กลิ่นไม่ค่อยดี !! “ดร.สามารถ” ส่องกล้องแผนเดินหน้าโครงการบีอาร์ที ใช้งบกทม.แท้ๆ แต่ทรัพย์สินกลายเป็นของเอกชน #เข้าข่ายล็อกสเปก??

ติดตามรายละเอียด http://deeps.tnews.co.th/

กลับมาเป็นข่าวใหญ่อีกครั้งสำหรับแผนการเดินหน้าโครงการรถประจำทางด่วนพิเศษ หรือบีอาร์ที  ของกรุงเทพมหานคร  ภายหลังจาก พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  ตัดสินใจไม่ยกเลิกโครงการ  เนื่องจากเป็นระบบขนส่งมวลชนที่ช่วยแบ่งเบาปัญหาการจราจรในเขตพื้นที่การเดินรถได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตามกับความก้าวหน้าของโครงการบีอาร์ทีที่จะเกิดขึ้น  ก็มีประเด็นให้ต้องติดตามในหลายจุด  เช่นล่าสุดกับมุมมองของ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์   อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์  ซึ่งโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว   มีใจความสำคัญหลายประเด็นเกี่ยวเนื่องกับการประมูลโครงการ

กลิ่นไม่ค่อยดี !! “ดร.สามารถ” ส่องกล้องแผนเดินหน้าโครงการบีอาร์ที ใช้งบกทม.แท้ๆ แต่ทรัพย์สินกลายเป็นของเอกชน #เข้าข่ายล็อกสเปก??

 

 

“ ผมดีใจที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ตัดสินใจเดินหน้าให้บริการรถประจำทางด่วนพิเศษ หรือบีอาร์ที (Bus Rapid Transit) ต่อไป ไม่ยกเลิกตามที่เป็นข่าวเกรียวกราวเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

 

โครงการนี้ กทม.ได้ว่าจ้างบริษัท  กรุงเทพธนาคม จำกัด  หรือเคที  ซึ่งเป็นบริษัทของ กทม.เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถตาม “สัญญาจ้างบริหารจัดการเดินรถ” เลขที่ 22-13-53 ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2553 โดยได้ว่าจ้างเป็นระยะเวลา 7 ปี ในช่วงระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม 2553 ถึง วันที่ 28 พฤษภาคม 2560 เป็นเงินจำนวน 1,553,267,380 บาท หรือคิดเป็นค่าจ้างเฉลี่ยปีละประมาณ 222 ล้านบาท

 

ค่าจ้างนี้ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดเดินรถ ที่สำคัญ ค่าจ้างจำนวนนี้ได้รวมค่าจัดหารถบีอาร์ทีจำนวน 25-30 คัน วงเงิน 213-249 ล้านบาท ไว้ด้วยแล้ว
ในวันเดียวกันนั้น คือวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2553 เคทีได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส เป็นผู้เดินรถแทนตนเองตาม “สัญญาจ้างผู้เดินรถพร้อมจัดหารถโดยสาร” เลขที่ กธ.ส.001/53 เป็นระยะเวลา 7 ปี ในช่วงระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม 2553 ถึง วันที่ 28 พฤษภาคม 2560 

 

เช่นเดียวกัน ในสัญญาฉบับนี้ระบุให้บีทีเอสส่งมอบรถบีอาร์ทีจำนวน 10 คัน ภายในวันที่ 24 เมษายน 2553 และจำนวน 15 คัน ภายในวันที่ 30 เมษายน 2553 โดยใช้เงินที่เคทีได้รับมาจาก กทม.

 

อ่านมาถึงตอนนี้ทุกท่านคงเข้าใจว่ารถบีอาร์ทีทั้งหมดจะตกเป็นของกทม. ผมเองก็เข้าใจเช่นนั้น แต่ผมได้รับข้อมูลมาว่ารถบีอาร์ทีทั้งหมดตกเป็นของบีทีเอส ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง นับว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาดมาก เป็นไปได้อย่างไร เพราะใช้เงินของกทม.ซื้อ รถก็ต้องเป็นของกทม. อย่างไรก็ตาม ผมได้ตรวจสอบข้อมูลเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่งกับกรมการขนส่งทางบก ปรากฏว่ารถบีอาร์ที จดทะเบียนในนามบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสจริง
ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2560 ที่จะถึงอีกไม่นานนี้ สัญญาว่าจ้างเคทีและบีทีเอสจะสิ้นสุดลง 

 

กทม.จึงมีมติมอบให้เคทีเป็นผู้บริหารจัดการเดินรถต่อไป โดยเคทีได้ประกาศเชิญชวนให้บริษัทที่สนใจเข้าร่วมประมูลแข่งขันเป็นผู้เดินรถ ปรากฏว่ามีผู้สนใจจำนวน 4 ราย รวมทั้งบีทีเอสซึ่งเป็นผู้เดินรถรายเดิมด้วย การเปิดประมูลเป็นแนวทางที่เหมาะสม เพราะจะทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมทั้งด้านราคาและคุณภาพ แต่เอาเข้าจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง หรือทีโออาร์ (Terms of Reference) ที่เคทีใช้ในการประมูลนั้น มีสาระสำคัญข้อหนึ่งที่ไม่เป็นธรรม กล่าวคือ ทีโออาร์ข้อ 9.6 ระบุว่า

 

“ผู้รับสิทธิจะต้องจัดให้มีรถโดยสารอย่างน้อย 25 คัน โดยรถโดยสารมีคุณสมบัติที่สำคัญดังนี้
1. ลักษณะของตัวรถโดยสารเป็นไปตามมาตรฐานของกรมการขนส่งทางบก
2. มีประตูทางเข้า-ออก ด้านขวาอย่างน้อย 1 ฝั่ง
3. พื้นรถ (Floor) มีความสูงจากระดับพื้นถนน 90 เซนติเมตร เพื่อให้อยู่ในระดับเดียวกับชานชาลาสถานี”
เห็นสเปกรถบีอาร์ทีเช่นนี้แล้ว คนในวงการก็รู้ได้ทันทีว่ามีเฉพาะบีทีเอสเพียงบริษัทเดียวเท่านั้นที่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ เนื่องจากมีรถตามสเปกดังกล่าวอยู่ในมือแล้ว บริษัทอื่นอีก 3 บริษัท ไม่สามารถจัดหารถโดยสารที่มีสเปกดังกล่าวได้ทันเวลาแน่ เมื่อเป็นเช่นนี้ การประมูลก็จะไม่มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมทั้งด้านราคาและคุณภาพ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการที่อาจจะได้รับคุณภาพการให้บริการไม่ดีพอ อีกทั้ง บีอาร์ทีก็จะไม่สามารถจูงใจให้มีผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้นได้ด้วย

 

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอเรียกร้องให้กทม. พิจารณาดำเนินการดังต่อไปนี้

1. ตรวจสอบว่าใครเป็นเจ้าของรถบีอาร์ทีกันแน่ หากบีทีเอสเป็นเจ้าของ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น เพราะใช้เงินของกทม.ซื้อรถบีอาร์ทีทั้งหมด
2. แก้ไขทีโออาร์ให้เกิดความเป็นธรรม เพื่อให้มีการแข่งขันทั้งด้านราคาและคุณภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการ
หากกทม. บอกว่าไม่สามารถแก้ไขทีโออาร์ได้ ก็เซ็นสัญญาว่าจ้างบีทีเอสโดยตรงไปเลย จะเปิดประมูลให้เสียเวลาทำไม เพราะบริษัทอื่นไม่สามารถเข้าร่วมประมูลด้วยได้

 

ทั้งหมดนี้ ด้วยความห่วงใยกทม. ที่อาจจะถูกกล่าวหาได้ว่าล็อกสเปกให้บีทีเอส!!!”

 

 

กลิ่นไม่ค่อยดี !! “ดร.สามารถ” ส่องกล้องแผนเดินหน้าโครงการบีอาร์ที ใช้งบกทม.แท้ๆ แต่ทรัพย์สินกลายเป็นของเอกชน #เข้าข่ายล็อกสเปก??

กลิ่นไม่ค่อยดี !! “ดร.สามารถ” ส่องกล้องแผนเดินหน้าโครงการบีอาร์ที ใช้งบกทม.แท้ๆ แต่ทรัพย์สินกลายเป็นของเอกชน #เข้าข่ายล็อกสเปก??

กลิ่นไม่ค่อยดี !! “ดร.สามารถ” ส่องกล้องแผนเดินหน้าโครงการบีอาร์ที ใช้งบกทม.แท้ๆ แต่ทรัพย์สินกลายเป็นของเอกชน #เข้าข่ายล็อกสเปก??

 

 

 

 

ขอบคุณ เฟซบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์