เฝ้าระวังน้ำล้น "เขื่อนอุบลรัตน์" น้ำไหลเข้าอ่างฯอย่างต่อเนื่อง

ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาต่อเนื่องในช่วงนี้ ส่งผลให้เขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ มาก ชป.เตือนเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ

     สืบเนื่องจากอิทธิพลร่องความกดอากาศต่ำพัดผ่านภาคเหนือ รวมไปถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบัน(11 ต.ค. 66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 12 แห่ง ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 7,766 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือ 93% ของความจุเก็บกักรวมกัน เป็นน้ำใช้การรวมกันประมาณ 6,115 ล้าน ลบ.ม.

    ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 284 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 1,942 ล้าน ลบ.ม. หรือ 96% ของความจุเก็บกักรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 1,726 ล้าน ลบ.ม. แต่สถานการณ์น้ำในตอนนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ควบคุมได้แต่ยังคงต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะเขื่อนอุบลรัตน์ ณ วันที่ 11 ต.ค.66 มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ 101.73 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นปริมาณน้ำรวม 2,336.95 ล้าน ลบ.ม. หรือ 96% ของความจุอ่างฯ ซึ่งยังสามารถรับน้ำได้อีกประมาณ 94.35 ล้าน ลบ.ม. แต่เนื่องด้วยสถานการณ์สภาพอากาศที่ยังคงมีฝนตกอยู่อย่างต่อเนื่องในขณะนี้ ทำให้คาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 12-13 ตุลาคม 2566 นี้ เขื่อนอุบลรัตน์จะมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ ถึงระดับเก็บกักที่ + 182.00 ม.รทก. คิดเป็นปริมาณน้ำรวมประมาณ 2,431.30 ล้าน ลบ.ม.
 

     ทั้งนี้คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดขอนแก่น ได้มีมติให้ โรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ทยอยปรับการระบายน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ แบบขั้นบันไดในอัตราไม่เกิน 15 ล้าน ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จากเดิมระบายวันละ 3 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง 
   
     ในส่วนของกรมชลประทาน ได้เตรียมรับมือระดับน้ำในลำน้ำพองและแม่น้ำชีบริเวณด้านท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น โดยใช้ระบบชลประทานทำการหน่วงน้ำ รวมกับจัดจราจรน้ำตลอดลำน้ำชี และลำน้ำมูล พร้อมจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ และระบบสื่อสารสำรองไว้ประจำจุดเสี่ยง ให้สามารถเข้าช่วยเหลือประชาชนได้ทันทีหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ตลอดจนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด