วืดไปนายใหญ่ดูไบ!!!   ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง "เทพไท" ดูหมิ่น "CEO ทักษิณ" + เปรียบเทียบพฤติกรรมผีปอบ ???

ติดตามรายละเอียด deeps.tnews.co.th

       ถึงแม้จะหลบหนีคดีอาญาไปต่างประเทศ  แต่ยังคงมีหลายคดีที่นายทักษิณ  ชินวัตร  มอบอำนาจให้ทนายยื่นฟ้องบุคคลต่าง ๆ  ล่าสุดศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์  คดีหมายเลขดำ อ.1923/2549   ที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี  มอบอำนาจให้นายนพดล มีวรรณะ ทนายความ  เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องพรรคประชาธิปัตย์ และนายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตโฆษกส่วนตัวนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 332 

 

     ทั้งนี้นายทักษิณในฐานะโจทก์  ได้บรรยายฟ้องระบุพฤติการณ์ว่า เมื่อวันที่ 17-19 พ.ค. 2549 นายเทพไท จำเลยที่ 2 ได้แถลงข่าว ณ ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยุครัฐบาลทักษิณลาออก โดยกล่าวทำนองว่าบริหารประเทศแบบซีอีโอ ที่มีรัฐมนตรีเป็นเพียงผู้ช่วยทำงานไม่ได้ และยังได้กล่าวเปรียบเทียบ พ.ต.ท.ทักษิณ เหมือนผีปอบที่ออกจากร่างแล้วกลับเข้าร่างไม่ได้  และพยายามทุกวิถีทางเพื่อกลับเข้าสู่ร่างเดิม

 

      กรณีดังกล่าวศาลชั้นต้น มีคำพิพากษา  เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2558 ให้ยกฟ้อง เนื่องจากตามทางนำสืบฟังข้อเท็จจริงได้ว่า โจทก์ได้ประกาศยุบสภาต้นปี 2549 และมีการกำหนดวันเลือกตั้ง 2 เม.ย.49 แต่ต่อมาตุลาการรัฐธรรมนูญ ก็ได้วินิจฉัยว่า การเลือกตั้งดังกล่าวไม่สุจริต ดังนั้นการกระทำเป็นการนำข้อมูลข่าวสารมาเผยแพร่อันเป็นวิสัยที่กระทำได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดหมิ่นประมาท

 

       ต่อมาโจทก์ ยื่นอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลย และศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นว่า โจทก์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรักษาการนายกรัฐมนตรี จึงถือเป็นบุคคลสาธารณะที่สามารถจะถูกตรวจสอบการทำงานได้ ซึ่งการกล่าวของนายเทพไท จำเลยที่ 2 เป็นการพูดจาตอบโต้กันในทางการเมือง ถือเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความคิดเห็นและติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยที่สามารถกระทำได้ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ดังนั้นการที่จำเลยที่ 2 แถลงข่าวที่พรรคประชาธิปัตย์ จึงไม่เป็นความผิดเช่นกัน ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยพิพากษายืน 

 

     

      ทั้งนี้เมื่อเดือนต.ค.ปี  2558   ศาลฎีกาได้เคยอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.425/2552 ที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มอบอำนาจให้นายอุดม โปร่งฟ้า ทนายความเป็นโจทก์ฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา
       
       กรณีเมื่อระหว่างวันที่ 3-5 ก.พ. 2552 นายสุเทพ จำเลยซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายในที่ประชุมสภา และให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนทำนองว่า พ.ต.ท.ทักษิณ โจทก์ไม่ยอมแพ้ พยายามต่อสู้ไปเรื่อยๆ ท่านก็บอกแล้วว่า วันหนึ่งท่านจะกลับมาเป็นประธานาธิบดี เราก็ไม่ต้องวิเคราะห์อะไร ซึ่งโดยความคิดเห็นส่วนตัวโดยบริสุทธิ์ใจเชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชอบระบอบประธานาธิบดี และข้อความอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นเท็จ โจทก์จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 ด้วย
       

       
       ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์เป็นบุคคลสาธารณะที่สมัครใจเข้ามารับตำแหน่งทางการเมืองเพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญ มีทั้งอำนาจหน้าที่ในการบริหารประเทศ และต้องรับผิดชอบจากการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วประเทศ จึงจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบสูงกว่ามาตรฐานของบุคคลทั่วไป ทั้งถ้อยคำของจำเลยที่ให้สัมภาษณ์ก็มิได้ปรุงแต่งข้อเท็จจริง แต่มีผลต่อเนื่องเชื่อมโยงกันมาโดยตลอดจากการกระทำของโจทก์เองและกลุ่มคนที่ให้การสนับสนุน อาทิ โจทก์เคยพูดต่อข้าราชการ กลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง และกลุ่มคนขับแท็กซี่ว่า ผู้มีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ แทรกแซงองค์กรอิสระ และศาล รวมทั้งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ก็เคยมีความเห็นว่าโจทก์ละเมิดรัฐธรรมนูญ และอื่นๆ ดังนั้น การให้สัมภาษณ์ของจำเลยจึงเป็นการติชม แสดงความคิดเห็นโดยสุจริต จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ฟ้องโจทก์ไม่มีมูล ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนยกฟ้อง