- 28 ม.ค. 2568
ฉลุย ร่าง "พ.ร.ก.ไซเบอร์"ฉบับใหม่ จัดการแก๊งคอลเซนเตอร์ ป้องกันภัยออนไลน์ เพิ่มโทษเจ้าของแอปฯ ธนาคารและเครือข่ายมือถือ มีส่วนรับผิดชอบความเสียหาย
ไฟเขียว ร่าง พ.ร.ก.ไซเบอร์ ล่าสุด 28 ม.ค.68 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติร่าง พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เห็นชอบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี เสนอแก้ไขพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยมีเหตุผลความเร่งด่วนตามการชี้แจงในที่ประชุม ครม.
โดยทาง นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ฉบับที่ .. พ.ศ. .... หรือ พ.ร.ก.ไซเบอร์ เป็นที่เรียบร้อย ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เสนอแก้ไขพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
ที่ผ่านมารัฐบาลพบว่าประชาชนยังได้รับความเสียหายเฉลี่ยต่อวัน 60 - 70 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนในการดำเนินการแก้ปัญหานี้ โดย พ.ร.ก. ฉบับเดิม พ.ศ. 2566 ยังขาดอำนาจหน้าที่และการกำหนดโทษ หลาย ๆ ประเด็นโดยเฉพาะอำนาจการดำเนินการกับบัญชีม้าบนแพลตฟอร์ม P2P, อำนาจการคืนเงินให้กับประชาชน, และการรับผิดร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด
- 6 มาตรการสำคัญ พ.ร.ก.ไซเบอร์ ฉบับใหม่
เพื่อป้องกันภัยออนไลน์ เพิ่มโทษเจ้าของแอปฯ,ธนาคารและเครือข่ายมือถือ ร่วมชดใช้เหยื่อคอลเซ็นเตอร์
- เพิ่มอำนาจการดำเนินการกับแพลตฟอร์ม P2P ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด
- เพิ่มหน้าที่ให้ telco provider ต้องระงับซิมที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด
- เพิ่มหน้าที่การส่งข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีม้าของธนาคารต่าง ๆ ไปยัง ปปง. เพื่อตรวจสอบและคืนเงินให้กับผู้เสียหายได้รวดเร็วมากขึ้น
- เพิ่มบทลงโทษแพลตฟอร์ม P2P รวมถึงธนาคารที่ไม่ปฏิเสธการเปิดบัญชีของคนร้าย
- เพิ่มบทลงโทษผู้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
- เพิ่มบทลงโทษให้สถาบันทางการเงิน เครือข่ายมือถือ สื่อสังคมออนไลน์ มีส่วนรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น
โดยเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก. ฉบับเดิม พ.ศ. 2566 คาดมีผลบังคับใช้ในเดือน ก.พ.68 นี้ ระยะเวลาดำเนินการไม่เกิน 30 วัน หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา