่อง bimmermeetmag เกี่ยวกับว่า "เติมน้ำมันใส่ขวดอันตรายกว่าที่คิด" (ดู คลิก) โดยในคลิปว่า ที่ทำไมเราไม่ควรเติมน้ำมันใส่ขวดเวลาน้ำมันหมด ไม่ว่าจะแกลลอนนม ขวดพลาสติก แกลลอนน้ำมันเครื่อง แกลลอนน้ำดื่ม หรือถังพลาสติก ก็เพราะว่าถังพลาสติกอาจมี "ไฟฟ้าสถิตย์" ที่เรามองไม่เห็น ซึ่งอาจทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ อันตรายมาก ?

แต่เอ๊ะ ! พวกถังเก็บน้ำมันโดยเฉพาะ ที่มีขายกันทั่วไป หรือแม้แต่ที่ปั๊มน้ำมันใช้เอง มันก็ทำจาก "พลาสติก" ทั้งนั้นนี่ ทำไมถึงไม่กลัวไฟฟ้าสถิตย์กัน ?

ห้ามเติมน้ำมัน ใส่ขวดพลาสติกเด็ดขาด แท้จริงเป็นอย่างไร อ.เจษฎ์ ตอบชัด

ห้ามเติมน้ำมัน ใส่ขวดพลาสติกเด็ดขาด แท้จริงเป็นอย่างไร อ.เจษฎ์ ตอบชัด

คำตอบคือ มันค่อนข้างจะเป็นความเชื่อที่อ้างกันมาจากในต่างประเทศนานมาแล้ว แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานว่าเกิดขึ้นเช่นนั้นจริง และในไทยก็ยังอ้างตามกันอยู่ (คล้ายเรื่อง ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือในปั๊มน้ำมัน นั่นแหละครับ) ..

... ซึ่งปัจจุบัน จะเห็นว่า เหตุผลที่ใช้อธิบายเรื่องนี้ จะเป็นเรื่อง "ชนิดและประสิทธิภาพของพลาสติก ว่าทนน้ำมันเชื้อเพลิงได้มากน้อยแค่ไหน ต่างหากครับ

ถ้าลองหาข้อมูลในเพจของไทย เกี่ยวกับว่า ทำไมถึงห้ามเติมน้ำมันลงในขวดพลาสติก ก็จะพบว่าตอบไปในทางเดียวกันหมดคือ "การเติมน้ำมันในถังพลาสติก ถือเป็นเรื่องที่อันตรายกว่าที่คิดไว้ เพราะดูเผินๆ อาจไม่มีปัจจัยเอื้อให้เกิดการติดไฟมากนัก แต่ถังพลาสติกอาจเต็มไปด้วยไฟฟ้าสถิตย์ ที่มองไม่เห็น ซึ่งจะก่อให้เกิดเพลิงลุกไหม้ได้เช่นกัน" (จาก คลิก)

ในขณะที่ข้อมูลเกี่ยวกับ ถังน้ำมันสำหรับเก็บบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิง ก็ระบุชัดว่า มันก็ทำจากพลาสติกเช่นกัน โดยไม่ได้ระบุอะไรเรื่องไฟฟ้าสถิตย์เลย แต่เน้นเรื่องการป้องกันการกัดกร่อนจากน้ำมันเชื้อเพลิงต่างหาก 

(จาก คลิก)

ถังน้ำมัน (Fuel Can) เป็นภาชนะที่ใช้บรรจุน้ำมันเชื้อเพลิงไว้เติมรถยนต์ เรือ และยานพาหนะต่างๆ มีลักษณะเป็นถังสี่เหลี่ยมที่ปิดสนิทไม่มีช่องระบายอากาศ และมีฝาปิดที่แน่นหนา มาพร้อมกับหูหิ้วด้านบนตัวถังช่วยให้การยกใช้งานหรือขนย้ายเป็นเรื่องง่าย

สำหรับตัวถังน้ำมันนั้นผลิตได้จากวัสดุพลาสติก สแตนเลส และเหล็กที่มีความหนาแน่นสูง มีรูปทรงกะทัดรัด ทนต่อการกัดกร่อนและแรงกระแทกได้ดี ไม่เป็นสนิมได้ง่าย และสะดวกแก่การพกพาใช้ในงานเกษตร งานอุตสาหกรรม และสำรองไว้ใช้ในการเดินทางไกล

ทั้งนี้ถังน้ำมันจะมีให้เลือกใช้งานหลายขนาดหลายสีและแต่ละสีก็จะบรรจุชนิดของน้ำมันที่แตกต่างกันออกไป เช่น ถังสีแดงสำหรับน้ำมันเบนซินและของเหลวไวไฟ ถังสีฟ้าสำหรับเก็บน้ำมันก๊าซ ถังสีเหลืองและถังสีดำสำหรับน้ำมันดีเซล และถังสีเขียวสำหรับน้ำมันเครื่อง เป็นต้น

จริงๆ แล้ว เรื่องไฟฟ้าสถิตย์นั้น ถูกเอาไปใช้เป็นข้ออ้างหนึ่ง ประกอบข้อห้ามปั๊มน้ำมัน ไม่ให้ใช้ขวดพลาสติกมาบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิงขายลูกค้า โดยอ้างว่า ระหว่างที่เติมน้ำมันลงไปในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติก (โดยเฉพาะชนิดโพลีเอทิลีน) มันจะทำให้เกิดการสะสมของประจุไฟฟ้าสถิตย์ขึ้นที่ผนังด้านในของบรรจุภัณฑ์นั้นให้มากขึ้น แล้วกระแสของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ฉีดลงไปในถัง ก็สร้างประจไฟฟ้าขึ้นด้วย เลยทำให้เกิดการคายประจุของไฟฟ้าสถิตย์ ส่งผลให้ไปจุดระเบิดไอของน้ำมัน และนำไปสู่เพลิงไหม้ได้

แต่สมมติฐานนี้ ไม่น่าเกิดขึ้นในโลกความเป็นจริง เนื่องจากการที่จะเกิดประจุไฟฟ้าสะสมที่ข้างในของถังพลาสติกได้นั้น พื้นผิวของพลาสติกจะต้องถูกขัดถูกับวัสดุชนิดอื่น ให้แรงและนานพอที่จะเกิดการแลกเปลี่ยนประจุขึ้น เช่น ต้องเป็นถัง ที่วางอยู่กับพรมบนพื้นรถ แล้วกลิ้งไปกลิ้งมาอย่างแรงและนานๆ / ในขณะที่การเติมน้ำมันลงไปในถังบรรจุเชื้อเพลิง ก็ไม่ได้จะพุ่งพรวดไฮสปีด จนเกิดประจุไฟฟ้าสะสมขึ้นอย่างที่สงสัยกัน (ดูรายละเอียดใน คลิก)

ดังนั้น เมื่อหาข้อมูลจากเว็บต่างประเทศ เกี่ยวกับเรื่องที่ว่า ทำไมถึงไม่ให้เติมน้ำมันเชื้อเพลิงลงในภาชนะพลาสติก (ที่ไม่ใช่ถังเก็บน้ำมันโดยเฉพาะ) ก็จะได้คำตอบเกี่ยวกับปัญหาเรื่องคุณภาพของภาชนะพลาสติกนั้นมากกว่า ดังนี้ครับ

- โดยทั่วไปแล้ว ขวดพลาสติกไม่ควรนำมาเก็บน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากความเสี่ยงที่ไอระเหยจากน้ำมันจะถูกเก็บไว้ภายใน และทำให้เกิดการกัดกร่อนเสียหายขึ้นกับผนังของขวดพลาสติกได้ จึงไม่ควรเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงในบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นถังโลหะหรือถังพลาสติก

- ตามกฏหมายแล้ว เราไม่ได้รับอนุญาตให้เติมน้ำมันเชื้อเพลิงลงในขวดพลาสติกที่ปั๊มน้ำมัน โดยเฉพาะขวดน้ำซึ่งเป็นชนิด ขวดเพต PET (polyethylene terephthalate) นั้น จะละลายได้ในน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้ขวดเสียหาย รั่วซึม และเกิดอันตรายต่อสาธารณะได้

- น้ำมันเชื้อเพลิงจึงต้องเก็บในภาชนะที่ทำมาโดยเฉพาะเท่านั้น และไม่เก็บในภาชนะใดที่บอกว่าเอาไว้ใส่เครื่องดื่มหรืออาหาร มีพลาสติกหลายชนิด เช่น ถุงพลาสติก ถ้วยพลาสติก ที่หดตัวและละลายได้อย่างรวดเร็วเมื่อถูกน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากมันมีโครงสร้างทางเคมีที่คล้ายคลึงกัน คือมีส่วนของไฮโดรคาร์บอนประกอบอยู่ จึงละลายเข้าหากันได้

- พลาสติกชนิดที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์สำหรับเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงได้นั้น จะเป็นชนิด high-Density Polyethylene (HDPE) ที่ทนทานต่อการกัดกร่อนของน้ำมันและไม่ละลาย เนื่องจากมีโครงสร้างพันธะทางเคมีที่แข็งแรงกว่า ทนทานกว่า และมีจุดหลอมละลายสูง เช่น รับอุณหภูมิได้ถึง 230 องศาเซลเซียส จึงเหมาะที่จะใช้ป้องกันไม่ให้น้ำมันเชื้อเพลิงสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมและความร้อนได้

ข้อมูลจาก คลิก