สิ้น"เจ้าสัวกิตติ"ประธานผู้ก่อตั้ง ดั๊บเบิ้ล เอ

สิ้น"เจ้าสัวกิตติ" ประธานผู้ก่อตั้ง ดั๊บเบิ้ล เอ -กลุ่มบริษัท สวนกิตติ- กลุ่มบริษัท เกษตรรุ่งเรืองพืชผล ถึงแก่กรรมแล้ว ด้วยวัย 94 ปี ...

วันที่ 13 ธ.ค. 66 มีรายงานว่า นายกิตติ ดําเนินชาญวนิชย์  หรือ เจ้าสัวกิตติ ประธานผู้ก่อตั้งบริษัท ดับเบิ้ล เอ (1991) จํากัด (มหาชน) ได้ถึงแก่กรรมแล้วเมื่อ 11 ธ.ค. ด้วยวัย 94 ปี ท่ามกลางความอาลัยรักของครอบครัวและพนักงานในเครือฯ โดยพิธีสวดอภิธรรมธรรมจะมีขึ้นในวันที่ 12-16 ธ.ค.2566 และมีพิธีสวดกงเต๊กวันที่ 17 ธ.ค.2566 ณ อารศูนย์การเรียนรู้ ‘บ้านคุณกิตติ ดําเนินชาญวนิชย์’ จ.ฉะเชิงเทรา และมีพิธีเคารพศพและเคลื่อนย้ายไปยังสุสาน 18 ธ.ค.2566

สำหรับ "เจ้าสัวกิตติ" ที่รู้จักกันดี ในฐานะประธานผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท เกษตรรุ่งเรืองพืชผล จำกัด (ซุ่นฮั่วเซ็ง) ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของไทย  และรายใหญ่ของโลก และกลุ่มบริษัท แอ็ดวานซ์ อะโกร จำกัด (มหาชน) หรือที่ปรับเปลี่ยนชื่อมาเป็น บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจกระดาษครบวงจร  นอกจากนั้นแล้วยังเป็นประธานผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท สวนกิตติ ซึ่งเป็น กิจการปลูกสร้างสวนไม้เศรษฐกิจที่เป็นเกษตรอุตสาหกรรมครบวงจร และริเริ่ม อาชีพการปลูกไม้โตเร็ว (ต้นกระดาษ) ครบวงจร

 

สิ้น\"เจ้าสัวกิตติ\"ประธานผู้ก่อตั้ง ดั๊บเบิ้ล เอ

อ้างอิงข้อมูลจากหนังสือพิธีพระราชทานปริญญาบัตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (ครั้งที่ 34 )ซึ่งเจ้าสัวกิตติ ได้รับพระราชทานปริญญา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ สาขาวิชา การจัดการชุมชน โดยเนื้อหาในหนังสือบางช่วงบางตอนเล่าว่า

เจ้าสัวกิตติ ได้เริ่มต้นพัฒนาระบบการปลูกสร้างสวนป่าในพื้นที่ของตนเอง และได้ขยายผลสู่การส่งเสริมให้เกษตรกรและชาวบ้านที่สนใจ ได้ปลูกเป็นพืช เศรษฐกิจ ในบริเวณหัวไร่ คันนา หน้าบ้าน ท้ายครัว และขอบรั้ว ตลอดจน ที่รกร้างต่าง ๆ อันเป็นการใช้ประโยชน์จากที่ดินที่ไม่เคยสร้างประโยชน์ ให้มีประโยชน์ ได้บุกเบิกกิจการโดยลงมือปฏิบัติให้เห็นจริง ด้วยการจัดตั้งโรงเรียน เผยแพร่ความรู้การปลูกต้นกระดาษ เพื่อให้เกษตรกร ชาวบ้าน และผู้สนใจ ได้เรียนรู้และปฏิบัติตาม ส่งผลให้มีการปลูกแพร่หลายในชุมชน ช่วยสร้าง เศรษฐกิจในครัวเรือนและระดับชุมชนทําให้เกษตรกรและชาวบ้านมีเงินออม จากการปลูกต้นกระดาษบนพื้นที่ว่างเปล่า 
 
ทั้งนี้การดําเนินกิจการดังกล่าว มุ่งเน้นในการสร้างบุคลากรและคณะทํางานอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ของกิจการ เริ่มตั้งแต่การวิจัยปรับปรุงพันธุ์จนเป็นต้นกระดาษการเตรียมพื้นที่ การปลูกบํารุงรักษา การเก็บเกี่ยวผลผลิต ระบบการขนส่ง และขยายผลสู่การ ส่งเสริมแก่เกษตรกร การประกันราคารับซื้อผลผลิต ทําให้ชาวบ้านและผู้ที่สนใจนําไปสร้างอาชีพ มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการปลูกต้นกระดาษ

นอกจากนี้ เจ้าสัวกิตติ ยังได้บุกเบิกการต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าการเกษตร เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต ที่ทําให้คนในชุมชนที่หลากหลาย สามารถเข้าถึงวงจรอาชีพนี้ได้ โดยการสร้างกิจการให้ครบวงจร ตั้งแต่การเพาะ กล้าไม้ การปลูก แปรรูป ไปจนเป็นกระดาษพิมพ์เขียน สิ่งพิมพ์ สร้างตราสินค้า กระดาษของคนไทย (กระดาษดั๊บเบิ้ลเอ) ส่งออกไปยังต่างประเทศนําเงินตราเข้า ประเทศอย่างมหาศาล

เจ้าสัวกิตติ ยังถือเป็นบุคคลที่มีวิสัยทัศน์ในการทํางาน โดยเป็นผู้ศึกษาเจาะลึกถึงแก่นแท้ของงานด้วยความสนใจ ตั้งใจศึกษาค้นคว้าวิจัย จนเข้าใจ จึงตัดสินใจเริ่มพัฒนาพันธุ์ไม้ สร้างสายพันธุ์ต้นกระดาษที่ให้ผลผลิตสูง เติบโตได้ดีและเหมาะสมตามที่เกษตรกรต้องการ รวมทั้งพัฒนาให้มีคุณภาพ ด้านอุตสาหกรรม โดยมีปริมาณเยื่อกระดาษสูงตามที่โรงงานต้องการการพัฒนา วิธีการจัดการแปลงปลูกให้รักษาปริมาณธาตุอาหารและความชื่นเก็บไว้ในดิน การส่งเสริมการปลูกต้นกระดาษที่หลากหลายรูปแบบ

สอดคล้องเหมาะสมกับ ความต้องการในการปลูกบนที่ดินประเภทต่าง ๆ ของเกษตรกร พัฒนา อุตสาหกรรมที่ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ําจนถึงปลายน้ํา นําของเหลือที่ไม่ใช้ประโยชน์ จากภาคการเกษตรมาผลิตกระแสไฟฟ้า โดยการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล พัฒนา ที่ดินในชนบทที่ห่างไกลเป็นเขตอุตสาหกรรมที่มีสาธารณูปโภคที่สมบูรณ์ เชิญชวนนักลงทุนมาสร้างโรงงานเกิดการจ้างงานสร้างอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ ให้กับชนบท ไม่ต้องทิ้งถิ่นฐานไปทํางานในเมืองหลวง ทําให้ชุมชนมีส่วนเกี่ยวข้อง ในกิจการ ช่วยสร้างรายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม 

นอกจากนี้ ยังมีแนวคิด พัฒนาคน เป็นหัวใจสําคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้ก่อตั้ง “มูลนิธิดําเนินชาญวนิชย์” ขึ้นเพื่อส่งเสริม สนับสนุนด้านการศึกษาและ พัฒนาการวิจัย โดยมุ่งเน้นที่เยาวชน พัฒนาครอบครัวเกษตรกรในท้องถิ่น สนับสนุนการศึกษาและการวิจัยพัฒนาของสถาบันการศึกษา เพื่อสร้างบุคลากร ในชุมชนให้มีคุณภาพและทําให้ทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาร่วมกัน 

 

สิ้น\"เจ้าสัวกิตติ\"ประธานผู้ก่อตั้ง ดั๊บเบิ้ล เอ