จีนยอมหักไม่ยอมงอต่อกฎหมายแรงงานสหรัฐฯ ทำสงครามการค้าระอุอีกครั้ง

จีนยอมหักไม่ยอมงอต่อกฎหมายแรงงานสหรัฐฯ ทำสงครามการค้าระหว่างอเมริกา กับ จีน สองมหาอำนาจ กลับมาระอุอีกครั้ง

จีนยอมหักไม่ยอมงอต่อกฎหมายแรงงานสหรัฐฯ ทำสงครามการค้าระอุอีกครั้ง  อีกหนึ่งการห้ำหั่นที่น่าจับตามองสถานการณ์อย่างใกล้ชิดก็คือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่กลับมาระอุอีกครั้ง เมื่อจีนประกาศว่าจะใช้อาวุธทางการค้าของตัวเอง มาต่อสู้กับกฎหมายต่อต้านการบังคับใช้แรงงานสหรัฐฯ ที่พุ่งเป้าไปที่การบังคับใช้แรงงานที่ซินเจียง ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญชี้จีนมีพาวเวอร์พอที่จะตอบโต้ 

 

สงครามการค้าระอุอีกครั้ง จีนยอมหักไม่ยอมงอต่อกฎหมายแรงงานสหรัฐฯ

โดยกฎหมายป้องกันการบังคับใช้แรงงานอุยกูร์ (Uyghur Forced Labor Prevention Act) เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันอังคารที่ 21 มิถุนายน โดยมีเป้าหมายเล่นงานจีนเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวมุสลิมอุยกูร์กับชนกลุ่มน้อยอื่นๆ เพราะไม่อยากเสี่ยงที่จะมี "มลทิน" จากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากการใช้แรงงานทาส โดยห้ามนำเข้าสินค้าจากซินเจียง ที่เป็นเขตปกครองตนเองที่ใหญ่ที่สุดของจีน 


เว้นแต่ "มีหลักฐานที่ชัดเจนว่า ผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาจากการบังคับใช้แรงงาน" ในขณะที่จีนกำลังตีความว่าเป็นการ "บีบบังคับทางเศรษฐกิจ" (economic coercion), ใส่ร้าย และอ้างปัญหาสิทธิมนุษยชนมาเป็นเครื่องมือ "กด" อุตสาหกรรมที่เป็นประโยชน์ของซินเจียง เช่น ฝ้าย มะเขือเทศ แผงพลังงานแสงอาทิตย์ (solar cells) พูดง่ายๆ คือ การแบนผลิตภัณฑ์ทุกชนิดของซินเจียงนั่นเอง 

สงครามการค้าระอุอีกครั้ง จีนยอมหักไม่ยอมงอต่อกฎหมายแรงงานสหรัฐฯ
 

ในสายตานักวิเคราะห์กฎหมายฉบับนี้ จะเป็นอุปสรรคขัดขวางการค้าระหว่างประเทศ ทำลายเสถียรภาพของห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ธุรกิจที่เน้นการส่งออกบางแห่งในซินเจียง อาจได้รับผลกระทบบ้าง แต่การที่สหรัฐฯ จะใช้อาวุธด้านสิทธิมนุษยชน มาจำกัดการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ 


ตลาดจีนที่มีขนาดใหญ่บวกกับความต้องการของตลาดโลก ยังคงเปิดโอกาสสำหรับผู้ประกอบการในซินเจียง ต่อให้สหรัฐฯ ปิดประตูไม่ต้อนรับก็ไม่อาจทำลายความสามารถในการแข่งขันของผลิตภัณฑ์ซินเจียงได้


กระทรวงพาณิชย์ของจีน (Mofcom) ระบุว่า จะใช้มาตรการที่จำเป็นในการปกปักและธำรงไว้ซึ่งอำนาจธิปไตย ความมั่นคงและผลประโยชน์ด้านการพัฒนาของชาติ และบอกด้วยว่าการกระทำของสหรัฐฯ จะสร้างความเสียหายที่ร้ายแรงต่อผลประโยชน์ ทั้งของผู้บริโภคชาวจีนและชาวอเมริกัน และไม่ดีอย่างยิ่งต่อเสถียรภาพของอุตสาหกรรมโลกและห่วงโซ่อุปทาน  รวมถึงความพยายามบรรเทาวิกฤตเงินเฟ้อและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก 

สงครามการค้าระอุอีกครั้ง จีนยอมหักไม่ยอมงอต่อกฎหมายแรงงานสหรัฐฯ


ผู้เชี่ยวชาญหลายคนชี้ว่าจีนมีพาวเวอร์พอที่จะใช้มาตรการตอบโต้ รวมทั้งการร้องเรียนต่อองค์การการค้าโลก (WTO) หรือแม้กระทั่งศาลการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (US Court of International Trade) หรือ CIT ฐานละเมิดหลักการการค้าเสรีและไม่เลือกปฏิบัติ โดยเหอ เหว่ยเวิน อดีตที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและการค้าประจำกงสุลจีน ประจำนิวยอร์กและซานฟรานซิสโก 


ซึ่งปัจจุบันเป็นนักวิชาการอาวุโสของสถาบันคลังสมอง "Centre for China and Globalisation" ในกรุงปักกิ่ง ให้ความเห็นว่าถ้าจีนยื่นฟ้องจริง รัฐบาลสหรัฐฯ ก็จะต้องแสดงหลักฐานการบังคับใช้แรงงานในซินเจียง ซึ่งเชื่อว่า "ไม่มีอย่างแน่นอน"


ทั้งนี้ ความเป็นอยู่ของชาวซินเจียงที่ถูกจุดชนวนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน จนลุกลามกลายเป็นอาวุธที่ใช้ห้ำหั่นกันในทางการค้านี้ เกิดจากการร้องเรียนเรื่องการบังคับใช้แรงงาน รวมถึงการกักขังและติดตั้งวงจรปิดเพื่อเฝ้าดูตลอด 24 ชั่วโมง สภาคองเกรสของสหรัฐฯ ระบุว่า จีนกักขังชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมอื่นๆ มากกว่า 1 ล้านคน นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา 

สงครามการค้าระอุอีกครั้ง จีนยอมหักไม่ยอมงอต่อกฎหมายแรงงานสหรัฐฯ


และเชื่อว่าพวกเขาถูกบังคับให้ทำงานหนักแลกกับเศษเสี้ยวของค่าแรงขั้นต่ำ หรือปราศจากการชดเชยใด ๆ ในซินเจียงและมณฑลอื่น ๆ ภายใต้หน้ากาก "โครงการบรรเทาความยากจนและการช่วยเหลือด้านอุตสาหกรรม" ส่วนผลผลิตที่นำออกจำหน่ายอยู่ภายใต้ชื่อ "Xinjiang Production and Construction Corps" หรือ XPCC ที่ก่อตั้งมาเกือบ 70 ปี ควบคุมโดยทหาร มีตั้งแต่เครื่องนอนจนถึงมะเขือเทศบด แต่ที่ขึ้นชื่อและเป็นหน้าเป็นตาที่สุดคือ "ฝ้าย" ที่ครองสัดส่วน 1 ใน 5 ของฝ้ายในห่วงโซ่อุปทานโลก 


"ฝ้ายซินเจียง" (Xinjiang cotton) คือ หลักฐานสำคัญ ที่สำนักข่าวตะวันตกใช้ตีแผ่การบังคับใช้แรงงานชาวอุยกูร์อย่างร้ายแรงและต่อเนื่องโดย XPCC ทั้งยังเปิดโปงแบรนด์แฟชั่นระดับแถวหน้าของโลกอย่าง  Adidas, Lacoste, H&M หรือ Ralph Lauren ด้วยว่า มีฝ้ายซินเจียงในห่วงโซ่อุปทาน เสื้อผ้าแบรนด์ดังของญี่ปุ่นก็พลอยโดนหางเลขไปด้วย


เช่น Uniqlo กับ Muji โดยเมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้ว สหรัฐฯ สกัดไม่ให้เสื้อเชิร์ตผู้ชายของ Uniqlo เข้าประเทศ เพราะกลัวว่าจะผลิตจากฝ้ายซินเจียง และทาง Uniqlo ไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธ 


ส่วน Muji ถูกวิจารณ์หนักหลังเปิดตัวเสื้อเชิร์ตผ้าอ๊อกซ์ฟอร์ด ที่ผลิตจากฝ้ายออแกนิกอย่างปราณีตและคัดสรรมาอย่างดีในซินเจียงเมื่อปี 2562 แต่  Muji ยืนยันว่าไม่ได้ส่งสินค้าที่เกี่ยวข้องกับซินเจียงไปยังสหรัฐฯ แต่ก็ไม่ยอมบอกเช่นกันว่า ได้ส่งไปขายประเทศอื่นๆ หรือไม่... สำหรับคนที่อยู่นอกสหรัฐฯ กางเกงยีนส์ที่สวมใส่หรือเชิร์ตผ้าฝ้ายที่คลายร้อน อาจมาจากซินเจียงก็เป็นได้

สงครามการค้าระอุอีกครั้ง จีนยอมหักไม่ยอมงอต่อกฎหมายแรงงานสหรัฐฯ