จำคุก6ปีมือโพสต์เฟซบุ๊คหมิ่นเบื้องสูง

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ www.tnews.co.th

ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 6 ปี " ปิยะ จุลกิตติพันธ์ " คดีหมิ่นเบื้องสูง โพสต์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ที่มีข้อความหยาบคายบนเฟซบุ๊ก
         

วันนี้ (20 ม.ค.) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก  เมื่อเวลา 11.00 น.  ศาลอ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อ.747/2558 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายปิยะ จุลกิตติพันธ์  หรือ นายพงศธร บันทอน เป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ฯ  ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3) (5)
         

คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 58  บรรยายพฤติการณ์ระบุว่า เมื่อวันที่ 27 ก.ค. - 28 พ.ย. 56 เวลาใดไม่ปรากฏชัด  จำเลยได้โพสต์ข้อความ หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 2 ข้อความ บนพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จำนวน 2 ภาพ ในบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลย ที่ใช้ชื่อว่า นายพงศธร บันทอน (SIAMAID) โดยเจตนาทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ เหตุเกิดที่แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กทม. , ต.สำโรงกลาง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ , อ.เมือง จ.นครปฐม , อ.เมือง จ.น่าน และที่นอกราชอาณาจักร เกี่ยวพันกัน โดยจำเลย ให้การปฏิเสธต่อสู้คดี
         

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว เห็นว่า โจทก์ มีพนักงานสอบสวน และผู้ที่ตรวจสอบระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งได้รวบรวมพยานหลักฐานแจ้งความดำเนินคดี เบิกความว่า มีผู้โพสต์ข้อความที่อยู่บนพระบรมฉายาลักษณ์ด้วยถ้อยคำหยาบคาย แล้วนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ด้วยการนำลงเฟซบุ๊กในชื่อนายพงศธร บันทอน (SIAMAID) ซึ่งการกระทำนั้นมีเจตนาทำให้ประชาชนสามารถที่จะข้าถึงข้อมูลของการหมิ่นเบื้องสูง ซึ่งปรากฏว่ามีผู้แชร์จำนวนมาก ดังนั้น จึงฟังได้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3) (5)
         

ส่วนจำเลย เป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กในชื่อ นายพงศธร บันทอน (SIAMAID) หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีพนักงานสอบสวน เบิกความรับฟังได้ว่าหลังจากมีการตรวจสอบจำเลยเคยมีประวัติที่เจ้าหน้าตำรวจ สน.ดอนเมือง ดำเนินคดีกรณีได้สวมตนในบัตรประชาชนผู้อื่น เป็นการปกปิดที่อยู่จำเลย โดยจำเลยได้มาเปิดใช้เฟซบุ๊กชื่อ นายพงศธร บันทอน (SIAMAID)  จึงเชื่อว่าพฤติการณ์ของจำเลยได้พยายามปกปิดตนเองไม่ให้ตามตัวได้      

 

และยังฟังได้จากคำเบิกความจำเลยว่า จำเลยเคยเฟซบุ๊คระหว่างปี 2553 - 2554 ส่วนที่จำเลยอ้างว่าได้แจ้งให้กูเกิลลบข้อความแล้วนั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีพยานอื่นมานำสืบ และการแจ้งลบนั้นเป็นช่วงหลังเกิดเหตุ 1 ปี พยานหลักฐานของจำเลยจึงมีน้ำหนักน้อยไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้
         
จึงพิพากษาว่า จำเลยมีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3) (5) ซึ่งเป็นการกระทำผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษบทหนักสุดตามมาตรา 112 ให้จำคุก 9 ปี แต่คำให้การให้ชั้นสอบสวนและพิจารณาเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีอยู่บ้างจึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกเป็นเวลา 6 ปี


ด้านนายปิยะ จำเลย ซึ่งเจ้าหน้ากรมราชทัณฑ์เบิกตัวมาฟังคำพิพากษา  กล่าวว่า เรื่องการยื่นอุทธรณ์นั้นจะขอปรึกษาทนายความก่อน