ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th

หลังจากเป็นกระแสดังในสื่อสังคมออนไลน์ ถึงกรณีการบูรณปฏิสังขรณ์ พระปรางวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ว่าดูแปลกตา ซึ่งอาจารย์กิตติธัช ชัยประสิทธิ์ นักวิชาการชื่อดัง ได้เผยแพร่ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กถึงกรณีดังกล่าว ว่า..

 

 

“กระเบื้องโบราณ” หายไปไหน?? นักวิชาการ เอะใจ กระเบื้องวัดอรุณฯ บูรณะแล้วเอาไป ทำอะไร ไว้ที่ไหน เรื่องใหญ่ที่ต้องทวงถาม!?

“กรณีการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณของกรมศิลปากร ที่กำลังเป็นข่าวดัง

เนื่องจากภาพที่ปรากฏสู่สายตาผู้คนในโลกออนไลน์ นำไปสู่ความไม่พอใจ เนื่องจากเห็นสภาพการบูรณะที่ทำให้งานศิลปะบนตัวอาคารเปลี่ยนไป

 

- เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดและเกี่ยวข้องกับเทคนิคทางช่างฝีมือและหลักการอนุรักษ์โบราณสถานแต่ทั้งนี้เราจำเป็นต้องแยกประเด็นให้ชัดเจนทีละประเด็นก่อน โดยที่ประเด็นหลักมีทั้งหมด 3 เรื่อง

 

1. การบูรณะด้วยปูนหมักสีขาว

2. ฝีมือช่างที่ถมปูนในหลายจุดเยอะจนทำให้ลวดลายของกระเบื้องดูแบน

3. กระเบื้องโบราณที่ผู้บูรณะบอกว่ามีความชำรุดและได้แกะของเดิมออกและทำการเปลี่ยนของใหม่แทนที่

 

---------------------

1. การบูรณะด้วยปูนหมักสีขาว

---------------------

 

จากภาพที่ปรากฏในโลกออนไลน์ซึ่งการฉาบปูนสีขาวลงไปที่ตัวงานศิลปะทำให้หลายคนเกิดความไม่พอใจและคิดว่าเป็นการทำลายตัวงาน

 

- อันนี้ต้องเข้าใจก่อนว่าเดิมนั้น สถาปัตกรรมประเภทก่ออิฐถือปูนในสมัยโบราณจะใช้ปูนหมัก / ปูนตำซึ่งตัวปูนหมักแบบโบราณนี้จะมีรูพรุน ทำให้สามารถระบายความชื้นได้ดี

 

- ถ้าเทียบกับปูนปอร์ตแลนด์สมัยใหม่ ที่เมื่อนำมาใช้จะเกิดปัญหาเรื่องความชื้น จนเป็นเรื่องที่น่าปวดหัวในวงการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมโบราณเป็นอย่างยิ่ง....

- เช่นเดียวกันการอนุรักษ์ครั้งนี้ได้กลับมาใช้ปูนหมักเช่นในอดีตส่วนไอ้ของที่เราเห็นว่ามันดำ คล้ำๆ มันคือ ปูนปอร์ตแลนด์ที่มีความแข็งแรง แต่มีปัญหาเรื่องการระบายความชื้นไม่ดี

 

- บวกกับคราบตะไคร้ และ ความเก่าทำให้เกิดเป็นพื้นหลังสีดำๆ คล้ำๆ ซึ่งเมื่อกระเบื้องเคลือบสีๆ ไปวางอยู่บนพื้นหลังแบบนี้ มันเลยดูเด่น ดูมีมิติ มีความลึก มีเงาที่ชัดเจน(เงามืด คราบความเก่าและสึกหรอกมันช่วยทำให้งานดูมีมิติและมีเสน่ห์)

 

*** แต่ก็นั่นแหละครับ ของที่มันเก่ามันก็มาพร้อมกับความชำรุดทรุดโทรมพังทลาย อยู่ได้อีกไม่นาน ถ้าเราดูดีๆ จะพบว่ากระเบื้องหลายชิ้นหลุดลอก และผุพังไปตามกาลเวลามากแล้วจึงมีการบูรณะใหม่ด้วยการลงปูนหมัก และมีการเลาะเปลี่ยนกระเบื้องบางชิ้น

 

แต่เมื่อเวลาผ่านไปอีกสักพักปูนใหม่นี้ เริ่มจะสึกกร่อนตามกาลเวลา ตัวชิ้นงานก็จะมีความนุ่มนวลขึ้น และลายกระเบื้อง ก็จะมีความชัดเจนขึ้นดังเดิมเองนะครับ (เช่นเดียวกับการบูรณะวัด คินคาคุ-งินคาคุที่ญี่ปุ่น ที่ใหม่ๆ ก็ทาสีซะเหมือนแกะมาจากกล่องของเล่นยังไงยั้งงั้น แต่พอสักพักนึงผ่านแดดผ่านฝน งานมันก็จะลงตัวขึ้น)

---------------------

2. ฝีมือช่างผู้บูรณะงาน

---------------------

 

- จะเห็นได้ว่าการบูรณะงานครั้งนี้ มีการถมปูนลงไปเยอะในหลายจุด จนทำให้กระเบื้องดูไม่โดดเด่นเลย หลายจุดถม จนแทบจะมิดกระเบื้อง ทำให้ดูเหมือนลวดลายมันเปลี่ยนไป แต่ถ้ามองดูจริงๆ เป็นชิ้นๆ จะทราบว่ามันไม่ได้เปลี่ยนไปหรอกครับ เพียงแค่มันมีปูนถมเข้ามาจนบังปริมาตรกระเบื้องจนดูเหมือนว่ากระลวดลายมันเปลี่ยนไป

 

*** หมายเหตุ: ถ้าจะเทียบลวดลายเดิมนั้นต้องนำภาพที่อยู่ในมุมเดียวกันของอาคารมาเทียบทีละส่วนนะครับ อย่าเอาคนละมุมเพราะแต่ละมุมอาจมีลวดลายที่แตกต่างกัน

 

- ในแง่ฝีมือช่างนั้นอันนี้วิจารณ์กันได้ ว่าช่างอาจจะทำไม่ได้ละเอียดมากนัก แต่ส่วนหนึ่งก็ต้องเข้าใจว่าการถมปูนลงในงานแบบนี้ ค่อนข้างทำได้ยาก

 

(แต่บางช่วงก็ถมปูนเยอะจนน่าเกลียด)

 

- ซึ่งประเด็นนี้ก็สามารถวิจารณ์กัน ตามความเหมาะสมนะครับ แต่ต้องแยกจากเรื่องหลักการอนุรักษ์ในข้อ 1 อย่าเอาไปปนกัน เพราะในหลักการของการอนุรักษ์นั้น ไม่ได้มีอะไรที่ผิดพลาด ส่วนจะบ่นเรื่องว่างานระดับสมบัติชาติ ก็น่าจะทำให้มันละเอียดละออกกว่านี้หรือจะให้ช่างทำการแก้ไขให้มันดีขึ้นอันนี้ก็ว่ากันไปครับ วิจารณ์ตามสะดวก

 

---------------------

3. กระเบื้องโบราณ

---------------------

 

- ประเด็นที่สามนี้มีคนสงสัยกันมาก เนื่องจากในงานบูรณะนั้น จะเห็นได้ว่า มีกระเบื้องหลายชิ้นที่เสื่อมโทรมลงไป บางชิ้นหลุดลอกไปแล้ว บางชิ้นแตกพัง ตัวอย่างเช่นในรูป (ที่ผมยืมจากท่านอื่นและนำมาลงในโพสท์นี้) ก็เห็นได้ชัดว่า ลายที่เป็นใบไม้บน-ล่าง ที่อยู่ตรงแถบ ด้านบนของตัวยักษ์ และอยู่ในระหว่างรูปดอกไม้บริเวณส่วนที่ย่อมุมอาคาร มีหลายชิ้นที่หลุดลอกออกไปแล้ว หลายชิ้นก็เละๆ พังๆ ตามกาลเวลา

 

- ทางผู้ทำการบูรณะได้มีการเปลี่ยน โดยได้แกะของเดิมที่พังทลายออก และนำของใหม่ ที่ทำตามแบบเดิม เข้าไปปิดแทน ก่อนจะฉาบด้วยปูน

 

*** แต่ทั้งนี้เนื่องจากฝีมือช่าง  ที่ทำการฉาบปูนในประเด็นที่ 2 นั้นทำให้หลายคนสงสัยกันว่าตกลงแล้วกระเบื้องเหล่านี้ ที่ทางผู้บูรณะบอกว่ามีการชำรุดผุพังและต้องเปลี่ยนใหม่นั้น

#มีมากน้อยแค่ไหนและอยู่ในสภาพใด?

 

อันเนื่องจากมีผู้คนจำนวนหนึ่งกังวลว่า จะมีการอ้างว่า ชำรุด และแกะกระเบื้อง บางส่วน (ที่ไม่พัง) ออกไปขายหรือไม่?

 

*** ประเด็นนี้ก็เป็นความกังวลใจ ของผู้คนในสังคมที่ตั้งคำถามไว้ครับ (ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับโลกออนไลน์ ในยุคปัจจุบันที่เราปฏิเสธไม่ได้อีกแล้ว) ซึ่งผมคิดว่าทางผู้บูรณะเองก็น่าจะ มาชี้แจงและตอบคำถามให้ชัดเจน เช่นอาจไปถ่ายภาพในระยะใกล้มา และนำมาเทียบชิ้นกระเบื้องให้ดูกันว่ากระเบื้องส่วนใหญ่อยู่ครบหรือไม่(เพราะปูนมันบังปริมาตรกระเบื้องไป)

 

- หรือถ้าส่วนไหนที่เลาะออกไปแล้ว ก็ควรบอกให้ชัดเจนว่า อันที่เลาะไปนั้นมีจำนวนมากน้อยแค่ไหน และเลาะแล้ว นำไปทำอะไรต่อ ก็ชี้แจงให้ชัดเจนไปเพื่อให้สังคมคลายความสงสัยนะครับ

---------------------

 

*** สรุปก็คือ เรื่องหลักการอนุรักษ์นั้นไม่มีอะไรผิดพลาดครับ ซึ่งผมเองก็เห็นว่าทางผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ก็ได้ออกมาอธิบายกันหลายท่านพอสมควรแล้ว (ไปตามหาอ่านกัน)ส่วนเรื่องฝีมือช่างนั้นก็วิจารณ์กันได้ตามสบาย

 

*** เรื่องสุดท้ายคือเรื่องความโปร่งใสชัดเจน ในการทำงาน อันนี้ทางผู้เกี่ยวข้องก็ควรที่จะออกมาอธิบายขั้นตอนและรายละเอียดให้ชัด เพราะสังคมยุคโซเซียลนั้น มีความไวมากเรื่องอะไรๆ ในยุคนี้ จึงต้องมีความชัดเจน

ไม่เช่นนั้นอาจเกิดข้อครหาได้ง่ายๆ ครับ

 

 

 

 

ถึงแม้สองประเด็นแรก จะเป็นเรื่องที่มีผู้คนออกมาให้คำอธิบายอยู่เป็นจำนวนมากแล้ว ทว่าประเด็นที่สามยังคงเป็นข้อทวงถามกันต่อไป เพราะถึงแม้ทางวัดอรุณฯเอง จะได้ให้สัมภาษณ์ต่อมติชนออนไลน์ว่า "กระเบื้องสีที่นำขึ้นไปประดับบนองค์พระปรางค์ เป็นการซ่อมเปลี่ยนแทนวัสดุเดิมที่ร่วงหล่น ส่วนที่เป็นของดั้งเดิมที่ยังคงสภาพดีอยู่ ก็คงไว้ดังเดิม" ก็ยังคงเป็นข้อสงสัยว่า ส่วนที่เปลี่ยน และส่วนที่คงไว้นั้นนับเป็นจำนวนเท่าไหร่ และนำไปดำเนินการอย่างไรต่อ ก็ขอให้รายงานให้ประชาชนทราบ เพื่อความโปร่งใสในการปฏิบัติงานของผู้บูรณะเอง