ประยุทธ์ชู  4 อุตสาหกรรมอนาคตรุ่ง  สร้างคนรุ่นใหม่เป็นเศรษฐีข้ามคืน  “ อาหาร ผลไม้ การแพทย์ ท่องเที่ยว”  ยกตัวอย่างรายการ “อายุน้อยร้อยล้าน”

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 20.15 น. วานนี้ถึงการส่งเสริม 4 อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มดีเพื่อสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับคนไทยว่า   สิ่งที่เราจะต้องเร่งพัฒนาและให้ความสำคัญในอันดับต้น ๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและผลไม้ไทย รวมทั้งการแพทย์และการท่องเที่ยว ที่เรามีศักยภาพ โดยอาหารนั้นถือว่าเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่เราต้องพึ่งพาตนเองให้ได้ และสามารถต่อยอดสร้างมูลค่าเพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ มีผู้ได้รับผลประโยชน์ส่วนนี้มากมาย จำนวนพี่น้องเกษตรกร หรือบรรดาผู้มีรายได้น้อย จะอยู่ในวงจรดังกล่าว จำนวนมาก ส่วนเทคโนโลยีดิจิทัล Internet of things หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ AI  ที่เป็นทิศทางการพัฒนาของโลก ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ประกอบการ และช่วยให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า  สำคัญที่สุดคือ การพัฒนาคน คนไทยทุกคน ไม่จำเป็นต้องเป็น “คนไทย 4.0” เพราะเป็นไปไม่ได้ ตามที่เคยพูดไว้นานแล้ว  เราเป็น 4.0 คือเรียนรู้  เข้าใจและอยู่กับสังคม อยู่กับสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันให้ได้  นั่นคือ 4.0 แล้ว  เพราะว่าคนในสังคมก็เหมือนต้นไม้ในป่า ที่จะต้องมีหลากหลาย นานาพรรณ ต่างต้น ต่างประเภท ก็พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เราต้องสนับสนุน “คนรุ่น เก่ายุค Analog” ที่ถือว่าเป็นคลื่นลูกเก่า  ให้ปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลง ในขณะเดียวกัน ก็ต้องส่งเสริมบทบาท “คนรุ่นใหม่ ยุคดิจิทัล” ที่เป็นคลื่นลูกใหม่ ที่มากด้วยศักยภาพ มีหลักคิดที่ถูกต้องเป็นพื้นฐาน ให้ได้รับโอกาส ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ เหมือนหลายโครงการที่รัฐบาลมุ่งส่งเสริม อาทิ โครงการ “เน็ตประชารัฐ” ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การรับบริการภาครัฐ และในอีกหลาย ๆ ด้านแล้ว  ยังเป็นการสร้างโอกาส สร้างงานในทุกระดับ ทุกสาขาอาชีพ ขอเพียงให้มีหลักคิด “หลักการเรียนรู้ หลักการพัฒนาตนเอง”เป็นอย่างไร ที่ผมอยากให้เป็นอีกหลักคิดหนึ่งของ “ไทยนิยม” ที่จะนำพาประเทศชาติไปสู่ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ด้วย
 
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า  ผมมี 2 ตัวอย่าง เพื่อเป็นข้อคิด และแบบอย่าง ของการพัฒนาตนเอง ภายหลังจากการลงพื้นที่ภาคตะวันออก จังหวัดตราดและระยอง ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจัดทำ “ยุทธศาสตร์การค้าผลไม้ครบวงจร” เพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรและการค้าผลไม้ของไทย โดยมีวิสัยทัศน์ในภาพรวมของประเทศ ตามที่มีรายงานข่าวไปแล้ว   เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้ติดตามข่าวสารเลือกบริโภคสื่อ ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ จากทั้ง Internet และ Social Media แล้วได้พบตัวอย่าง “ผู้ประกอบการ รุ่นใหม่” ที่ประสบความสำเร็จ ในเรื่องการแปรรูปผลไม้ไทยจากรายการสร้างสรรค์สังคม ชื่อ “อายุน้อยร้อยล้าน” ซึ่งมีอีกหลายรายการที่ดี แต่ยังไม่มีโอกาสนำมาเล่าให้ฟัง   ตัวอย่างแรก เป็น “การอบแห้ง” ผลไม้ไทย โดยยังสามารถรักษาคุณภาพทางโภชนาการ เป็นของขบเคี้ยว ที่มีประโยชน์มากกว่าขนมกรุกรอบ ที่อาจไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพเยาวชนของเราในระยะยาว  ส่งขายหลายประเทศ ทั้งในอาเซียน ญี่ปุ่น จีน อเมริกา 

ตัวอย่างที่สอง เป็น “การทำสบู่” จากผลไม้ไทย ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้า กว่า 20 ประเทศ ทั่วโลก  สิ่งที่ผมสังเกตเห็น มีหลายประการที่คล้าย ๆ กัน คือ (1) การเริ่มทำธุรกิจจากสิ่งที่ตนเองชอบ สิ่งใกล้ตัว ช่วยให้มีแรงผลักดัน (2) การศึกษาค้นคว้า หาความรู้เพิ่มเติม ทั้งในเรื่องการผลิต  การแปรรูป  การตลาด จากนักวิชาการ จากสื่อออนไลน์ รวมถึงการลงพื้นที่ เพื่อรับทราบข้อมูล  ข้อเท็จจริง มาปรับปรุง มาพัฒนากระบวนการผลิต ตัวผลิตภัณฑ์ ให้ตอบรับตลาด เพราะลูกค้าในประเทศเป้าหมายมีความชื่นชอบผลไม้ไทยแตกต่างกันไป (3) การเพิ่มทักษะด้านภาษา เพื่อการติดต่อสื่อสารและการเปิดตลาด โดยเฉพาะภาษาอังกฤษที่เป็นภาษาสากล ภาษาจีนก็เป็นโอกาสทางตลาดขนาดใหญ่ และภาษาประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีความเชื่อมั่นในสินค้าไทยเป็นทุนเดิม ซึ่งมีโอกาสการเติบโตทางธุรกิจอีกมาก   และ (4) ความกล้าหาญ ความอดทน อุตสาหะ ซึ่งทั้ง 2 ผู้ประกอบการตัวอย่างนี้ ไม่ได้ประสบความสำเร็จตั้งแต่ครั้งแรก แต่ผ่านอุปสรรค เกือบล้มเหลว แต่ไม่ยอมแพ้ จนประสบความสำเร็จได้ในวันนี้ ขอชื่นชม

สำหรับหน้าที่ของรัฐบาล คือการเตรียมการให้ทุกคน ได้รับโอกาสในการสร้างงาน ประกอบอาชีพ อย่างเท่าเทียมกัน อาทิ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคม เพื่อเชื่อมโยงแหล่งผลิตกับตลาด ทั้งภายในและภายนอกประเทศ  โครงการ “เน็ตประชารัฐ” เพื่อให้ทุกคนค้นคว้าหาความรู้ โฆษณาสินค้า ติดต่อตลาด e-Commerce และสถาบันการเงินประชาชน เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนให้พี่น้องประชาชน ในแต่ละท้องถิ่นของตน ตามที่ผมได้กล่าวไปแล้ว ในสัปดาห์ที่ผ่านมา  ผมหวังว่าที่กล่าวมานั้น จะเป็นแรงบันดาลใจหรือแนวทางในการประกอบอาชีพของหลายต่อหลายคน ที่ไม่ย่อท้อ ตามความฝัน ให้เป็นเจ้าของธุรกิจของตนเอง ด้วย  จะเห็นได้ว่าไม่ง่ายนัก แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ยากจนเกินไป ถ้าเรามีความเพียรพยายาม ขอให้ทุกคนได้เดินหน้าไปสู่สิ่งนั้น สิ่งที่เราต้องการให้ได้โดยเร็ว
//////////////