ตะลึง !! คลังเผยยอดพีเอสเอ "จำนำข้าวปู" ฟาดไป 5 แสนล้าน

ติดตามข่าวสารข้อมูล www.tnews.co.th

 

 


  "สศค."  เผยตัวเลขยอดปล่อยสินเชื่อ พร้อมพีเอสเอตั้งแต่ปี 52  โดยเป็นตัวเลขจำนำข้าวกว่า 5 แสนล้าน 
 

 

 

 


วันนี้ ( 2 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยถึงกรณีที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) มียอดปล่อยสินเชื่อคงค้างกว่า 789,736 ล้านบาท ว่า ตัวเลขที่เกิดขึ้นเป็นการรวบรวมข้อมูลการดำเนินโครงการตามนโยบายรัฐบาลที่แยกบัญชี หรือ (พีเอสเอ) ตั้งแต่ปี 52 แบ่งเป็นที่เกิดก่อนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหาร 691,286 ล้านบาท โดยเป็นจำนำข้าวกว่า 500,000 ล้านบาท และที่เพิ่มขึ้นหลัง คสช.เข้ามาบริหารเพียง 98,450 ล้านบาท แต่ยังไม่รวมโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) วงเงิน 150,000 ล้านบาท

 

 

 

 

ทั้งนี้ การจัดเก็บตัวเลขดังกล่าว ถือเป็นการสร้างความโปร่งใสทางการคลัง เพื่อให้สาธารณชนสามารถเข้ามาตรวจสอบการใช้เงินงบประมาณจากนโยบายของรัฐบาล โดยยอดปล่อยสินเชื่อคงค้างกว่า 789,736 ล้านบาทนั้น ส่งผลให้เกิดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ 10,483 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งมีทั้งที่กระทรวงการคลังต้องชดเชยและไม่ต้องชดเชย โดยส่วนใหญ่จะเป็นการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาต่าง ๆ ทั้งเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยพิบัติ เช่น ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาภัยแล้ง เป็นต้น

 

 

 

 

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สถานะการดำเนินโครงการตามนโยบายรัฐบาลที่แยกบัญชี หรือ (พีเอสเอ) ที่รวบรวมจากนโยบายรัฐบาล ผ่านแบงก์รัฐ ทั้ง 6 แห่ง โดยเป็นหนี้ที่เกิดก่อนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหาร 691,286 ล้านบาท ได้แก่ ธนาคารออมสิน สินเชื่อคงค้าง 31,524 ล้านบาท, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สินเชื่อคงค้าง 620,758 ล้านบาท, ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สินเชื่อคงค้าง 8,162 ล้านบาท , ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) สินเชื่อคงค้าง 6,325 ล้านบาท, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) สินเชื่อคงค้าง 22,332 ล้านบาท และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) สินเชื่อคงค้าง 2,183 ล้านบาท

 

 

 

 

ขณะที่ หนี้ที่เพิ่มขึ้นหลัง คสช.เข้ามาบริหารมีเพียง 98,450 ล้านบาท ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน สินเชื่อคงค้าง 12,353 ล้านบาท, ธ.ก.ส. สินเชื่อคงค้าง 85,910 ล้านบาท, ธพว. สินเชื่อคงค้าง 187 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการดำเนินงานที่ช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระจากปัญหาภัยพิบัติ และการดำเนินนโยบายรัฐบาล ในการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในอัตราดอกเบี้ยต่ำ