ตามรอยที่มาที่ไป การถวายสมัญญานาม “มหาราช” ให้ในหลวง ร.9  รู้เบื้องลึกเหตุใดพ่อหลวงไม่ประสงค์ยอมรับการถวายพระเกียรติ

ตามรอยที่มาที่ไป การถวายสมัญญานาม “มหาราช” ให้ในหลวง ร.9 รู้เบื้องลึกเหตุใดพ่อหลวงไม่ประสงค์ยอมรับการถวายพระเกียรติ

หลังจากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช.ออกมาเปิดเผยล่าสุดว่า รัฐบาลอยู่ระหว่างดำเนินการพิจารณาเทิดพระเกียรติพระราชสมัญญานาม "มหาราช"  แก่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  รัชกาลที่ 9 เพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่มีต่อคนไทยและประเทศไทยอย่างหาที่สุดไม่ได้    ล่าสุดเพจเฟซบุ้ค.....”ตามรอยพ่อ” ได้นำข้อมูลที่มาที่ไปของการถวายพระราชสมัญญานามมหาราชแก่ในหลวง ร.9 ในอดีตมาชี้แจงให้ทราบใจความว่า.... ความเป็นมาของการถวายพระราชสมัญญา "มหาราช"   หากมองย้อนเวลากลับไป จะพบว่าแท้จริงแล้วพสกนิกรในแผ่นดินนี้ได้เคยมีมติ เห็นพ้องต้องกันตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 แล้วว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” ควรคู่แก่คำว่า “มหาราช” ตามคุณสมบัติการเป็น “อัจฉริยบุรุษ” กษัตริย์ผู้กอบกู้ผืนแผ่นดินไทยจากความทุกข์ยากแสนสาหัสในหลากหลายมิติ แต่เมื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาในครั้งแรกนั้น พระองค์กลับมีพระราชกระแสรับสั่งว่า ยังไม่ต้องพระราชประสงค์ ด้วยทรงไม่แน่พระทัยโดยทรงมีการตั้งข้อสงสัยเอาไว้ 2 ประการหลักๆ คือ ประการแรก พระองค์ทรงอาวุโสควรคู่แก่การดำรงตำแหน่งมหาราชแล้วหรือไม่ และประการที่สอง ปวงชนชาวไทยจงรักภักดีต่อพระองค์มากเพียงใด 

 

 

ภายหลังทรงมีพระราชดำริออกมาในครั้งนั้น การน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญานามเพื่อสรรเสริญพระเกียรติจึงถูกเลื่อนออกไป รอให้พระองค์ถึงพร้อมในคุณสมบัติทั้งสองประการอย่างไร้ข้อสงสัยในพระราชหฤทัยเสียก่อน ต่อมาในปี พ.ศ.2530 มีการผูกพระราชสมัญญาขึ้น 15 พระราชสมัญญา แล้วให้มีการสำรวจประชามติโดยพระราชสมัญญาจากมติของปวงชนชาวไทย ประชาชนจำนวน 34 ล้านคน ลงมติเลือกพระราชสมัญญา “สมเด็จพระภูมิพลมหาราช” ขณะที่ 6 ล้านคนเลือก “สมเด็จพระภัทรมหาราช”

“ภูมิพลมหาราช” มีความหมายว่า กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ทรงเป็นกำลังของแผ่นดิน เป็นพระนามพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และ “ภัทรมหาราช” หมายความว่า กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งเป็นท่ีรักของปวงชน ต่อมาในปี พ.ศ.2539 มีการถวายใหม่ว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช"และ "พระภูมิพลมหาราช" อนุโลมตามธรรมเนียมเช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงได้รับพระราชสมัญญาว่า "พระปิยมหาราช"

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร คือ “มหาราช” องค์ที่ 7 แห่งแผ่นดินสยาม ถัดจากทั้ง 6 พระองค์ก่อนหน้า คือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช   ในการลงประชามติ การลงนามร่วมกันขอถวายพระราชสมัญญานามให้ทรงเป็น"มหาราช" ในโอกาสที่เสด็จขึ้นครองราชย์ 50 ปี มีหลักฐานการลงนามของคนไทยทั้งชาติเก็บรักษาไว้ ณ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพมหานคร

ก่อนหน้านี้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯฝ่ายฏหมาย เคยกล่าวในการปาฐกถาหลายเวทีเกี่ยวกับพระราชประสงค์ของในหลวง ร.9 เกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยระบุว่า พระองค์ไม่ประสงค์ที่จะแต่งตั้งตัวพระองค์เองเพื่อให้คนอื่นยกย่อง แม้จะมีการเสนอถวายพระเกียรติจากรัฐบาลหนึ่งในอดีตให้พระองค์มีพระราชสมัญญานามมหาราชแต่ก็ไม่ทรงโปรด 
 

ตามรอยที่มาที่ไป การถวายสมัญญานาม “มหาราช” ให้ในหลวง ร.9  รู้เบื้องลึกเหตุใดพ่อหลวงไม่ประสงค์ยอมรับการถวายพระเกียรติ

 

"รัฐบาลสมัยหนึ่งเคยมีการเสนอให้จารึกคำว่ามหาราชต่อท้ายพระนามในเหรียญเฉลิมพระเกียรติที่จะมีการจัดสร้างขึ้น  เมื่อพระองค์ท่านรับทราบ ก็ให้คนมาแจ้งกระแสรับสั่งถึงรัฐบาลใจความว่า  ท่านไม่ทรงโปรดและจะไม่ลงพระปรมาภิไธยในการออกกฏหมายและการทำเหรียญดังกล่าว เพราะหากลงพระปรมาภิไธยไปแล้ว ก็เท่ากับเป็นการสถาปนาพระองค์เองขึ้นเป็นมหาราช  ซึ่งความจริงคำว่ามหาราชเป็นคำที่ผู้อื่นใช้เรียก ไม่ใช่แต่งตั้งตัวเอง ท่านก็ให้หลักไว้แบบนี้ จากนั้นเป็นต้นมาเลยไม่มีรัฐบาลใดเสนอเรื่องนี้ขึ้นไปอีก นี้คือตัวอย่างความพอเพียง พอดีของพระองค์ท่าน” รองนายกฯกล่าว  และปิดท้ายว่า ถือเป็นการครองตัว ครองตน ครองงาน ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคนไทยมาตลอดตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์ 

หนึ่งในเรื่องราวที่งดงามของในหลวง ร .9 ที่คนไทยจะจำฝังใจมิรู้ลืม