- 11 ก.พ. 2568
เบื้องลึก DSI จ่อออกหมายจับ "หม่อง ชิตตู" ขอศาลอาญารัชดาภิเษกออกหมายจับ 3 นายพลกองกำลัง BGF โยงขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ บังคับเหยื่ออินเดีย 7 ราย ค้ามนุษย์ พร้อมขยายผลตรวจสอบเส้นทางการเงิน พิจารณากรณีการฟอกเงินและยึดทรัพย์สิน
จากกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ภายใต้การอำนวยการของ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มอบหมายให้ ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.ต.สิริวิชญ์ เกษมทรัพย์ ผอ.กองคดีการค้ามนุษย์ ดำเนินการสืบสวนสอบสวน ขยายผลขบวนการการค้ามนุษย์ ในคดีพิเศษที่ 304/2565 กรณีดีเอสไอได้ให้ความช่วยเหลือชาวอินเดีย 7 ราย ตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซนเตอร์ ถูกบังคับค้ามนุษย์ ภายในพื้นที่ จ.เมียวดี ประเทศเมียนมา
ซึ่งมีการใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านในการกระทำความผิดอาชญากรรมข้ามชาติ และมีคนไทยร่วมเกี่ยวข้อง เป็นความผิดที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร กระทั่งเจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้เข้าหารือกับพนักงานอัยการ กองคดีค้ามนุษย์ 1 ชั้น 3 สำนักงานคดีค้ามนุษย์ สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ เพื่อพิจารณาพยานหลักฐาน พยานเอกสาร เตรียมดำเนินคดีขอศาลออกหมายจับกลุ่มผู้ต้องหาเบื้องต้น 3 ราย ประกอบด้วย
- 1.พันเอก ซอชิตตู่ (Colonel Saw Chit Thu) หรือ พันเอก หม่องชิตตู
- 2.พันโท โมเต โธน (Lieutenant Colonel Mote Thone)
- 3.พันตรี ทิน วิน Tin Win (Major Tin Win)
ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 68 พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า คดีพิเศษดังกล่าวเป็นคดีนอกราชอาณาจักร จึงเป็นเหตุผลให้ดีเอสไอต้องหารือกับพนักงานอัยการตามขั้นตอน ส่วนการออกหมายจับ “3 นายพลกองกำลัง BGF” จะทำได้อย่างไร หากเจ้าตัวอยู่ประเทศเมียนมานั้น
ตนขอเรียนว่า กรณีของพันเอก ซอชิตตู่ (Colonel Saw Chit Thu) หรือพันเอก หม่องชิตตู จะเรียกว่าเป็นการกดดันก็ได้ เพราะในรายงานการสืบสวนสอบสวน พันเอกหม่องชิตตูมีพฤติกรรมมักเดินทางเข้า-ออก ระหว่างไทยและเมียนมา และพันเอกหม่องชิตตู ได้เดินทางเข้ามายังประเทศไทยเพื่อรับการรักษาพยาบาล ดังนั้น การที่ถูกออกหมายจับจะทำให้บุคคลไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้
อีกทั้งหมายจับจะมีผลให้เกิดการปัดกวาด ไม่ให้มีการสนับสนุนเรื่องแก๊งคอลเซนเตอร์อีกต่อไป ซึ่งเราหวังผลส่วนนี้ ทั้งนี้ หากพันเอกหม่องชิตตูเดินทางมาที่ประเทศไทยเมื่อใดก็จะถูกจับกุมตามหมายจับทันที
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เผยอีกว่า ส่วนกระบวนการขอศาลออกหมายจับ 3 นายพลกองกำลัง BGF ได้แก่ พันเอก ซอชิตตู่ (Colonel Saw Chit Thu) หรือพันเอก หม่องชิตตู , พันโท โมเต โธน (Lieutenant Colonel Mote Thone) และ พันตรี ทิน วิน Tin Win (Major Tin Win) ทางดีเอสไอจะต้องรวบรวมพยานหลักฐานขอศาลอาญารัชดาภิเษกพิจารณาออกหมายจับให้ ส่วนถ้ากลุ่มผู้ต้องหายังคงอยู่ประเทศเมียนมา
จะได้มีการหารือเรื่องวิธีการจับกุมอีกครั้ง แต่เราเน้นให้มีการออกหมายจับโดยศาลอาญาไว้ก่อน เพื่อให้มีผลกดดันกลุ่มคนที่ให้พื้นที่เครือข่ายแก๊งคอลเซนเตอร์ ทั้งนี้ ดีเอสไอจะได้มีการขยายผลไปในเรื่องเส้นทางการเงินของกลุ่มขบวนการดังกล่าว เพื่อดูองค์ประกอบความผิดในส่วนของการฟอกเงิน นำไปสู่การยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหา เพราะถือว่ามีความเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์โดยตรง
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 11 ก.พ.68 ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย พ.ต.ต.สิริวิชญ์ เกษมทรัพย์ ผอ.กองคดีการค้ามนุษย์ และเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้เดินทางมาถึงสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อเตรียมเข้าพบและหารือกับพนักงานอัยการ กองคดีค้ามนุษย์ 1 ชั้น 3 สำนักงานคดีค้ามนุษย์ สำนักงานอัยการสูงสุด เกี่ยวกับรายละเอียดในคดีการสอบสวนเรื่องการค้ามนุษย์ของขบวนการกลุ่มผู้ต้องหา 3 นายพลกองกำลัง BGF และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง
เพื่อพิจารณาขอศาลทำการออกหมายจับในความผิด สนับสนุนการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ มาตรา 7(2) อุปการะโดยให้ทรัพย์สิน จัดหาที่ประชุมหรือที่พำนักให้แก่ผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ โดย ร.ต.อ.สุรวุฒิ ยังไม่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่มาปักหลักรอแต่อย่างใด โดยระบุสั้น ๆ เพียงว่าจะขอลงมาให้สัมภาษณ์ทีเดียวหลังการหารือกับพนักงานอัยการเสร็จสิ้น