ติดตามเรื่องราวดีๆ ได้ที่ www.tnews.co.th

ราหู หลวงพ่อน้อย วัดศีรษะทอง นครปฐม

ประวัติความเป็นมา

เครื่องรางพระราหูในเมืองไทยนั้นมีหลายสำนัก แต่ที่นิยมมีเพียง ๒สำนักเท่านั้น คือ ราหูสำนักวัดศีรษะทองของหลวงพ่อน้อย นาวารัตน์ แห่งอำเภอนครชัยศรี และราหูสายครูบานันตา วัดทุ่งม่านใต้ แห่งเขลางค์นคร จังหวัดลำปาง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ราหู หลวงพ่อน้อย วัดศีรษะทอง ยังครองใจนักสะสมภาคกลางอย่างไม่เสื่อมคลาย

ประวัติหลวงพ่อน้อย

หลวงพ่อน้อย เกิดที่ตำบลศีรษะทอง เมื่อวันที่ ๑๔กุมภาพันธ์ ๒๔๓๕ บิดาชื่อ "นายมา นาวารัตน์" มารดาชื่อ "นางมี นาวารัตน์" หลวงพ่อน้อยเป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวนบุตรทั้งหมด ๕คน บิดาของหลวงพ่อน้อยเป็นแพทย์แผนโบราณและยังเชี่ยวชาญวิชาไสยศาสตร์ จนชาวบ้านละแวกนั้นต่างพากันเรียกท่านว่า "พ่อหมอ" และมีเรื่องราวกล่าวขานว่าท่านเคยสู้กับนักเลงต่างถิ่น แต่ศาสตราวุธต่างๆ ก็ไม่อาจทำอันตรายท่านได้

สมัยหลวงพ่อน้อยยังเป็นฆราวาส ว่ากันว่าท่านเป็นคนขยันขันแข็ง ช่วยบิดามารดาทำงาน พอว่างจากงานก็ศึกษาอักขระเลขยันต์คาถาอาคม ตลอดจนตำรับยาจากบิดาจนเชี่ยวชาญ เมื่ออายุได้ ๒๑ปี ท่านจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ โดยมีพระอาจารย์ยิ้ว เจ้าอาวาสวัดแค เป็นพระอุปัชฌาย์ พระภิกษุมุน วัดกลางคูเวียง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า "คันธโชโต" ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดแคระยะหนึ่งจากนั้นจึงได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดศีรษะทอง ซึ่งขณะนั้น "หลวงพ่อลี" ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส และท่านได้มีโอกาสศึกษาวิชาต่างๆ เช่น วิชาสร้างวัวธนู และราหูอมจันทร์ ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัย หลวงพ่อไต เป็นเจ้าอาวาสวัดศีรษะทอง

การสร้างพระราหูหลวงพ่อน้อย

หลวงพ่อน้อยจะให้ลูกศิษย์หา กะลามะพร้าวตาเดียว (โดยปกติกะลามะพร้าวจะมีสองตา หนึ่งปาก) แล้วนำมาแกะเป็นรูปพระราหูอมพระอาทิตย์ และพระราหูอมจันทร์ ซึ่งวิธีการสร้างนั้นก็มีขั้นตอนที่ซับซ้อนยิ่ง คือนอกจากต้องใช้กะลาตาเดียวแล้ว ยังต้องลงในฤกษ์สุริยคราสและจันทรคราส แถมต้องจัดแต่งเครื่องบวงสรวงครูบาอาจารย์ และต้องชำระกายให้สะอาดอีกด้วย จากนั้นจึงค่อยลงยันต์ "สุริยประภา" และยันต์ "จันทรประภา" ฤกษ์ในการลงนั้น หากเป็นยันต์สุริยประภาต้องลงในเวลาเกิดสุริยคราส และยันต์จันทรประภาต้องลงเวลาเกิดจันทรคราสเท่านั้น ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก ปีหนึ่งๆ เกิดขึ้นเพียงครั้งหรือสองครั้ง และบางปีก็ไม่เกิดเลย ยิ่งสุริยคราสด้วยแล้วหลายปีจึงจะเกิดขึ้นสักครั้ง

ย้อนรอยตำนานพระราหูอันดับหนึ่งเมืองไทย.."หลวงพ่อน้อย วัดศีรษะทอง" สร้างด้วยกะลาตาเดียว ลงอักขระด้วยยันต์ สุริยประภา..จันทรประภา.

ย้อนรอยตำนานพระราหูอันดับหนึ่งเมืองไทย.."หลวงพ่อน้อย วัดศีรษะทอง" สร้างด้วยกะลาตาเดียว ลงอักขระด้วยยันต์ สุริยประภา..จันทรประภา.

ตำนานยันต์สุริยประภา และยันต์จันทรประภา

ผู้อ่านหลายคนคงมีความสงสัยว่ายันต์สุริยประภา, จันทรประภา คืออะไร ทำไมหลวงพ่อน้อยต้องลงยันต์นี้ ก็ขอย้อนไปในตำนานสักหน่อย เรื่องมีอยู่ว่า ในอดีตกาลมีพระฤาษีผู้ทรงฌาณสมาบัติ สถิตอยู่ที่เขายุคนธร ได้พิจารณาด้วยอำนาจทิพย์จักษุญาณแล้วเกิดปริวิตกว่า ในภายภาคหน้ามนุษย์ต้องเผชิญด้วยทุกข์เข็ญนานัปประการ พระฤาษีตนหนึ่งจึงได้สร้างพระยันต์วิเศษชื่อว่า "สุริยประภา" ส่วนฤาษีอีกตนก็ได้สร้างพระยันต์ "จันทรประภา" อันเป็นมหายันต์อันประเสริฐเพื่อเป็นที่พึ่งแก่เหล่ามนุษย์ ใครบูชาไว้จะบริบูรณ์พูนทรัพย์ ขจัดภยันตราย ใช้คู่กันเค้าว่าดีนักแล

วิธีพิจารณา ราหู หลวงพ่อน้อย

ราหูกะลาแกะหลวงพ่อน้อยนั้นมีหลายฝีมือ เพราะลูกศิษย์ของท่านทั้งเพศบรรพชิตและฆราวาสต่างมาช่วยกันแกะและลงคาถา แต่จะเว้นเฉพาะตรงกลางให้หลวงพ่อน้อยลงคาถาหัวใจ หลักการพิจารณาพระราหูของหลวงพ่อน้อย ให้พิจารณาที่ความเก่าของเนื้อกะลา หมายถึง ถ้าเป็นกะลาที่ไม่ได้ผ่านการใช้มาเลย ต้องมีความแห้งและเก่าแลดูเป็นธรรมชาติของเนื้อกะลา แต่ถ้าเป็นกะลาที่ผ่านการใช้งานมาเนื้อกะลาจะยุ่ยและเป็นขุย นอกจากนี้ยังต้องจดจำลายมือและการลงจารด้านหลังให้แม่น โดยเฉพาะลายมือตรงกลางซึ่งเป็นลายมือของหลวงพ่อ ถ้าไม่มีประสบการณ์และไม่ชำนาญในการดู มักจะเล่นผิด

ว่ากันว่าพุทธคุณของราหูหลวงพ่อน้อยนั้นมีมากหลากหลายนัก ทั้งในด้านเมตตามหานิยม เสริมลาภ เสริมบารมี และช่วยในเรื่องบรรเทาอาการเจ็บป่วยอีกด้วย ทั้งนี้ผู้บูชาจะต้องตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม และคุณพระรัตนตรัยจึงจะดี

คาถาสุริยะบัพภา การบูชากลางวัน

กุสเสโตมะมะ กุสเสโตโต ลาลามะมะ โตลาโม โทลาโมมะมะ โทลาโมมะมะ โทลาโมตัง เหกุติมะมะ เหกุติฯ

คาถาจันทรบัพภา การบูชากลางคืน

ยัดถะตังมะมะ ตังถะยะ ตะวะตัง มะมะตัง วะติตัง เสกามะมะ กาเสกัง กาติยังมะมะ ยะติกาฯ

ข้อมูล

สุดยอดเบญจเครื่องรางชนิดหนึ่งซึ่งไม่มีใครไม่รู้จัก นั่นก็คือ "ราหูอมจันทร์ หลวงพ่อน้อย" หลวงพ่อน้อยใช้กะลาตาเดียวมาแกะเป็นรูปราหูอมจันทร์เป็นทรงกลม, ทรงสามเหลี่ยม และทรงเสมา ช่วงแรก ๆ หลวงพ่อน้อยจะเป็นคนแกะเอง ต่อมาราหูอมจันทร์เริ่มโด่งดัง หลวงพ่อน้อยจึงให้ลูกศิษย์มาช่วยแกะ และหลวงพ่อน้อยเป็นคนจารอักขระเอง ลูกศิษย์สายตรงได้แก่ อาจารย์ปิ่น และอาจารย์สม และช่างชาวบ้านที่ช่วยแกะและแกะได้สวยงามมากได้แก่ ช่างสี ช่างสีบ้านอยู่หลังวัดศรีษะทอง ช่างสีแกะราหูอมจันทร์ตั้งแต่ยุคหลวงพ่อน้อย จนถึงยุคอาจารย์ปิ่น ตอนนี้วิชาการแกะก็ถ่ายทอดสู่ลูก ๆ หลานไป

หลักการพิจารณาราหูอมจันทร์หลวงพ่อน้อย วัดศีรษะทอง

วิธีการสร้างราหูอมจันทร์ ซึ่งแกะจากกะลาตาเดียว หลวงพ่อน้อยได้สืบทอดวิชามาจากหลวงพ่อไตร ซึ่งช่วงแรก ๆ นั้น การแกะราหูอมจันทร์เป็นแบบง่าย ๆ โดยรูปทรงจะไม่แน่นอน จะเป็นสามเหลี่ยมบ้าง วงกลมบ้าง แต่ทุกชิ้นที่แกะจะค่อนข้างใหญ่ ส่วนอักขระที่จารก็เป็นขอมลาวทั้งสิ้น ต่อมาถึงยุคหลวงพ่อน้อยก็เริ่มแกะเป็นทรงเสมา ซึ่งเป็นมาตรฐานเล่นหากันจนถึงปัจจุบัน

ย้อนรอยตำนานพระราหูอันดับหนึ่งเมืองไทย.."หลวงพ่อน้อย วัดศีรษะทอง" สร้างด้วยกะลาตาเดียว ลงอักขระด้วยยันต์ สุริยประภา..จันทรประภา.

หลักการพิจารณาแม่พิมพ์

แม่พิมพ์ซึ่งเกิดจากการแกะเราจึงควรเรียกว่า "ศิลปะแบบไหน" จะเข้าใจกว่า ราหูอมจันทร์แบ่งออกเป็น ๒แบบ คือ

๑. ศิลป์โบราณ มีทั้งทรงสามเหลี่ยม ทรงกลม ทรงรี คือรูปทรงไม่แน่นอน แต่อันค่อนข้างใหญ่ มีทั้งแบบราหูหน้ายักษ์แบบมีแต่หัว และแบบอมจันทร์ แต่การแกะจะไม่ค่อยสวย แกะแบบง่าย ๆ มีทั้งลงรักปิดทอง และแบบเปลือย อักขระจารตัวค่อนข้างใหญ่

๒. ศิลป์มาตรฐาน จะเป็นตั้งแต่ยุคหลวงพ่อน้อยลงมาถึงยุคอาจารย์ปิ่น ศิลป์แบบนี้จะเป็นมาตรฐาน ส่วนใหญ่จะเป็นทรงเสมาเป็นหลัก อักขระที่จารเป็นมาตรฐาน ควรเล่นแบบลายมือเป็นระเบียบขนาดตัวเล็กถึงขนาดกลาง ส่วนใหญ่จะจาร ๒สูตร คือ จันทรุปราคาและสุริยุปราคา

หลักการพิจารณาความเก่าเนื้อกะลา

ราหูอมจันทร์เมื่อพิจารณาศิลปะการแกะ, อักขระการจารแล้ว สุดท้ายต้องความเก่า ราหู อมจันทร์ที่ผ่านการใช้จะมีรอยเหี่ยวย่น ตามขอบกลมมนไม่มีคม ในร่องไม่ว่าจะด้านหน้า ซึ่งได้แก่ร่องที่แกะเป็นรูปยักษ์ หรือลายกนกต่าง ๆ หรือด้านหลังก็คือรอยจารอักขระต้องมีคราบความเก่า กรณีราหูอมจันทร์ถูกล้างให้สะอาด ต้องดูศิลป์และลายมือประกอบการตัดสินใจ ส่วนการเลี่ยมเก่า เช่น เลี่ยมเงิน เลี่ยมทอง เลี่ยมนาคเก่าก็มี ซึ่งบางตำราจะบอกว่าเป็นการเลี่ยมจากวัด แต่จริง ๆ แล้ว เมื่อได้รับราหูจากหลวงพ่อน้อยแล้ว ก็นำกลับมาเลี่ยมเองทั้งสิ้น และจากการสอบถามคนเก่าแก่ เช่น ช่างสี เมื่อตอนยังหนุ่มก็บอกเหมือนกันว่า ทางวัดไม่ได้เลี่ยม การเลี่ยมเก่าแค่เป็นการบ่งบอกถึงการเลี่ยมจากอดีตเท่านั้น

หลักการดูการเลี่ยมเก่า

ราหูอมจันทร์ ถ้าไปเจอแบบเลี่ยมเก่า ให้ดู

๑. ให้ดูลวดลายการแกะ เช่น มีการฉลุบ้าง และให้จดจำลายกนกบางตัว จะชอบใช้ในอดีต ซึ่งปัจจุบันจะไม่แกะลายนั้นแล้ว

๒. ให้ดูหู ราหูเลี่ยมเก่าส่วนใหญ่ หูจะเป็นหูตุ้ม คือกลม ๆ ส่วนเลี่ยมภายหลังจะเป็นห่วงบาง ๆ

๓. ความเก่า ตามซอกส่วนใหญ่จะมีความเก่า, หมอง, ซีด ไม่สุกวาว

๔. ด้านหลังมี ๒ แบบ คือ เลี่ยมแบบมีฝาหลัง และแบบไม่มีฝาหลัง

ย้อนรอยตำนานพระราหูอันดับหนึ่งเมืองไทย.."หลวงพ่อน้อย วัดศีรษะทอง" สร้างด้วยกะลาตาเดียว ลงอักขระด้วยยันต์ สุริยประภา..จันทรประภา.

ขอขอบพระคุณท่านเจ้าของภาพ และที่มาเนื้อหาข้อมูลมา ณ ที่นี้

มหาพลังพุทธคุณ

เผยแผ่บารมีเป็นสังฆบูชา และเทิดทูนเกียรติคุณครูบาอาจารย์