เปิดปริมาณน้ำกักเก็บ เฝ้าระวังต่อเนื่อง ฝนเพิ่มอีก 22 จังหวัดใกล้ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ระวังน้ำท่วมฉับพลัน

เปิดเผย ปริมาณน้ำกักเก็บ เฝ้าระวังต่อเนื่อง ฝนเพิ่มอีก 22 จังหวัดใกล้ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ระวังน้ำท่วมฉับพลัน

   

เปิดปริมาณน้ำกักเก็บ เฝ้าระวังต่อเนื่อง ฝนเพิ่มอีก 22 จังหวัดใกล้ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ระวังน้ำท่วมฉับพลัน

 

     สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 1 ก.ย. ทางศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ ออกประกาศฉบับที่ 9 เรื่อง สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงในช่วง 7 วันที่ผ่านมา มีฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย และตกหนักในพื้นที่ สปป.ลาว ประกอบกับเขื่อนกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ใน สปป.ลาว ได้เร่งระบายน้ำปริมาณมากลงสู่แม่น้ำโขง ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว 5 จังหวัด  ตั้งแต่จังหวัดหนองคาย , จังหวัดบึงกาฬ , จังหวัดนครพนม , จังหวัดมุกดาหาร และ จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2561 เป็นต้นไป

 

     จากการคาดการณ์ของศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ ในช่วง 7 วัน ต่อจากนี้นั้น ระดับน้ำแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมอยู่ในเกณฑ์ 50 – 100 เซนติเมตร และจะทำให้มีระดับน้ำสูงกว่าตลิ่งบางแห่งตั้งแต่ อำเภอเมือง โพนพิสัย และรัตนวาปี จังหวัดหนองคาย, อำเภอปากคาด เมือง บุ่งคล้า และบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ , อำเภอบ้านแพง ท่าอุเทน เมือง ธาตุพนม จังหวัดนครพนม , อำเภอหว้านใหญ่ เมือง และดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร , อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ และอำเภอเขมราฐ นาตาล โพธิ์ไทร ศรีเมืองใหม่ และโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมกันนี้ทางศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติยังขอให้หน่วยงานที่อยู่ในการควบคุมดูแลคอยติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งขอแจ้งให้ประชาชาในจังหวัดนั้นๆ คอยระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน

 

     ทั้งนี้เมื่อวันที่ 2 ก.ย. สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้ออกสรุปผลภาพรวมสถานการณ์น้ำภายในประเทศไทย ในช่วงวันที่ 3 - 7 ก.ย. 2561 ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น ตกหนักบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคใต้  ทั้งนี้สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยายังมีอัตราการระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ 820 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาด้านท้ายเขื่อนมีปริมาณเพิ่มขึ้น 30 - 50 ซม. ทั้งนี้ทางกรมชลประทาน ได้มีหนังสือออกมาแจ้งเตือน 22 จังหวัด ก่อนหน้านี้ให้จังหวัดที่อยู่บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาระวังน้ำท่วมพร้อมขอความร่วมมือประชาชนไม่ทำการเกษตรในช่วงฤดูฝน เพราะน้ำอาจเข้าท่วมจนเสียหายได้

 

เปิดปริมาณน้ำกักเก็บ เฝ้าระวังต่อเนื่อง ฝนเพิ่มอีก 22 จังหวัดใกล้ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ระวังน้ำท่วมฉับพลัน

 

 

     ส่วนสถานการณ์ล่าสุด วันที่ 3 ก.ย. ในจังหวัดที่ประสบอุทกภัย 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดยโสธร , จังหวัดกาฬสินธุ์ , จังหวัดอุบลราชธานี , จังหวัดนครพนม , จังหวัดสกลนคร , จังหวัดบึงกาฬ ,จังหวัดชัยภูมิ , จังหวัดปราจีนบุรี ,  จังหวัดนครนายก 

 

เปิดปริมาณน้ำกักเก็บ เฝ้าระวังต่อเนื่อง ฝนเพิ่มอีก 22 จังหวัดใกล้ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ระวังน้ำท่วมฉับพลัน

 

1. จังหวัดยโสธร มีพื้นที่น้ำท่วมจํานวน 5 อําเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.ป่าติ้ว อ.คําเขื่อนแก้ว อ.มหาชนะชัย และ อ.ค้อวัง รวมพื้นที่ประสบอุทกภัย 14,327 ไร่


     - สถานการณ์น้ำลุ่มน้ำลําเซบาย (08.00 น.) สถานี M.32 อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 1.94 ม.แนวโน้มลดลงสถานี M.179A (08.00 น.) อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 1.28 ม. แนวโน้มลดลง
     - สถานการณ์น้ำลุ่มน้ำชีตอนล่าง (08.00น.) สถานี E.2A อ.เมือง จ.ยโสธร ระดับน้ำต่ํากว่าตลิ่ง 1.05 ม. แนวโน้มเพิ่มขึ้น สถานี E.20A อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 0.83 ม. แนวโน้มเพิ่มขึ้น

 

2. จังหวัดกาฬสินธุ์พื้นที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากเขื่อนลําปาวที่เพิ่มการระบายน้ำจํานวน 4 อําเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.ยางตลาด อ.กมลาไสย และอ.ฆ้องชัย พื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 4,613 ไร่

 

3. จังหวัดอุบลราชธานีพื้นที่น้ำท่วม จํานวน 7 อําเภอ ได้แก่ อ.เขื่องใน อ.ตระการพืชผล อ.ม่วงสามสิบ อ.ดอนมดแดง อ.เหล่าเสือโก้ก อ.วารินชําราบ และอ.สําโรง พื้นที่ประสบอุทกภัย 7,797 ไร่ โครงการชลประทานสนับสนุนเครื่องผลักดันน้ำจํานวน 12 เครื่อง บริเวณเขื่อนธาตุน้อย อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี

- สถานการณ์น้ำลุ่มน้ำชี (08.00 น.) สถานี E.98 อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 0.94 ม. แนวโน้มเพิ่มขึ้น

 

4. จังหวัดนครพนม พื้นที่น้ำท่วมจํานวน 7 อําเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.ธาตุพนม อ.ท่าอุเทน อ.บ้านแพง อ.ศรีสงคราม อ.นาหว้า และ อ.นาทม มีพื้นที่ได้รับผลกระทบทางการเกษตร 179,704 ไร่ เจ้าหน้าที่เข้าติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จํานวน 13 เครื่อง (เขตเทศบาล อ.เมือง 8 เครื่อง และ ปตร.ห้วยบังกอ 5 เครื่อง) ในลําน้ำอูน ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ จํานวน 32 เครื่อง (ปตร.น้ำอูน 8 เครื่อง ,ปตร.ห้วยบังกอ 16 เครื่อง ,ปตร.หนองบัว 4 เครื่อง
และปตร.ห้วยทวย 4 เครื่อง)

 

5. จังหวัดสกลนคร พื้นที่น้ำท่วมจํานวน 7 อําเภอ ได้แก่อ.โคกศรีสุพรรณ อ.โพนนาแก้ว อ.เมือง อ.พรรณานิคม อ.คําตากล้า อ.อากาศอํานวย และ อ.บ้านม่วง มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 24,164 ไร่ โครงการชลประทานสกลนครติดตั้งเครื่องสูบน้ำจํานวน 5 เครื่อง เพื่อสูบน้ำออกจากเขตเทศบาลนครสกลนครจํานวน 6 เครื่อง (ปตร.บ้านหนองบึง 2 เครื่อง และที่สะพานบ้านด่านม่วงคํา 4 เครื่อง บริเวณพื้นที่อําเภอโคกสีสุพรรณ

 

 

เปิดปริมาณน้ำกักเก็บ เฝ้าระวังต่อเนื่อง ฝนเพิ่มอีก 22 จังหวัดใกล้ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ระวังน้ำท่วมฉับพลัน

 

- สถานการณ์เขื่อนน้ำอูน (06.00 น.) ปริมาณน้ำ 560 ล้าน ลบ.ม. (107% ของความจุอ่าง) น้ำล้นทางระบายน้ำล้น 0.50 ม. ปริมาณน้ําไหลลงอ่าง 3.54 ล้าน ลบ.ม. ระบายลงลําน้ำอูน 7.03 ล้าน ลบ.ม./วัน (ติดตั้งกาลักน้ำเพื่อเพิ่ม การระบาย จํานวน 30 ชุด ระบายได้สูงสุดวันละ 1.23 ล้าน ลบ.ม.)

 

6. จังหวัดบึงกาฬ พื้นที่น้ำท่วมจํานวน 8 อําเภอ ได้แก่ อ.พรเจริญ อ.เซกา อ.บึงโขงหลง อ.เมือง อ.บุ่งคล้า อ.ศรีวิไล อ.โซ่พิสัย และ อ.ปากคาด มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 41,338 ไร่ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว จํานวน 1 เครื่อง พื้นที่โรงพยาบาลบึงกาฬ และได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำขนาด 3 นิ้ว จํานวน 2 เครื่อง บริเวณ อ.เมือง

 

7. จังหวัดชัยภูมิมีพื้นที่น้ำท่วม 2 อําเภอ ได้แก่อ.บําเหน็จณรงค์และ อ.จัตุรัส เนื่องจาก มีน้ำล้นตลิ่งห้วยคันฉู เข้าพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ 25,445 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำในพื้นที่ได้มีแนวโน้มลดลง ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจํานวน 4 เครื่อง (บริเวณบ้านหนองแวง 2 เครื่อง และบ้านปะโค 2 เครื่อง)

 

8. จังหวัดปราจีนบุรีพื้นที่น้ำท่วมจํานวน 1 อําเภอ ได้แก่ อ.กบินทร์บุรี บริเวณชุมชนตลาดเก่า เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำปราจีนบุรีเพิ่มสูงกว่าตลิ่งที่สถานี Kgt.1 โดยโครงการชลประทานปราจีนบุรีได้ปิดการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา ตั้งแต่วันที่ 25 ส.ค.61 และรับน้ำเข้าทุ่งท่าแห ทุ่งบางพลวง และเปิดบานระบายน้ำของเขื่อนทดน้ำบางปะกงให้พ้นน้ำเพื่อเร่งระบายลงสู่ทะเล ปัจจุบันระดับน้ำได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีน้ำท่วมตลาดเก่ากบินทร์บุรีที่เป็นที่ลุ่มต่ำ สูงเฉลี่ย 0.30-0.40 ม. คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติในอีก 1-2 วัน

9.. จังหวัดนครนายก แม่น้ำนครนายกล้นตลิ่ง ท่วมขัง อ.บ้านนา อ.เมือง อ.องค์รักษ์ปัจจุบัน เขื่อนขุนด่านระบายน้ำต่อเนื่อง ระดับน้ำทรงตัว

 

ในส่วนของ 6 เขื่อน หลักกับสถานการณ์ล่าสุด ได้แก่

 

1. เขื่อนน้ำอูน จังหวัดสกลนคร สภาพโดยรวม มีปริมาณน้ำอยู่ในอ่าง 563 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลเข้าออกวันละ 3.03 ล้าน ลบ.ม.  สถานการณ์ท้ายเขื่อนน้ำยังล้นตลิ่งบริเวณบ้านนาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม บ้านพอกใหญ่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร การบริการจัดการน้ำในตอนนี้ได้ลดการระบายน้ำ เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสสนก. คาดการณ์ว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนปริมาณฝนในเดือนกันยายน - ตุลาคม 2561 จะลดลง พร้อมให้หน่วยงานติดตามความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ฝนอย่างใกล้ชิดเพื่อปรับแผนระบายน้ำ 

 

2. เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี  สภาพน้ำในเขื่อนโดยรวมตอนนี้ มีปริมาณน้ำ 757 ล้าน ลบ.ม. น้ำล้นทางระบายน้ำสูง 1.04 ม. พื้นที่ท้ายเขื่อนระดับน้ำเพชรบุรีต่ำกว่าระดับตลิ่ง เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่เร่งระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง พร้อมติดตามสถานการณ์ฝนอย่างใกล้ชิด

 

3. เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี สภาพน้ำในเขื่อนโดยรวม มีปริมาณอยู่ที่ 8,364 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ท้ายเขื่อนน้ำยังไม่สูงมากกว่าตลิ่ง ทั้งนี้เจ้าหน้าที่มีการปรับแผนระบายน้ำให้ได้วันละ 58 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่วันที่ 4 - 10 ก.ย. 2561 โดยน้ำที่ระบายยังไม่เกินความจุของลำน้ำแควน้อย แต่อาจมีน้ำเอ่อสูงขึ้นในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำบางแห่ง

 

4. เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี สถาพน้ำในเขื่อนโดยรวมตอนนี้ มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 16,120 ล้าน ลบ.ม. เจ้าหน้าที่มีการปรับแผนระบายน้ำผ่านเขื่อนท่าทุ่งนาให้ได้วันละ 28 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้จะมีการปรับตั้งแต่วันที่ 7 - 13 ก.ย. 2561 เจ้าหน้าที่จะพยายามไม่ให้กระทบความจุของลำน้ำแควที่ไหลผ่าน

 

5. เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก สภาพน้ำในเขื่อนโดยรวม มีปริมาณน้ำ 193 ล้าน ลบ.ม. โดยในตอนนี้เจ้าหน้าที่มีการลดการระบายน้ำ แต่ยังติดตามสถานการณ์ฝนตกอย่างต่อเนื่อง

 

6. เขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ สถาพน้ำในเขื่อนโดยรวมมีปริมาณน้ำ 308 ล้าน ลบ.ม. เจ้าหน้าที่ยังต้องเร่งการระบายน้ำอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์ฝนตกในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทั้งนี้เจ้าหน้าที่มีการปรับแผนลดการระบายน้ำในเขื่อนภูมิพล  เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนน้ำอูน และอ่างขนาดกลาง /ขนาดเล็กทุกแห่ง เนื่องจากในเดือน ก.ย. - ต.ค. 2561 มีแนวโน้มปริมาณน้ำฝนลดลง 

 

        ด้านนายสำเริง แสงภู่วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ ได้ออกมาเปิดเผยสถานการณ์น้ำในพื้นที่เสี่ยง 16 จังหวัด ได้แก่  เชียงราย พะเยา น่าน แม่ฮองสอน หนองคาย  บึงกาฬ นครพนม กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด แพร่ ให้เฝ้าระวังฝนตกเพิ่มในช่วงวันที่ 3 - 7 ก.ย. นี้ อย่างใกล้ชิดจากอิทธิพลแรงกดอากาศต่ำทำให้เกิดความชื้นมีเมฆมากส่งผลให้เกิดฝนตกในหลายพื้นที่ของประเทศไทย 

 

        สำหรับสถานการณ์น้ำริมโขงยังมีแนวโน้มน้ำสูงขึ้นกว่าตลิ่งอย่างต่อเนื่อง ที่ จ. หนองคาย จ.นครพนม จ.มุกดาหาร อำเภอโขงเจียม จ.อุบลราชธานี และเฝ้าระวังเป็นพิเศษ จ.บึงกาฬ โดยทางศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติจะคอยดูแล แจ้งเตือนประชาชนอย่างใกล้ชิด

 

ขอบคุณข้อมูล กรมชลประทาน ,  สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ