ติดตามเรื่องราวดีๆอีกมากมาย ได้ที่ http://www.tnews.co.th

วันนี้วันที่ ๑๕ มกราคมเป็นวันคล้ายวันมรณภาพของพระครูเขมสารสุธี หรือ หลวงปู่สาย เขมธัมโม “พระอริยสงฆ์ผู้มีธรรมอันเกษม” แห่งวัดป่าพรหมวิหาร บ้านภูศรีทอง ต.โนนเมือง อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู ครบรอบ ๓ ปี หลวงปู่สาย แม้ท่านจะบวชเมื่อวัยชราแล้ว แต่เมื่อเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ท่านได้มุ่งประพฤติ ปฏิบัติธรรมตามปฏิปทาของพ่อแม่ครูบาอาจารย์สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตพาดำเนินมาโดยตลอด ครูบาอาจารย์องค์สำคัญที่ให้คำแนะนำในการประพฤติปฏิบัติ คือ พระธรรมวิสุทธิมงคล หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน แห่งวัดป่าบ้านตาด ซึ่งหลวงปู่ได้ให้ความเคารพองค์ท่านมาก

“..พระธรรมไม่อยู่ไกล ถ้าแก้ไขตัณหากิเลสเสร็จแล้ว ธรรมดวงแก้วอยู่ที่นั้น ท่านเข้าใจไหม รีบแก้รีบไข ถ้าอยากเห็นธรรมะ..” โอวาทธรรมคำสอนหลวงปู่สาย เขมธัมโม “พระอริยสงฆ์ผู้มีธรรมอันเกษม”

หลวงปู่สาย เขมธมฺโม นามเดิม สาย แสงมฤค เกิดเมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๔๖๕ ตรงกับวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๙ ปีจอ ณ บ้านดอนกลาง ต.กุดน้ำใส อ.พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด บิดาชื่อ นายทอก แสงมฤค มารดาชื่อ นางเคน แสงมฤค หลวงปู่สายมีพี่น้อง ๗ คน หลวงปูสาย เขมธัมโม ท่านเป็นบุตรคนที่ ๕ และมีน้องชายคนสุดท้องบวชเป็นพระอีกรูปหนึ่ง คือ หลวงปู่วิชัย โกสโล

การศึกษา

หลวงปู่เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ จากโรงเรียนวัดบ้านนาชมซึ่งเป็นโรงเรียนที่อยู่ใกล้บ้านของหลวงปู่ ในช่วงเป็นหนุ่มอายุประมาณ ๑๘ ปี หลวงปู่มีโอกาสได้เรียนธรรมบาลีไวยากรณ์ - เรียนปาฏิโมกข์ควบคู่ไปกับการเรียนหมอลำกลอน ที่ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม โดยมีท่านอาจารย์มหานาม เป็นผู้สอน ในสมัยนั้นฆราวาสก็สามารถเรียนธรรมบาลี เรียนปาฏิโมกข์ได้ หลวงปู่ท่านเป็นผู้ที่มีความจำดีมากทำให้ท่านท่องปาฏิโมกข์จนจบได้ทั้ง ๆ ที่เป็นฆราวาสอยู่ นอกจากนั้นยังสามารถท่องกลอนลำกลอนต่าง ๆ ได้เป็นจำนวนมาก จนได้ชื่อว่าเป็นหมอลำกลอนคนหนึ่ง รู้จักกันในนาม "หมอลำสายทอง" และท่านยังมีพื้นฐานเกี่ยวกับธรรมบาลีไวยากรณ์ประดับอีกด้วย

๑๕ มกราคม ๒๕๖๑ คล้ายวันละสังขาร ปีที่ ๓  " หลวงปู่สาย เขมธัมโม "พระอริยสงฆ์ผู้มีธรรมอันเกษม ผู้เป็นทายาทธรรมหลวงตามหาบัว..

เช่าพระคลิ๊กที่นี่
เช่าพระที่นี่

 

ชีวิตครอบครัว

หลวงปู่ได้ย้ายครอบครัวมาอยู่ที่บ้านชาติ (บ้านคูฟ้า) ซึ่งไม่ไกลจากบ้านเดิมมากนัก และได้สมรสกับ นางปาน ผายม มีบุตรด้วยกัน ๒ คนคือ

๑. นายมาย แสงมฤค (ปัจจุบันอุปสมบทเป็นพระภิกษุอยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่)

๒. นายสมหมาย แสงมฤค

ต่อมาหลวงปู่ได้ย้ายครอบครัวอีกครั้งหนึ่ง มาอยู่ที่ บ้านหนองหิน (บ้านดอนอีไข) อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยประกอบอาชีพทำนา และเลี้ยงสัตว์ เป็นอาชีพหลัก ส่วนความสามารถในการลำกลอนของท่านก็เป็นอาชีพเสริม ทำให้ครอบครัวมีรายได้อีกทางหนึ่ง

ชีวิตในเพศพรหมจรรย์

อุปสมบทครั้งที่ ๑

การบวชในครั้งแรกของหลวงปู่เป็นการบวชตามประเพณี พอมีอายุครบบวช คือ อายุครบ ๑๐ ปีบริบูรณ์ ก็ต้องบวชทดแทนบุญคุณ บิดา มารดา อันนี้เป็นหน้าที่ของลูกผู้ชายที่พึงกระทำหลวงปู่ ท่านก็ได้ทำหน้าที่ดังกล่าว ในครั้งนั้นท่านบวช ณ พัทธสีมาวัดบ้านนาชม ซึ่งเป็นวัดใกล้บ้านท่าย โดยมีหลวงปู่สี เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระอาจารย์จูม เป็นพระกรรมวาจารย์ สังกัดฝ่ายมหานิกาย ซึ่งส่วนมากจะเน้นทางด้านปริยัติเป็นหลัก การบวชในครั้งนั้นแม้ท่านจะบวชตามประเพณี แต่ท่านก็มีความวิริยะอุตสาหะในการศึกษาเล่าเรียนเป็นอันมาก จนสามารถสอบนักธรรมชั้นตรีได้ พอบวชครบ ๑ พรรษาท่านก็ลาสิกขาออกมาใช้ชีวิตฆราวาสตามเดิม

อุปสมบทครั้งที่ ๒

สาเหตุที่หลวงปู่ออกบวชครั้งที่ ๒ เพราะหลวงปู่ป่วยเป็นโรคปวดหัวโดยไม่รู้สาเหตุ พยายามรักษาอยู่หลายวิธีแต่ก็ไม่หาย หลวงปู่ลองบนดู โดยบนไว้ว่าถ้าหายป่วยแล้วจะบวชแก้บน ต่อมาอาการป่วยของหลวงปู่ก็หายจริง ๆ จึงทำให้หลวงปู่ต้องตัดสินใจบวช โดยบวชในฝ่ายธรรมยุต ณ พัทธสีมาวัดโยธานิมิต ซึ่งมีหลวงปู่อ่อนตา เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ด้วงเป็นพระกรรมวาจาจารย์ บวชแล้วมาอยู่จำพรรษาที่วัดดอนอีไข แม้หลวงปู่จะบวชเพื่อแก้บนแต่หลวงปู่ ก็หมั่นปฏิบัติภาวนาเป็นประจำมิได้ขาดยังธรรมปีติให้เกิดมีแก่องค์หลวงปู่ การบวชในครั้งนี้ของหลวงปู่บวชอยู่นานถึง ๖ พรรษา และยังได้ริเริ่มสร้างว่าหนองหัวหมูขึ้น จากนั้นจึงได้ลาสิกขา จริง ๆ แล้วหลวงปู่ไม่คิดอยากจะสึกแต่เพราะกลัวจะผิดสัญญาที่ให้ไว้กับครอบครัว จึงทำให้ท่านตัดสินใจสึก

๑๕ มกราคม ๒๕๖๑ คล้ายวันละสังขาร ปีที่ ๓  " หลวงปู่สาย เขมธัมโม "พระอริยสงฆ์ผู้มีธรรมอันเกษม ผู้เป็นทายาทธรรมหลวงตามหาบัว..

อุปสมบทครั้งที่ ๓

หลังจากที่หลวงปู่ไดลาสิกขา ท่านก็กลับมาอยู่กับครอบครัวโดยประกอบอาชีพทำนาและเลี้ยงสัตว์ตามเดิม วันหนึ่งท่านได้บรรทุกปลาใส่รถสามล้อถีบเพื่อจะนำไปขาย และขณะเดินทางรถสามล้อเกิดเสียหลักลงข้างทาง ในตอนนั้นมีกลุ่มผู้หญิงกำลังเดินทางกลับจากทำบุญที่วัดมาพบเข้า พวกเขามองดูปลาในรถสามล้อแล้วคนหนึ่งก็พูดขึ้นว่า "ปลาพวกนี้เป็นปลามีบุญนะ ฉันไม่กล้าซื้อหรอกกลัวบาป" พอหลวงปู่ได้ยินแม้หลวงปู่จะแปลกใจในคำพูดนั้น แต่ก็ทำให้หลวงปู่เกิดความสลดสังเวช คิดตำหนิตนเอง เกิดเป็นผู้ชายแท้ ๆ บวชก็เคยบวชมาแล้วยังไม่รู้จักบาปบุญ ยังมาค้าขายชีวิตสัตว์อื่นเขาอีก ต่อมาหลวงปู่ท่านก็เลิกเลี้ยงปลาขาย ประกอบอาชีพทำนาอย่างเดียว การใช้ชีวิตในทางฝ่ายโลกนั้นย่อมประกอบกับปัญหาและทุกข์นานาประการเมื่อเทียบกับรสแห่งธรรมที่ท่านเคยได้สัมผัสเมื่อครั้งอยู่ในผ้าเหลืองมันต่างกันมาก

ยิ่งนานวันนั้นความจริงอันนี้ยังเด่นชัด ทำให้หลวงปู่อยู่ครองเพศฆราวาสต่อไปไม่ไหว จึงตัดสินใจขออนุญาตภรรยาและลูก ๆ ออกบวชอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งครอบครัวก็ไม่มีใครขัดข้อง ต่างก็อนุโมทนากับหลวงปู่ จึงทำให้หลวงปู่ได้บวชอีกครั้ง

หลวงปู่ได้อุปสมบทครั้งที่ ๓ ในฝ่ายธรรมยุต ณ วัดบุญญานุสรณ์ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๒๑ เมื่ออายุได้ ๕๖ ปี โดยมี พระครูประสิทธิ์คณานุการ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสุวัณโณปมคุณ (หลวงปู่คำพอง ติสโส) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูโสภณคณานุรักษ์ หลวงปู่ทองใบ) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ท่านได้ฉายาว่า "เขมธมฺโม" แปลว่า ผู้มีธรรมอันเกษม

การปฏิบัติธรรมของหลวงปู่เป็นการปฏิบัติโดบเพียงลำพัง ถ้าท่านติดขัดในปัญหาธรรมต่าง ๆ ท่านมักจะเข้าไปกราบเรียนถามองค์หลวงตามหาบัว ซึ่งองค์ท่านก็เมตตาตอบปัญหาและแนะอุบายในการปฏิบัติภาวนาแก่องค์หลวงปู่เสมอ ๆ จนกระทั่งมีเทพมานิมนต์ท่านให้มาอยู่ที่ภูน้อย - ภูพนัง ท่านจึงรับนิมนต์และได้มาสร้างวัดป่าพรหมวิหารขึ้น ในปี พ.ศ.๒๕๒๓ ณ บ้านภูศรีทอง ตำบลโนนเมือง อำภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู วัดนี้จึงวัดที่ท่านอยู่จำพรรษาเรื่อยมา จนถึงกาลมรณภาพนี้ หลวงปู่สาย เขมธัมโม ท่านละสังขารตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๘ เวลา ๐๙.๔๒ น. ณ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น สิริอายุ ๙๒ ปี ๕ เดือน ๓ วัน พรรษา ๓๗

“..ให้ดูตน ให้ดูตัว ให้ดูหัว ให้ดูเท้า

ให้ดูเขา ให้ดูเรา ให้ดูบาป ให้ดูบุญ

ให้ดูคุณ ให้ดูโทษ ให้ดูโลก ให้ดูธรรม

สิ่งที่ควรทำหรือไม่ควรทำให้ดู ให้รู้

แล้วให้อยู่ในกรอบพระธรรม..”

โอวาทธรรมคำสอนหลวงปู่สาย เขมธัมโม “พระอริยสงฆ์ผู้มีธรรมอันเกษม”

๑๕ มกราคม ๒๕๖๑ คล้ายวันละสังขาร ปีที่ ๓  " หลวงปู่สาย เขมธัมโม "พระอริยสงฆ์ผู้มีธรรมอันเกษม ผู้เป็นทายาทธรรมหลวงตามหาบัว..

ขอขอบพระคุณท่านเจ้าของภาพ เจ้าของบทความ และที่มาเนื้อหาข้อมูลมา ณ ที่นี้

ท่องถิ่นธรรม พระกัมมัฏฐาน