ข่าวดี ครม.ไฟเขียวงบกลาง เยียวยาแรงงานไทยกลับจากอิสราเอล เพิ่มคนละ 50,000

​รมว.แรงงาน “พิพัฒน์” เผยข่าวดี ครม.ไฟเขียวงบกลาง กว่า 750 ล้านบาท เยียวยาแรงงานไทยกลับจากอิสราเอล เพิ่มคนละ 50,000 บาท

วันที่ 12 ธันวาคม 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ ได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เรื่อง ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการ เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 750 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินโครงการเยียวยาแรงงานไทยจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

ข่าวดี ครม.ไฟเขียวงบกลาง เยียวยาแรงงานไทยกลับจากอิสราเอล เพิ่มคนละ 50,000

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดรายได้ในเบื้องต้นของแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล รวมทั้งเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานถูกต้องตามกฎหมายได้รับการดูแลจากภาครัฐอย่างจริงจัง กระทรวงแรงงานจึงได้มีมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาแรงงานไทยจากการขาดรายได้ในการประกอบอาชีพ โดยเสนอของบประมาณเพื่อใช้จ่ายเงินเยียวยาให้กับแรงงานไทย ซึ่งประมาณการแรงงานไทย จำนวน 15,000 คน ๆ ละ 50,000 บาท  ซึ่งจะมีผลตั้งแต่ ธ.ค.66- ก.ย.67

ข่าวดี ครม.ไฟเขียวงบกลาง เยียวยาแรงงานไทยกลับจากอิสราเอล เพิ่มคนละ 50,000

โดยแรงงานที่ได้รับประโยชน์ แบ่งเป็น 4 กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย กลุ่มแรก แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอล และเดินทางกลับประเทศไทยหลังวันที่ 7 ตุลาคม 2566 กลุ่มที่ 2 แรงงานไทยที่เสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล กลุ่มที่ 3 แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอลและเดินทางกลับประเทศไทย ก่อนวันที่ 7 ตุลาคม 2566 โดยใช้ Re-Entry Visa แต่ไม่สามารถเดินทางกลับไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลได้เนื่องจากกรมการจัดหางานชะลอการเดินทางด้วยเหตุภัยสงครามในประเทศอิสราเอล และกลุ่มที่ 4 ประมาณการแรงงานไทยที่คาดว่าจะประสงค์เดินทางกลับประเทศไทย/เดินทางกลับไทยเพิ่มเติม รวมถึงแรงงานไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกัน

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า การดำเนินการหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการเยียวยาแรงงานไทยจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอลแล้ว กระทรวงแรงงานจะขอรับการจัดสรรงบประมาณ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ ประมาณ 3 - 5 วัน และเมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณแล้ว ผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาก็สามารถมายื่นเอกสารคำร้อง ณ กระทรวงแรงงานหรือสำนักงานแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด โดยเงื่อนไขของผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยานั้นต้องยื่นคำร้องด้วยตนเองเท่านั้น ส่วนกรณีเสียชีวิตให้ทายาทผู้มีสิทธิเป็นผู้ยื่นคำร้อง ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะมีคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่ครบถ้วน ก็จะสามารถโอนเงินเข้าบัญชีผู้มีสิทธิหรือทายาทผู้มีสิทธิ (กรณีเสียชีวิต) ภายใน 7 - 10 วัน โดยระหว่างนั้นผู้ยื่นคำร้องสามารถตรวจสอบสถานะคำร้องได้โดยการสแกน QR CODE ที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่ผู้รับคำร้อง