27 ปี วงล้อประวัติศาสตร์ “อยู่บำรุง” ยังไงก็แพ้ทาง “คงสมพงษ์”

27 ปี วงล้อประวัติศาสตร์ “อยู่บำรุง” ยังไงก็แพ้ทาง “คงสมพงษ์”

กรณี นายวัน อยู่บำรุง  “แอ๊กอาร์ต” โพสต์ข้อความโจมตี คสช.และรัฐบาล ในเฟซบุ๊กส่วนตัว จน ถูก พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 เรียกรายงานตัว ก่อนนายวันต้องรีบพลิกนำพวงมาลัยเดินทางเข้าขอขมาบรรดา “บิ๊ก”ทหาร ๆ ที่ตัวเองพาดพิงถึง  
เหล่านี้ยืนยันชัดว่า คนนามสกุล “อยู่บำรุง” ยังไงๆก็แพ้ทาง คนนามสกุล “คงสมพงษ์” ตั้งแต่รุ่นพ่อจนถึงรุ่นลูก 
               นายวัน ต้องลืมไม่ได้เด็ดขาด กับเหตุการณ์ 20 กว่าปีที่แล้ว ที่พ่อเฉลิมพาครอบครัวลี้ภัยการเมืองไปอยู่เดนมาร์ก  ร.ต.อ.เฉลิม ต้อง ลอยคออยู่บนเรือไปขึ้นฝั่งที่สิงคโปร์  ก่อนจะพา“ทั้งครอบครัวอาศัยรวมกันในห้องเช่าเล็กๆ นอนติดกันเหมือนเข่งปลาทู”

 ทรัพย์สินที่สร้างมา 32 ล้านบาทก็ถูกยึดทรัพย์!
 เหตุการณ์ครั้งนั้น ปี 2533  พ่อเฉลิม ซึ่งอยู่ในยุคมีอำนาจ-วาสนา เป็น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ ทะเลาะกับลุงจิ๋ว –พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ   มีการตอบโต้ พาดพิงไปถึง คุณหญิงพันธุ์เครือ ยงใจยุทธ ว่าเป็น "ตู้เพชร ตู้ทองเคลื่อนที่" ที่สุดก็บานปลายไปทะเลาะกับทหารทั้งกองทัพ โดยเฉพาะ  ตอนนั้น บิ๊กจ๊อด-  พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์  พ่อ “บิ๊กแดง”- พล.ท.อภิรัชต์ เป็น ผบ.สส.
              จุดแตกหัก คือ กรณมีการนำรถโมบาย อสมท.ไปดักฟังการสื่อสารของทหาร จน  “บิ๊กจ๊อด” สั่งยึดรถ  และคณะทหารมีการเสนอ พล.อ.ชาติชายให้ปลด ร.ต.อ.เฉลิม พ้น ครม. 
 พล.อ.ชาติชาย รับปาก แต่ไม่ทำ ! 
สุดท้าย โดนทหารยึดอำนาจ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 มี บิ๊กจ๊อด เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ
แถลงการณ์ยึดอำนาจบอกเหตุผล 5 ข้อในการยึดอำนาจ โดยข้อที่ 4 ซัด ร.ต.อ.เฉลิม ตรงๆ ว่า “ประการที่ 4 การทำลายสถาบันทางทหาร ทหารเป็นสถาบันข้าราชการประจำเพียงสถาบันเดียวที่ไม่ยอมตกอยู่ใต้อิทธิพลทางการเมืองของนักการเมือง จากสภาพโดยส่วนรวมทั่วไปจะเห็นว่ารัฐบาลได้เผชิญหน้ากับฝ่ายทหารมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นกรณีลิตเติลดั๊ก รถวิทยุสื่อสารเคลื่อนที่ การไม่ปลด ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง จากการเป็นรัฐมนตรีตามสัญญาสุภาพบุรุษ”
จากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก ต้องยอมรับว่า นายวันกับ “บิ๊กแดง” - พล.ท.อภิรัชต์ เทียบกันไม่ติดและเอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ด้วยซ้ำ

เส้นทางเติบโตของ นายวัน  ล้วนเป็นการโอบอุ้มจาก ร.ต.อ.เฉลิม แต่กระนั้นก็ไม่ได้อะไรอย่างใจ  ตำแหน่งแห่งที่บนเวทีการเมืองก็เป็นได้แค่ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อปี. 2555 เคยเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์เพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ โดยเป็นแฮปปี้ทอยเลต และมิสเตอร์แอร์พอร์ตลิงก์คนแรกของประเทศไทย แต่ดูเหมือนปฏิกิริยาของสังคมกลับตอบรับไปในทิศทางตรงกันข้าม 
ต่างกันราวฟ้ากับเหว เมื่อเปรียบเทียบกับ พล.ท.อภิรัชต์ 
พล.ท.อภิรัชต์  จบ เตรียมทหารรุ่นที่ 20 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่นที่ 31 (จปร.31) เหล่าทหารราบ บนเส้นทางการรับราชการรับใช้แผ่นดินมาโดยตลอด แต่ชื่อของ “บิ๊กแดง” กลายเป็นชื่อที่ คนเสื้อแดงได้ยินแล้วหนาว ตั้งแต่เหตุการณ์การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน  เมื่อปี 2553 พ.อ.อภิรัชต์ในฐานะผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการเป็นที่บัญชาการของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นผู้นำกำลังทหารปฏิบัติการยึดคืนสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมไทยคมที่จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2553 จากการยึดครองของ นปช.  แม้จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็เป็นผู้นำทหารกลุ่มสุดท้ายที่เหลืออยู่ 28 คนบนดาดฟ้าของอาคารที่ทำการสถานี ทำการปกป้องสถานี
แต่ที่ได้ใจคนรักในหลวงอย่างมากก็คือ เมื่อช่วงต้นปี พ.ศ. 2551 พ.อ.อภิรัชต์ เป็นผู้ที่เข้าไปกระซิบกับนายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลที่มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ให้หยุดพฤติกรรมจาบจ้วงสถาบัน