- 09 พ.ย. 2560
ติดตามเรื่องราวดีๆอีกมากมายได้ที่ https://www.facebook.com/partiharn99/
จอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ นายกองใหญ่ แปลก พิบูลสงคราม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "จอมพล ป.พิบูลสงคราม" เป็นนายกรัฐมนตรีไทยที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุด คือ 14 ปี 11 เดือน 18 วัน รวม 8 สมัย และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีนโยบายที่สำคัญคือ การมุ่งมั่นพัฒนาประเทศไทย ให้มีความเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมนานาอารยประเทศ มีการปลุกระดมให้คนไทยรู้สึกรักชาติ โดยออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วย "รัฐนิยม" หลายอย่าง ซึ่งบางอย่างได้ประกาศเป็นกฎหมายในภายหลัง หลายอย่างกลายเป็นวัฒนธรรมของชาติ เช่น การรำวง, ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย เป็นผู้เปลี่ยนชื่อ "ประเทศสยาม" เป็น "ประเทศไทย" และเป็นผู้เปลี่ยน "เพลงชาติไทย" มาเป็นเพลงที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 เป็นวันที่พันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถูกลอบสังหารอีกเป็นครั้งที่ 2 โดยการใช้ปืนยิง ขณะนั้นนายพันเอก พระยาพหลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี และวันที่ถูกยิงก็เป็นช่วงเวลาหลังการยุบสภาและก่อนการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 หลวงพิบูลสงคราม ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งโดยตรง เพราะตัวท่านเองไม่ได้ลงเลือกตั้ง แต่ตัวท่านเองเป็นนักการเมืองที่มีอำนาจมากที่สุดโดยฐานสนับสนุนทางกองทัพ
เหตุการณ์ร้ายครั้งนี้เกิดขึ้นตอนค่ำของวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 ที่บ้านพักนายทหารของท่านเองในกรมทหารปืนใหญ่บางซื่อ ขณะที่นายพันเองหลวงพิบูลสงครามและภริยากำลังแต่งตัวจะไปงานเลี้ยงรับรองที่กระทรวงกลาโหม นายลี บุญตา เป็นคนสวนและคนขับรถในบ้านได้แอบเอาปืนพกของคุณหลวงพิบูลสงครามเองที่ท่านวางไว้ในรถออกมาลอบยิงท่าน บังเอิญท่านกำลังยืนแต่งตัวอยู่หน้ากระจกส่องหน้าจึงได้มองเห็นก่อนที่นายลี บุญตา จะลั่นไกกระสุนนัดแรก เมื่อนัดแรกพลาด ท่านจึงวิ่งหลบออกจากห้อง โดยนายลี บุญตา พยายามวิ่งไล่และยิงซ้ำอีก แต่กระสุนก็พลาดเป้า และทหารติดตามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายทหารคนสนิทของรัฐมนตรี คือ ร.อ.เผ่า ศรียานนท์ ได้วิ่งเข้าไปจับตัวมือปืนเอาไว้ได้
มือปืนรายนี้ถูกจับดำเนินคดีโยงเข้ากับกลุ่มกบฏพระยาทรงสุรเดช แต่จากคำให้การของ นายลี บุญตา นั้นดูจะเป็นเรื่องแปลก นายลี บอกว่า
“ได้อยู่กับหลวงพิบูลมา 7 ปีแล้ว ได้เงินเดือนครั้งแรก 6 บาทและขึ้นมาเป็นลำดับจนถึงวันเกิดเหตุได้เดือนละ 25 บาท หลวงพิบูลเป็นคนใจคอดี ไม่เคยดุด่าว่าจำเลยแต่อย่างใดเลย วันเกิดเหตุได้ยิงหลวงพิบูลสงคราม 2 นัดจริง นัดแรกยิงเมื่อหลวงพิบูลสงครามได้วิ่งเข้าไปอยู่อีกห้องหนึ่งแล้วปิดประตู จำเลยได้ผลักประตูตามเข้าไปยิงอีก คนที่อยู่ในห้องนั้นตลอดจนหญิงและเด็ก ต่างร้องเสียงเกรียวกราว แล้วจึงมีนายร้อยตรี ผล มาตวัดคอ แย่งปืนไป การที่ยิงนั้นเพราะเมาและไม่ได้ตั้งใจจะยิ่ง”
นายลี บุญตา อ้างว่า “เมา” และ “ไม่ได้ตั้งใจจะยิ่ง” นี่ขนาดไม่ได้ตั้งใจยังยิงออกไปถึง 2 นัดด้วยกัน หากแต่ไม่ถูกเป้าเลย ที่ว่าเมาก็น่าสงสัย เมาจะไปหยิบปืนของนายพันเอกหลวงพิบูลสงครามมาได้อย่างไรเหมือนรู้ และถ้าไปดูคำให้การของนายทหารติดตามรัฐมนตรีที่แย่งปืนมาได้ก็ให้การว่า นายลี บุญตา วิ่งไล่ยิงเจ้านายของตัว จนวิ่งหนีแทบไม่ทัน
ระหว่างที่ศาลพิเศษกำลังพิจารณาคดี ทางราชการได้มีคำสั่งห้ามหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ลงรายงานข่าวนี้อย่างเด็ดขาด จนประชาชนเกือบจะลืมเรื่องราวจนหมดสิ้นแล้ว ดังนั้นเมื่อผลการพิพากษาออกมาในเดือนพ.ย.2482 จึงสร้างความตื่นเต้นสลดใจแก่ประชาชนเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมีการลงโทษ “ประหารชีวิต” นักโทษในคดีนี้ถึง 18 คนด้วยกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงทั้งสิ้น
เมื่อได้ทำการประหารชีวิตนักโทษ 18 ท่านไปแล้ว “กรมโฆษณาการ” จึงได้ออกแถลงการณ์ดังนี้
“ตามที่ศาลพิเศษได้ตัดสินประหารชีวิตนักโทษในคดีกบฏรวม 18 คนไปแล้ว และพวกนักโทษทั้ง 18 คนได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกานั้น นับแต่วันที่ได้มีการยกฎีกาเมื่อวันที่ 30 พ.ย. ทางการได้นำตัวนักโทษดังกล่าว แล้วไปดำเนินการประหารชีวิตเป็นลำดับมา การประหารได้เสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่วันที่ 3 เดือนนี้เวลา 6.00 น.”
อ้างอิงข้อมูลจาก - wiki.kpi.ac.th , ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร