อ.เจษฎ์ เตือน ใครดมยาดมบ่อยๆ อาจระคายเคืองต่อระบบประสาท เสี่ยงสุขภาพเสีย

อ.เจษฎ์ ไขข้อสงสัยหลังเตือน สายดมยาดมบ่อยๆจนติด อาจระคายเคืองต่อระบบประสาท เสี่ยงอันตรายสุขภาพเสียได้ ...

วันที่ 30 ตุลาคม 2566 เฟซบุ๊กเพจ "อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์" โดย ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความรู้กรณีการดมยาบ่อยๆอันตรายไม่ โดยระบุว่า “ติดดมยาดม ก็อันตรายต่อสุขภาพได้ครับ”

 

อ.เจษฎ์ เตือน ใครดมยาดมบ่อยๆ อาจระคายเคืองต่อระบบประสาท เสี่ยงสุขภาพเสีย

 

ยาดม ถ้านานๆ ทีดมที ก็ไม่น่ามีปัญหาครับ แต่ถ้าดมบ่อย ดมมาก ดมจนติด ก็ต้องระวังผลข้างเคียงที่ตามมาต่อสุขภาพ โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจครับ ขอเอาข้อมูลจากโรงพยาบาลเพชรเวช มาอธิบายตามด้านล่างนี้นะครับ
ยาดม

ยาดม คือ คือยาประเภทใช้ภายนอก ใช้สำหรับสูดดม เพื่อบรรเทาอาการหวัด คัดจมูก แก้วิงเวียนศีรษะ แต่ถ้าหากบุคคลใดที่ไม่ได้มีอาการเป็นหวัด คัดจมูก หรือวิงเวียนศีรษะ แต่กลับใช้ยาดมบ่อยๆ สามารถเกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจได้ เช่น การเกิดภาวะโพรงจมูกอักเสบ จนถึงขึ้นปอดอักเสบได้ เป็นต้น

 

ส่วนประกอบของยาดม

ยาดม มักจะประกอบไปด้วย เมนทอล การบูร พิมเสน น้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากสมุนไพรอื่นๆ เช่น สะระแหน่ กานพลู หรือยูคาลิปตัส รวมทั้งการบูร และพิมเสน ซึ่งเมื่อสูดดมส่วนประกอบของยาดมเหล่านี้ จะรู้สึกสดชื่น เย็นในโพรงจมูก

 

-พิมเสน
มีลักษณะเป็นเกล็ดเล็กๆ แบนๆ สีขาวขุ่น ซึ่งพิมเสนบริสุทธิ์จะมีรูปร่างลักษณะเป็นหกเหลี่ยม เกิดจากการหุงการบูร และตัวยาอื่นๆ รวมกัน อีกทั้งในปัจจุบันยังสามารถสังเคราะห์พิมเสนได้ แต่จะมีรสเผ็ดกัดลิ้นต่างจากพิมเสนธรรมชาติ

-การบูร
มีลักษณะเป็นเกล็ดมันวาว สีขาว มีกลิ่นหอมฉุน และเย็น ในอดีตการบูรสกัดมาจากต้นของการบูร แต่ในปัจจุบันยังสามารถสังเคราะห์การบูรในราคาถูกได้ การสกัดจากพืชธรรมชาติ

– เมนทอลหรือเกล็ดสะระแหน่
มีลักษณะเป็นผลึกสีขาว มีกลิ่นหอมเย็น สกัดจากใบมินต์ มักจะอยู่ในนำมันหอมระเหยของผลิตภัณฑ์จากใบมินต์

 

ประโยชน์ของยาดม


1. สามารถบรรเทาอาการหวัด คัดจมูก
2. แก้อาการวิงเวียนศีรษะ
3. กลิ่นของยาดมช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย สดชื่น
4. หากเป็นแบบน้ำ สามารถใช้บรรเทาอาการเคล็ด ขัดยอก หรือแมลงสัตว์กัดต่อยได้

 

ผลเสียจากการใช้ดมบ่อยๆ


1. ส่วนประกอบของยาดม จะมีสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่ออวัยวะในระบบทางเดิน ได้แก่ จมูกแห้ง โพรงจมูกอักเสบ และปอดอักเสบ
2. ส่วนประกอบของยาดม จะมีสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบประสาท เนื่องจากมีฤทธิ์ที่สามารถกระตุ้นประสาท ซึ่งส่งผลให้เกิดการเสพติดในชนิดที่ไม่รุนแรงได้ อีกทั้งผลเสียจากการเสพติดใช้ดมบ่อยๆ จะทำให้เสียบุคลิกภาพ
3. การใช้ยาดมร่วมกับผู้อื่น มีความเสี่ยงในการติดเชื้อบริเวณจมูก โดยเฉพาะยาดมที่มีลักษณะผลิตภัณฑ์แบบหลอด
4. อาจเกิดอุบัติเหตุจากการใช้ยาดมได้ เช่น หากยาดมกระเด็นเข้าตา จะทำให้ดวงตาเกิดการระคายเคืองได้ หรือหากยาดมกระเด็นเข้าปาก จะทำให้ลิ้น และช่องปากเกิดความแสบร้อนได้

 

การใช้ยาดมอย่างถูกวิธี


1. อ่านวิธีใช้บนฉลากผลิตภัณฑ์ ก่อนใช้ยาดม
2. ในการใช้ยาดม ควรถือยาดมพอให้ห่างมือ ไม่ควรสูดดมยาดมโดยตรง และสอดแท่งยาดมไว้ในจมูก
3. ค่อยๆ สูดดมยาดมช้าๆ พอให้ร่างกายรู้สึกสดชื่น ไม่ควรสูดดมอย่างรุนแรง
4. ไม่ควรใช้ยาดมต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานๆ
5. ในการยาดมชนิดแบบน้ำ ควรชุดสำลีเพียงเล็กน้อยในการสูดดม หากใช้ทาผิวหนังควรทางแบบบางๆ และไม่ควรทาบริเวณที่มีแผลเปิด
6. เมื่อใช้ยาดมเสร็จแล้ว ควรเช็ดบรรจุภัณฑ์ให้สะอาด และปิดฝาให้มิดชิด

 

ผู้ที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาดม


1. เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี
2. ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับโพรงจมูก เช่น ผู้ป่วยโรคโพรงจมูกอักเสบ ผู้ป่วยโรคไซนัสอักเสบ และผู้ป่วยที่ติดเชื้อในโพรงจมูก
3. สตรีตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาดม
4. ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาดม เช่น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคหอบหืด และผู้ป่วยโรคหลอดลมอักเสบ
การเสพติดยาดม

สำหรับผู้ที่สูดดมยาดมเป็นประจำแล้ว หากวันไหนไม่ได้สูดดมยาดม แล้วมีอาการอยากสูดยาดม นั่นแสดงถึงความเสี่ยงที่จะเป็นผู้เสพติดยาดม

ในการใช้ยาดมนั้น หากใช้ในปริมาณที่พอดี และใช้ในเวลาที่เหมาะสม จะสามารถได้ประโยชน์จากการสูดดม และห่างไกลจากความเสี่ยงต่อการระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ

 

อ.เจษฎ์ เตือน ใครดมยาดมบ่อยๆ อาจระคายเคืองต่อระบบประสาท เสี่ยงสุขภาพเสีย