- 10 มี.ค. 2568
"เงินหมื่นเฟส 3" แจกเงินดิจิทัล 10,000 กลุ่มอายุ 16-20 ปี ผู้ปกครองเฮ ใช้จ่ายค่าเทอม ค่าน้ำ ค่าไฟ ช่วยแบ่งเบาภาระได้
คืบหน้าล่าสุด แจกเงินดิจิทัล 10,000 เฟส3 ล่าสุดวันที่ 10 มีนาคม 2568 รัฐบาลเคาะแล้ว แจกเงินหมื่นเฟส3 กลุ่มอายุ 16-20 ปี จำนวน 2.7 ล้านคน โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2568 ซึ่งมี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งรัฐบาลเลือกกลุ่มอายุ 16-20 ปีเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับเงินดิจิทัล เนื่องจากอยู่ในช่วงวัยเรียน สามารถนำไปใช้จ่ายในสิ่งจำเป็นด้านการศึกษา ช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองได้ สำหรับกลุ่มอายุ 20-60 ปี รัฐบาลจะพิจารณาแนวทางดำเนินการต่อไป
โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เฟส 1 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ มีรายละเอียดเบื้องต้นดังนี้
- กลุ่มเป้าหมาย: ประชาชนอายุ 16-20 ปี จำนวน 2.7 ล้านคน
- พื้นที่ใช้จ่าย: ภายในเขต/อำเภอตามที่อยู่ในบัตรประชาชน
- ขอบเขตการใช้จ่าย: ไม่จำกัดประเภทสินค้า สามารถใช้จ่ายค่าเทอม ค่าน้ำ และค่าไฟฟ้าได้
- กำหนดเริ่มใช้จ่าย: ปลายไตรมาส 2 หรือต้นไตรมาส 3 ปีนี้
ขณะที่ นายเผ่าภูมิธรรม โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยเพิ่มเติมว่า หน่วยงานที่รับลงทะเบียนสำหรับผู้ไม่มีสมาร์ทโฟน ได้แก่ ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ได้แก่
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
- ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)
- ธนาคารออมสิน
- ธนาคารอิสลาม
รวมถึง ไปรษณีย์ไทย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งจะจัดเจ้าหน้าที่รับลงทะเบียนให้กับประชาชนกลุ่มนี้
สำหรับผู้ที่มีสมาร์ทโฟน จะไม่สามารถลงทะเบียนในกลุ่มดังกล่าวได้ เนื่องจากรัฐบาลจะตรวจสอบข้อมูลจากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ หากพบว่ามีการใช้งานอินเทอร์เน็ตเกิน 500 MB จะถือว่าเป็นผู้มีสมาร์ทโฟน
- ยืนยัน รัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอ โดยยังมีเงิน 150,000 ล้านบาทที่จัดสรรไว้สำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมระบุว่าการเลือกกลุ่มอายุ 16-20 ปี เป็นกลุ่มแรก มีความเหมาะสม เนื่องจากเป็นวัยที่มีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยี ซึ่งจำเป็นต่อการใช้จ่ายผ่านระบบดิจิทัล
ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงเพิ่มเติมถึงการตัดรายการสินค้าต้องห้าม (Negative List) ออก เพื่อให้ประชาชนใช้จ่ายได้สะดวกขึ้น โดยรัฐบาลจะควบคุมในส่วนของร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการแทน เช่น ไม่อนุญาตให้ร้านขายทองหรือร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าร่วม นอกจากนี้ ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนเสียภาษีก็สามารถเข้าร่วมและเบิกจ่ายเงินสดได้