ไม่ซ้ำรอยวิปโยคปี 54 แน่ !!!  อธิบดีกรมชลฯแจงน้ำท่วมเหตุเพิ่มระบายน้ำเขื่อน  ย้ำต.ค.จะหนักตามปริมาณฝน  ตอกกทม.เลิกอ้างมั่วเหตุน้ำท่วมขัง??

ติดตามรายละเอียด deeps.tnews.co.th

 

     กลายเป็นประเด็นร้อนที่ประชาชนคนไทยเริ่มพูดถึงกันมากขึ้น กับสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่  แม้จะเชื่อมั่นว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยปี  2554   ล่าสุด   นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน   ระบุว่า  ได้ทำหนังสือรายงานต่อพล.อ.ฉัตรชัย  สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อรายงานต่อพล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ทราบถึงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ ที่มีมติให้  "ระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา-ชัยนาท" เพิ่มจาก 1,800 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาทีเป็น 2,000 ลบ.ม. ต่อวินาที รวมถึงเพิ่มการพร่องน้ำเขื่อนป่าสัก ฯ เขื่อนแควน้อย เพื่อประคองสถานการณ์ไม่ให้น้ำล้นเขื่อนและเตรียมพื้นที่ไว้รับฝนชุกต้นเดือน  ต.ค.เป็นการล่วงหน้าแล้ว

 

     ทั้งนี้  นายสุเทพ   ระบุด้วยว่า   สถานการณ์ฝนตกภาคกลางจะน้อยลงในช่วง  2-3 วันนี้  โดยเนื่องจากร่องมรสุมได้ขยับขึ้นภาคเหนือ  จากอิทธิพลของ "พายุเมจี"   ระหว่างวันที่ 28-30 ก.ย.  ซึ่งปลายเดือนหลังจากพายุสลายตัว  ร่องมรสุมก็จะกลับลงมาพาดผ่านภาคกลาง ทำให้ฝนภาคกลางตกชุกหนัก ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.ถึงเดือนต.ค. โดยมีฝนชุกเหมือนกับสัปดาห์ที่ผ่านที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมหลายจังหวัด

    โดยกรมชลประทาน ได้เตรียมวางแผนการบริหารจัดการน้ำ ระบายน้ำเพิ่มที่เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสักฯและเขื่อนพระราม6   ซี่งจะขอความเห็นไปยัง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ  รมต.เกษตรและสหกรณ์   ให้พิจารณา ในการขอระบายน้ำเพิ่มที่เขื่อนเจ้าพระยา จาก1,800 ลบ.ม. ต่อวินาที เป็น 2 พันลบ.ม.ต่อวินาที   รวมทั้งการผันน้ำเข้าแก้มลิง ทุ่งเจ้าพระยา  ซึ่งในขณะนี้ยังไม่ผันน้ำเข้าแต่จะผันในห้วงเวลาที่เหมาะสม หากมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น  

 

    ทั้งนี้การระบายน้ำเพิ่มทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ  ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจะได้รับผลกระทบมากขึ้น โดยมีระดับน้ำท่วมสูงเพิ่มอีกประมาณ 1 เมตร เช่น  อ.ไชยโย อ.เมือง จ.อ่างทอง อ.พรหม อ.เมือง อ.อินทร์บุรี จ. สิงห์บุรี  และการเพิ่มระบายท้ายเขื่อนพระราม  6 จะกระทบน้ำท่วมพื้นที่ อ.ท่าเรือ อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา  ทั้งนี้มีแผนการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักฯ เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งขณะนี้ยังระบาย 20 ล้านลบ.ม.ต่อวัน โดยทะยอยปล่อยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง วางเป้าที่  40 ล้านลบ.ม.ต่อวัน คาดว่าจะเป็นช่วงกลางสัปดาห์นี้  เพื่อไม่ให้ปริมาณน้ำล้นเขื่อนและมีพื้นที่รองรับน้ำใหม่

                                                                                                                                

    โดยขณะนี้เขื่อนป่าสักฯมีระดับเก็บกัก 730 ล้านลบ.ม. และระดับเก็บกักสูงสุด 960 ล้านลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ40 ล้านลบ.ม. ซึ่งการระบายออกจะดูสถานการณ์น้ำที่มารวมที่คลองชัยนาท -ป่าสัก มาระบายผ่านเขื่อนพระราม6 ควบคุมไม่ให้เกิน 600 ลบ.ม.ต่อวินาที  และถึงอ.บางไทร พระนครศรีอยุธยา ในอัตรา 2,500 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยไม่ให้เกินจากนี้ ช่วงปลายสัปดาห์นี้จะไม่มีกระทบกรุงเทพแน่นอน กรมชลฯต้องเร่งระบายน้ำออกทะเล เพื่อไม่ให้เกิดน้ำสะสม ซี่งจะกระทบ ต่อกรุงเทพฯ ได้ในภายหลัง

 

    "ตอนนี้ยังไม่ปล่อยน้ำเข้าทุ่ง  ยังมีพื้นที่ไม่เก็บเกี่ยวข้าวอีกกว่า  2 ล้านไร่ ในลุ่มเจ้าพระยาทั้งฝั่งซ้าย-ขวา รวมทั้งจะติดตามสถานการณ์ฝนสัปดาห์หน้า และได้เตรียมแผนให้มีพื้นที่ว่างรับน้ำใหม่ได้ หากลำน้ำมีศักยภาพน้อยลง การระบายน้ำเข้าทุ่งมีแผนไว้แล้วโดยจะแจ้งให้รมว.เกษตรฯพิจารณาก่อน แต่ขณะนี้ยังไม่ถีงเวลาเหมาะสมรอฝนใหม่ ตอนนี้เพียงเร่งระบายน้ำเอาลงทะเลก่อนที่ฝนจะมารอบหน้า”

 

      ส่วนที่กทม.ระบุว่าน้ำท่วมระบายได้ช้าในพื้นที่ โดยอ้างว่าระบายลงแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้  เพราะมีน้ำสูงในการระบายลงทะเล นายสุเทพ กล่าวว่าพื้นที่ในกรุงเทพฯระบายน้ำอย่างเดียวไม่ทันอยู่แล้ว จะต้องใช้การสูบออกซึ่งมีเครื่องสูบน้ำตั้งไว้ทุกจุด ถ้าเดินเครื่องสูบออกตลอดเวลาจะลดน้ำได้เร็ว แต่ตนไม่ทราบว่ากทม.เดินเครื่องสูบน้ำหรือไม่ ตนยืนยันว่าปริมาณน้ำที่ระบายผ่านกรุงเทพ ปีนี้ไม่ทำให้ท่วมแน่นอน ซี่งแม่น้ำเจ้าพระยารับได้ถึง3,500 ลบ.ม.ต่อวินาที ถึงมีปัญหา แต่ขณะนี้มีเพียง 1,400 ลบ.ม.ต่อวินาที เท่านั้น"