"หมอธีระวัฒน์" เปิดงานวิจัย ชี้ ดื่มไวน์แดง-ชีส ช่วยลดสมองเสื่อมได้

"หมอธีระวัฒน์" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ได้ออกมาโพสต์ข้อความ เปิดเผยงานวิจัย ชี้ ไวน์แดงกับชีส..สมองเสื่อมชิดซ้าย

"หมอธีระวัฒน์ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ได้ออกมาโพสต์ข้อความระบุว่า 

ไวน์แดงกับชีส..สมองเสื่อมชิดซ้าย

ก่อนที่จะเขียนต้นฉบับนี้ (12 ธันวาคม 2563) หมอกำลังอ่อนเพลียละเหี่ยใจ จะหากลยุทธ์อะไรดีมาจูงใจให้พวกเราคนไทยทั้งหลาย รวมทั้งคนที่เริ่มมีอาการสมองเสื่อมหรือสมองเสื่อมเห็นชัดแล้ว และครอบครัวที่แน่นอนมีโอกาสได้รับมรดกสมองเสื่อม ถ้ามีใครคนใดคนหนึ่ง มีโรคสมองเสื่อมไม่ว่าจะเป็นพาร์กินสันส์ หรือโรคสมองเสื่อมแบบอัลไซเมอร์ก็ตาม หันมากินผักผลไม้ กากไย ลดแป้ง ซึ่งรวมทั้งข้าว ข้าวเหนียว ขนมปัง ก๋วยเตี๋ยว ทั้งหลาย รวมทั้งเนื้อสัตว์ กินปลา กินถั่วได้

"หมอธีระวัฒน์" เปิดงานวิจัย ชี้ ดื่มไวน์แดง-ชีส ช่วยลดสมองเสื่อมได้

หลังจากได้ฟังคำอธิบาย ดูแต่ละคนหม่นหมอง คงคิดในใจว่า “แล้วจะอยู่ไปทำไมวะ” และอย่างที่ตกลงกัน เราเอาความสุขเข้าว่า ถ้าทำตามตำราไม่ได้ ทำตามข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ตรงเผงไม่ไหว ก็อย่าทำดีกว่า ถ้าอย่างนั้น ต้องหาอะไรที่เป็นความสุขที่กินได้บ้าง

และแล้วเปิดไปเจอข้อมูลรายงานในวารสารโรคอัลไซเมอร์ (Journal of Alzheimer’s Disease) ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2563 จั่วหัวข้อไว้อย่างดิบดี ว่าทั้งไวน์แดง และเนยแข็ง ที่เรียกว่าชีส ช่วยลดการถดถอยของการทำงานของสมองที่เกิดขึ้นทั้งตามอายุและในโรคได้ ว่าแล้วยังไม่ทันอ่านไส้ในของวารสารก็รีบวิ่งไปเปิดขวดไวน์ แถมมีชีส เก็บไว้ด้วย จากนั้นรินแก้วแรกแกล้มชีส แล้ววิ่งมาอ่านต่อ

รายงานที่ว่านี้เชื่อถือได้ (เชื่อไปแล้ว) มาจากคณะทำงานนักวิทยาศาสตร์ที่รัฐไอโอวา ของสหรัฐจากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางอาหารและโภชนาการของมนุษย์ โดยเป็นการติดตาม กลุ่มคนจำนวน 1,787 ราย ทำการติดตาม 10 ปี ตั้งแต่อายุ 46 จนกระทั่งถึงเมื่อเสร็จสิ้นการศึกษาและวิเคราะห์ที่อายุ 77 ปี

ทั้งนี้กลุ่มคนทั้งหมดนี้อยู่ในฐานข้อมูล UK Biobank data ที่รวบรวมข้อมูลของคนประมาณครึ่งล้านคน จากศูนย์การวิจัย 22 แห่งในประเทศอังกฤษที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2006

ในระยะแรกของการเก็บข้อมูลระหว่างปี 2006 ถึง 2010 ข้อมูลทางด้านพันธุกรรม ทางด้านความสมบูรณ์หรือความบกพร่องทางสมองและปัญญารวมกระทั่งถึง วิถีการใช้ชีวิตและชนิดและประเภทของอาหารการกินต่าง ๆ ร่วมกับประมวล ข้อมูลจากการตรวจร่างกาย การตรวจเลือดและปัสสวะ และยังสาวโยงถึงประวัติการเจ็บป่วยไข้ของคนในครอบครัวทั้งหมดด้วย

หลังจากการเก็บรวบรวมข้อมูลในช่วงแรกที่เรียกโดยสังเขปว่า Fluid Intelligence test (FIT) การเก็บข้อมูลจะทำต่อในอีกสองช่วงระยะได้แก่ในปี 2012 ถึง 2013 และช่วงปี 2015 ถึง 2016

"หมอธีระวัฒน์" เปิดงานวิจัย ชี้ ดื่มไวน์แดง-ชีส ช่วยลดสมองเสื่อมได้

ข้อมูลที่เก็บในเรื่องของชนิดของอาหารและประเภทยังรวมถึง ชนิดและปริมาณของแอลกอฮอล์ที่บริโภคและอาหารทั้งผักผลไม้สดหรือแห้ง สลัดหรือผักที่ปรุงสุก ปลาชนิดไขมันเยอะหรือไม่ และชนิดของเนื้อที่มีการปรุงปรับรสหรือให้เก็บไว้ได้นาน ไก่ เนื้อวัว แกะ หมู ขนมปัง ซีเรียล เนยแข็ง ชา กาแฟ เบียร์ ไวน์ขาวหรือไวน์แดงหรือแชมเปญ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดอื่น ๆ บุหรี่เป็นตัน

และนำมาประกบกับข้อมูลทางด้านพันธุกรรมสมองเสื่อม allele variation on rs429358 and rs7412 APOE ยังได้ทำการแยกแยะว่ามีชนิดใดบ้าง ของ ยีนสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ epsilon 4 allele (e2/e4, 3/4 และชนิด 4/4) หรือ ไม่มีเลย (2/2, 2/3, 3/3)

ผลที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่ตามเก็บมาทั้งสามระยะ พบว่าตัวร้ายที่กระทบต่อสมองและสุขภาพ ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีประวัติครอบครัวของสมองเสื่อม หรือมี ไม่มีพันธุกรรมของสมองเสื่อมก็ตาม คือเกลือ ทั้งนี้เราต้องไม่ลืมว่าเกลืออาจจะออกมาในรูปของความเค็ม หรือ ในรูปของสารปรุงรสต่าง ๆ

ส่วนของอาหารที่จัดว่าได้ประโยชน์สำหรับสมองได้แก่การกินเนื้อแกะ โดยที่ปริมาณและความถี่ที่ไม่ได้บ่อย ประมาณสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง ทั้งนี้คณะผู้วิจัยได้ตั้งข้อสังเกตว่าเนื้อแกะน่าจะมีปริมาณของ กรดไขมันชนิดเดียวกับที่มีในน้ำมันมะกอก คือ oleic acid เป็นจำนวนมากและนอกจากนั้นยังมีสาร taurine carnosine coenzyme Q10 และ creatine

ในส่วนของการดื่มแอลกอฮอล์นั้น แม้ว่าคำแนะนำทั่วไปของรัฐบาลจะผ่อนผันหรือยินยอมให้ดื่มได้วันละหนึ่งถึงสองแก้วโดยใช้แก้วมาตรฐานของเครื่องดื่มแต่ละชนิดได้ ก็ไม่ชัดเจนว่าดื่มอะไรจะเป็นที่มีประโยชน์สำหรับสมองมากกว่ากัน

คำแนะนำของประเทศสหรัฐอเมริกาเรื่องอาหารและเครื่องดื่มในปี 2020 กดลด การดื่มแอลกอฮอล์ลงไป ให้ไม่มากกว่าหนึ่งแก้วต่อวัน โดยเล็งเห็นโอกาสที่มีความสูงเสี่ยงในการติดเหล้าและในขณะเดียวกันไม่ส่งเสริมให้มีการดื่มหนักสัปดาห์ละหนึ่งหรือสองวันซึ่งจะเป็นผลร้ายมากกว่า

การศึกษานี้พบว่าการดื่มทุกวันจะมีประโยชน์ต่อสมองมากกว่าการไม่ดื่มเลยหรือดื่มสัปดาห์ละหนึ่งครั้งหรือเดือนละครั้ง และยังพบว่าการดื่มไวน์แดงจะได้ประโยชน์มากที่สุด

ในตัวอย่างคนที่ติดตามเหล่านี้ มีที่ดื่มไวน์ถึงวันละหนึ่งขวดต่อวันด้วยซ้ำ โดยทำการขจัด ตัวแปรอื่น ๆ ที่ส่งผลในการวิเคราะห์ข้อสรุปต่าง ๆ แต่แน่นอนไม่ได้หมายความว่าส่งเสริมให้มีการดื่มในปริมาณมากขนาดนั้น

ผลของรายงานฉบับนี้ น่าจะเสริมเติมเต็มได้หลายประการ อย่างแรกกำปั้นทุบดินก็คือ “ความสุข” ที่ไม่มากจนเกินเลยไปและอาจจะทำให้ปฏิสัมพันธ์ในระหว่างคนในครอบครัวหรือเพื่อนนุ่มนวลขึ้น และอย่างที่สองคือชนิดของแอลกอฮอล์น่าจะนำมาพิจารณาด้วยรวมกระทั่งถึงว่า จะดื่มนาน ๆ ครั้ง หรือทุกวัน ซึ่งทุกวันน่าจะดีกว่า

ในขณะเดียวกัน เป็นที่ต้องรับทราบว่าการควบรวมด้วยอาหารที่ถ้าทำได้ ลดเนื้อสัตว์ เนื้อแดง เนื้อที่ผ่านกระบวนการต่าง ๆ และในประการสุดท้ายคือขนาดและปริมาณของเกลือต้องลดถอยลงเท่าที่จะทำได้ ร่วมกับการกินชีส บ่อย ๆ แกล้มไวน์แดง และมากผักผลไม้กากไย

แน่นอนครับ เราคนไทย วิธีการกิน อาจจะเข้ากันไม่ได้กับรายงานนี้ แต่เป็นเครื่องแสดงว่า ในการศึกษาวิจัยในประเทศไทยสำหรับคนไทยต่อจากนี้ เราคงต้องให้ความสนใจกับอาหารแบบไทย ๆ สมุนไพร และจะมีข้าวหมัก หรืออื่น ๆ ที่ปู่ ย่า ตา ทวด บริโภค หรืออะไรทำนองนี้อีก ในอนาคตอันใกล้อาหารไทยน่าจะกลายเป็นอาหารสุขภาพโลกที่ดีต่อทั้งร่างกายและสมองได้ด้วยซ้ำ