อ้างแบบคิดว่าคนไทยกินหญ้า? 40 ส.ส.เพื่อไทยดิ้นยื่น ป.ป.ช.หยุดคุ้ยคดี "พ.ร.บ.ลักหลับตี 4" อ้างเป็นอำนาจส.ส. แถมก.ม.ไม่ผ่าน-ไม่เกิดความเสียหาย

ติดตามข่าวสารที่ www.tnews.co.th

 

อ้างแบบคิดว่าคนไทยกินหญ้า?! 40 อดีต ส.ส.เพื่อไทยดิ้น ยื่น ป.ป.ช. หยุดคุ้ยคดีที่พวกตนผ่าน "ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอยลักหลับตอนตี 4" ช่วงปี 2556 อ้างอ้างเป็นอำนาจตรากฏหมายของสภา แถมกฎหมายไม่ผ่าน ไม่เกิดความเสียหายขึ้น และเป็นการการล่วงอำนาจนิติบัญญัติ

 

วันนี้ (25 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ตัวแทนอดีต 40 ส.ส.พรรคเพื่อไทย  ที่เคยร่วมกันเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ (ฉบับสุดซอย) นำโดย นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ,นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี,นางสมหญิง บัวบุตร อดีต ส.ส.อำนาจเจริญ, นายธวัชชัย สุทธิบงกช อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้เดินทางมาที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อเข้ายื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. ผ่านนายสุทธิ บุญมี ผอ.สำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ เพื่อขอความเป็นธรรมและคัดค้านกรณีที่ ป.ป.ช. จะตั้งคณะอนุกรรมไต่สวนคดีการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยมี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ เป็นประธานคณะอนุกรรมไต่สวนฯ

 

โดย นพ.เชิดชัย หนึ่งในแกนนำกลุ่ม ได้ยืนอ่านคำแถลงของว่า หลังจากได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีดังกล่าวแล้ว คณะ 40 ส.ส. ได้มีหนังสือไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ทบทวนการมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน โดยเห็นว่าคำสั่งที่กระทำการโดยไม่มีอำนาจและเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่สำนักงาน ป.ป.ช.กลับมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณา สรุปว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่อาจทบทวนการมีคำสั่งดังกล่าวได้ วันนี้คณะ 40 ส.ส. จึงได้ร่วมกันยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคณะอนุกรรมการไต่สวนชุดดังกล่าว ให้ยุติการไต่สวนข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว ด้วยเหตุผล 7 ประเด็น คือ 1.การเสนอร่างพ.ร.บ.เป็นกระบวนการใช้สิทธิของฝ่ายนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญที่ได้รับการคุ้มครองเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด ดังนั้น คณะ 40 ส.ส. จึงได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครอง คณะอนุกรรมการไต่สวนจะนำการเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไปเป็นเหตุฟ้อง หรือตั้งข้อกล่าวหาไม่ได้เป็นอันขาด 2.การเสนอร่างพ.ร.บ.เป็นกระบวนการหนึ่งในการตรากฎหมายที่อยู่ในงานของรัฐสภาโดยเฉพาะ จึงกฎหมายให้อำนาจ ป.ป.ช.เข้ามาตรวจสอบ 3.การตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นหลักการทางกฎหมายปกติ ที่ผ่านมามีการตรากฎหมายเช่นนี้ ถึง 23 ฉบับ ซึ่งการเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ก็ไม่ได้เป็นการขัดหรือแย้งต่ออนุสัญญาและกติการะหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตหรือคอรัปชั่น ไม่ได้มีบทบัญญัติใดขัดหรือแย้งต่อกติกาสากลระหว่างประเทศ 4.ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ได้มีเนื้อหาเป็นการไปเอื้อประโยชน์แก่ผู้หนึ่งผู้ใดเป็นการเฉพาะ และการทำหน้าที่ดังกล่าวไม่ถือเป็นการบิดผันการใช้อำนาจ สำหรับข้อกังวลว่าร่างกฎหมายนี้จะมีผลต่อคดีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในคดีที่ถูกศาลฎีกามีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินกว่า 46,000 ล้านบาท ก็ไม่เป็นความจริง เพราะแต่เนื้อหาของร่างกฎหมายมีการบัญญัติชัดเจนว่าผลของการนิรโทษกรรมไม่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องใดๆ แก่ผู้ได้รับนิรโทษในอันที่จะเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น และคดีดังกล่าว เป็นคดีแพ่งไม่ใช่คดีอาญาที่อยู่ในขอบเขตของร่างพ.ร.บ.นี้

 

 5.ในช่วงเวลาที่ ส.ส.ได้เสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว สถานการณ์ของประเทศอยู่ในภาวะที่เกิดความขัดแย้งแตกแยกรุนแรงในสังคมและในขณะนั้นมีการเสนอกฎหมายที่มีลักษณะเดียวกันถึง 6 ฉบับ ซึ่งมีเนื้อหาเป็นการนิรโทษกรรมเช่นกัน ซึ่งทุกฉบับล้วนมีเจตนาที่ต้องการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นของคนในชาติ ลืมความขัดแย้งและอดีตที่และให้อภัยต่อกัน 6.ในท้ายที่สุดร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไม่ถูกตราขึ้นเป็นกฎหมาย จึงไม่มีผลบังคับใช้ จึงอาจกล่าวได้ว่า คณะ 40 ส.ส.ไม่ได้กระทำความผิดใดๆ จากการร่วมกันลงชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ไม่อาจกล่าวได้ว่าเกิดความเสียหายใดๆ ขึ้น และ 7.เทียบเคียงกับกรณีประธาน ป.ป.ช. และประธานอนุกรรมการไต่สวนได้ร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.... ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญเช่นกัน และเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นลักษณะเดียวกับการเสนอและพิจารณาร่างพ.ร.บ.ทั่วไป

 

นอกจากนี้ นพ.เชิดชัย  ยังยกกรณีเทียบเคียงกับการที่ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ และน.ส.สุภา ปิยจิตติ เข้าไปร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างกฎหมาย ป.ป.ช. ซึ่งมีการเสนอแก้ไขจากหลักการของร่างเดิมหลายประการ อาทิ การให้กรรมการ ป.ป.ช. ที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ตามรัฐธรรมนูญยังคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้จนครบวาระ มีการการเพิ่มอำนาจให้กรรมการ ป.ป.ช. ในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารการดักฟังสื่ออิเล็กทรอนิคส์ต่างๆ ได้นั้น ล้วนเป็นการกระทำที่เป็นประโยชน์ทับซ้อนของบุคคลทั้งสอง และหากจะถือว่าเป็นการกระทำในฐานะการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถือว่าเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งมีความร้ายแรงยิ่งกว่ากรณีของคณะ 40 ส.ส. ซึ่งไม่มีข้อเท็จจริงใดสนับสนุนว่ามีการกระทำความผิดเลย ดังที่คณะ 40 ส.ส. จึงได้ยื่นหนังสือ ขอความเป็นธรรมและเสนอเหตุผลเพื่อขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ยุติการไต่สวนตามสาระสำคัญทั้ง 7 ประเด็น