สะเทือนประชาธิปัตย์!! คนรุ่นใหม่ กปปส. ย่องพบ "สมคิด" หรือมีเซอร์ไพร์สทางการเมือง

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

   การเมืองร้อน ต้อนรับเดือนเมษายน   กับสถานการณ์ในพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากตั้งโต๊ะ เปิดพรรคให้สมาชิกเก่า แสดงตัวยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคในวันที่1 เม.ย. ที่ผ่านมา บรรยากาศในวันนั้นเต็มไปด้วยความคึกคัก  โดยเฉพาะความเคลื่อวไหวที่น่าสนใจ การปรากฏตัวของอดีต 9แกนนำกปปส.

   ตามที่เคยได้รายงานกันไปแล้วนั้นว่า อดีตส.ส. 9 แกนนำ กปปส. มีอดีตแกนนำ กปปส. อย่าง นายสกลธี ภัททิยกุล และ นายชุมพล จุลใส แสดงตัวขอกลับเข้าร่วมงานกับพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง ส่วนแกนนำอีก 5 คน เช่น นายถาวร เสนเนียม, นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์, นายวิทยา แก้วภราดัย , นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากพ้นสภาพสมาชิก จาการลาอุปสมบทไปก่อนหน้านี้
นายเอกนัฎ ว่า ยังคงทำกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์ และที่เดินทางมาที่พรรคก็เพื่อยืนยันในส่วนนี้   ทั้งนี้แม้จะเคยร่วมอุดมการต่อสู้เคลื่อนไหวกับนายสุเทพมา ก็ไม่มีปัญหาความขัดแย้งใด ๆ เพราะภารกิจนั้นสิ้นสุดลงหลังจากที่มีการรัฐประหาร ซึ่งผู้ที่เคยร่วมต่อสู้ก็สามารถสานต่อเจตนารมณ์ตามความถนัดของแต่ละคน ไม่ว่าจะอยู่ในพรรคเก่าหรือตั้งพรรคใหม่ โดยทุกคนทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่มีอะไรบาดหมางกัน ถือเป็นสิทธิของแต่ละคนที่จะสนับสนุนพรรคการเมืองไหน และขอยืนยันว่าอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ ก็จะสานต่อเจตนารมณ์ของพรรคที่จะร่วมกันปฏิรูปเปลี่ยนแปลงพรรคให้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ตามที่หัวหน้าพรรคประกาศไว้ โดยไม่มีเงื่อนไขเรื่องการสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี
ในวันเดียวกันนายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงการยืนยันเป็นสมาชิกพรรค ของสมาชิกที่เป็นกปปส. ว่า ยืนยันว่านอกจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ ที่ลาออกไป และนายธานี เทือกสุบรรณ อดีตส.ส.สุราษฏร์ฯ ที่แสดงเจตนาว่าจะเป็นผู้ไปจดแจ้งพรรคการเมืองใหม่ ก็ยังไม่มีอดีตส.ส.ท่านอื่น มาบอกว่าจะไม่มาร่วมงานกับเรา และเท่าที่ตนสังเกตวันนี้มีหลายท่านมายืนยันสมาชิกพรรคแล้ว บางท่านที่มายืนยันไม่ได้เนื่องจากไปบวช แล้วพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรค ก็ต้องรอสมัครสมาชิกพรรคใหม่ อย่างไรก็ตาม
จากรูปการแล้ว คล้ายกับ อดีตแกนนำกปปส. กับพรรคประชาธิปัตย์ น่าจะลงตัว ไปในทิศทางเดียวกัน โดยเชื่อว่าทุกคนพร้อมสนับสนุนหัวหน้าพรรคเป็นนายกฯ พร้อมกับคำประกาศกร้าวจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ไล่ตะเพิดอดีตสส.พรรคที่คิดจะหนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นนายกฯหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า  ขอให้ไปสังกัดพรรคอื่น ดูท่าจะไปด้วยสวยสำหรับพรรคประชาธิปัตย์กับอดีตแกนนำกปปส. จนกระทั้งมีผู้ตาดีเห็นอดีตแกนนำกปปส. คนรุ่นใหมบางส่วนย่องเข้าพบ“ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจก่อนหน้านี่ถูกจับตาถึงกระแสการจัดตั้งพรรคการเมือง แม้เจ้าตัวจะออกมาปฏิเสธก็ตาม

    เมื่อเวลา 13.30 น. ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายสกลธี และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำ กปปส. พร้อมด้วยนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ อดีต ส.ส.สิงห์บุรี พรรคชาติไทย ได้เดินทางเข้าพบนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ห้องทำงาน ตึกบัญชาการ 1 ใช้เวลานานกว่า 2 ชั่วโมง โดยมีรายงานว่า การเข้าพบครั้งนี้นายสกลธีเป็นผู้นำทั้งสองคนมาหานายสมคิดเพื่อพูดคุยถึงอนาคตทางการเมือง เพราะทั้งสองคนถือเป็นบุคคลที่ยังไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใด โดยนายณัฏฐพลได้ขาดจากความเป็นสมาชิกพรรค เนื่องจากไปบรรพชามา ส่วนนายชัยวุฒิตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคชาติไทยก็ยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด   

   จากนั้นนายณัฏฐพล กล่าวภายหลังเข้าพบว่า มาหารือเกี่ยวกับโรงเรียนนานาชาติของตนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่าจะพัฒนารองรับบุตรหลานนักลงทุนได้อย่างไรหรือไม่ 

   เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามว่า จะไปยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ นายณัฏฐพล กล่าวว่า ตนขาดความเป็นสมาชิกภาพแล้ว เพราะในช่วงที่ผ่านมาได้ไปบรรพชามา เมื่อถามย้ำว่า แล้วจะไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ นายณัฐฏพล ยิ้มพร้อมกับกล่าวว่า ตอนนี้ขอทำโรงเรียนก่อน

   ขณะที่นายสกลธี กล่าวว่า ตนได้ยืนยันความเป็นสมาชิกกับพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 1 เม.ย.แล้ว

  ด้านนายสมคิด กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ไม่มีอะไร ไม่ใช่เรื่องการเมือง
ทั้งนายสกลธี และนายณัฏฐพล ต้องถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่ ไฟแรงของแวดวงการเมืองไทยเลยทีเดียว และประวัติที่ผ่านมาก็ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว

    นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีตผู้อำนวยการพรรคประชาธิปัตย์ และ ประธานสโมสรทีมฟุตบอลบางกอกเอฟซี นายณัฏฐพล เป็นนักธุรกิจ ผู้บริหารกิจการกระเบื้องคัมพานา พรมไทปิง และพรม Royal Thai เคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและการขาย บริษัท อุตสาหกรรมพรมไทย จำกัด (มหาชน) และ กรรมการบริหาร บริษัท ไทย-เยอรมัน เซรามิค อินดัสทรีย์ จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ยังดำรงตำแหน่ง ผู้จัดการทั่วไป บริษัท รอยัลไทย จำกัด ประจำสาขาดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ดูแลการขยายตลาดพรม แบรนด์ "Royal Thai" ในพื้นที่ประเทศตะวันออกกลาง โดยประสานกับพาร์ตเนอร์ต่างประเทศจากดูไบ คือ เดป้า อินทีเรีย ในเครือเดป้ายูไนเต็ดกรุ๊ป บริษัทออกแบบตกแต่งภายในรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง และติดอันดับ Top 5 ของโลก

ผันตัวเองเข้าสู่วงการเมืองโดยลงสมัครรับเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งแรก ในการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ผลการเลือกตั้งได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 4 ไม่ได้รับเลือกตั้ง โดยแพ้ นายสุวัฒน์ วรรณศิริกุล รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน และภายหลังการเลือกตั้ง นายณัฏฐพล ได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ให้ดำรงตำแหน่งเป็น ผู้อำนวยการพรรคประชาธิปัตย์ ต่อมาในการเลือกตั้งซ่อม 11 มกราคม พ.ศ. 2552 นายณัฏฐพล ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งและได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. กรุงเทพมหานคร เขต 10 (ราษฎร์บูรณะ ทุ่งครุ บางบอน บางขุนเทียน) ได้รับคะแนนมากกว่า นายจารุวงศ์ เรืองสุวรรณ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ประมาณ 2 หมื่นคะแนน

           ในวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557 นายณัฏฐพล ได้ลาออกจากการเป็น ส.ส. และสมาชิกพรรค เพื่อเข้าร่วมเป็นแกนนำในการชุมนุมของกปปส.  โดยเป็นหนึ่งใน 9 แกนนำ และได้รับฉายาว่า "สี่ทหารเสือ" เนื่องจากหลายต่อหลายครั้งได้นำพาผู้ชุมนุมเข้าปฏิบัติการในลักษณะที่สุ่มเสี่ยงอันตรายและโลดโผน ร่วมกับแกนนำและแนวร่วมคนอื่น ๆ ที่เป็นวัยหนุ่มวัยเดียวกัน คือ นายชุมพล จุลใส, นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ และนายสกลธี ภัททิยกุล โดยนายณัฏฐพลถือเป็นแกนนำที่อาวุโสที่สุดในบรรดาแกนนำทั้ง 4 คนนี้ 

นอกจากนี้แล้ว นางทยา ทีปสุวรรณ ภรรยาของนายณัฏฐพล ก็ได้เข้าร่วมชุมนุมในครั้งนี้ โดยถือว่าเป็นแนวร่วมเคียงข้างสามี  ซึ่งในวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2557 ที่ทางกปปส.ชุมนุมแบบแยกเวทีออกทั้งหมดเป็น 7 เวที ปิดการจราจรตามทางแยกต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร นายณัฏฐพลและนางทยามีบทบาทเป็นแกนนำที่เวทีบริเวณแยกอโศก อีกทั้งในระยะแรกของการชุมนุมที่บริเวณสถานีรถไฟสามเสน นายณัฎฐพลก็เป็นผู้ออกไปสำรวจสถานที่และตัดสินใจเอาที่นี่เป็นที่ชุมนุมร่วมกับนายพุทธิพงษ์ และในการชุมนุมใหญ่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 มีการแจกสติกเกอร์จำนวน 1,000,000 แผ่น แก่ผู้ชุมนุม นายณัฏฐพลก็เป็นผู้ดำเนินการในส่วนนี้ และยังเป็นผู้ดูแลเรื่องเทคนิคเครื่องเสียงบนเวทีอีกด้วย

ต่อมาในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ศาลอาญาอนุมัติหมายจับแกนนำ กปปส. รวม 43 คน ผู้ต้องหาคดีกบฏ และความผิดอื่น รวม 8 ข้อหา เพื่อติดตามตัวมาดำเนินกระบวนการตามกฎหมาย นายณัฏฐพลเป็นผู้ต้องหาหมายเลขที่ 8
 

ขณะที่นายสกลธี ภัททิยกุล อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขต 4 พรรคประชาธิปัตย์ เป็นบุตรชายของพลเอกวินัย ภัททิยกุล อดีตเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)

นายสกลธี เข้ารับราชการในกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ต่อมาได้ทำหน้าที่เลขานุการของนายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม กระทั่งในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2550 นายสกลธี ได้ลาออกจากราชการเพื่อไปสมัครลงรับเลือกตั้งกับทางพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งจากการเป็นบุตรชายของ พล.อ.วินัย เลขาธิการ คมช. จึงทำให้ถูกมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจของ คมช. แต่ทั้งนายสกลธี พล.อ.วินัย และทางพรรคประชาธิปัตย์ได้ปฏิเสธเรื่องนี้อย่างสิ้นเชิง

ในการเลือกตั้งในปลายปี พ.ศ. 2550 นายสกลธี ลงสมัครในกรุงเทพมหานคร เขต 4 คือ เขตจตุจักร, บางซื่อ, หลักสี่ คู่กับนายบุญยอด สุขถิ่นไทย และนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ซึ่งได้รับเลือกตั้งทั้ง 3 คน

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย พ.ศ. 2554 นายสกลธี ได้ลงสมัครในกรุงเทพมหานคร เขต 11 คือ เขตหลักสี่ โดยมีคู่แข่งคือ นายสุรชาติ เทียนทอง บุตรชายของนายเสนาะ เทียนทอง ผลปรากฏว่า ไม่ได้รับการเลือกตั้ง

ช่วงการชุมนุมกปปส นายสกลธีถือเป็นแนวร่วมคนสำคัญคนหนึ่ง 1 ใน4 "สี่ทหารเสือ" ร่วมกับนายณัฏฐพล ในกลางดึกของคืนวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2557 นายสกลธีได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวระหว่างเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตามหมายศาลที่ออกมาในข้อหาการชุมนุม แต่ได้ถูกประกันตัวไปในวงเงิน 600,000 บาท ในเวลาต่อมาไม่นาน
เรียกได้ว่าการเคลื่อนไหวของอดีตแกนนำกปปส.กลุ่มนี้ต้องจับตามองอย่างต่อเนื่อง ในอนาคตอาจจะเกิดเรื่องเซอร์ไพก็เป็นได้