ศาลพิพากษาฏีกายืน! สั่งจำคุก3เกลอจัดสายล่อฟ้า หมิ่นยิ่งลักษณ์ ว.5 โฟรซีซั่นส์

ศาลพิพากษาฏีกายืน! สั่งจำคุก3เกลอจัดสายล่อฟ้า หมิ่นยิ่งลักษณ์ ว.5 โฟรซีซั่นส์

จากกรณีเมื่อวันที่ 20 ก.ย. ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์นัดอ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อ.630/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 8 และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์และโจทก์ร่วมยื่นฟ้อง นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาธิปัตย์, นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และนายศิริโชค โสภา อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ผู้ดำเนินรายการ “สายล่อฟ้า” ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมบลูสกาย เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา และดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136, 326, 328 และ 332 โดเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 และ 15 กุมภาพันธ์ 2555 จำเลยร่วมกันจัดรายการ “สายล่อฟ้า” ออกอากาศผ่านดาวเทียมบลูสกาย มีเนื้อหาหมิ่นประมาทใส่ความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้เสียหาย ทำนองว่าไม่เข้าร่วมภารกิจประชุมของรัฐสภา และน่าจะเดินทางไปกระทำภารกิจ ว.5 ที่โรงแรมโฟรซีซั่นส์

 

ทั้งนี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เห็นว่าจำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท โดยการโฆษณาตามฟ้องจริงให้จำคุกจำเลยทั้งสาม คนละ 1 ปี ปรับคนละ 5 หมื่นบาท แต่จำเลยทั้งสามไม่เคยต้องโทษมาก่อน จึงให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี ต่อมาจำเลยทั้งสามยื่นอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือว่าแล้วเห็นว่า ที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่า จำเลยปฎิบัติหน้าที่เป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ย่อมมีหน้าที่ตรวจสอบโจทก์ร่วม ซึ่งมีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินหรือเรื่องส่วนตัว ศาลเห็นว่าโจทก์ร่วมมีตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะซึ่งสามารถที่จะตรวจสอบได้ แต่การตรวจสอบต้องกระทำอยู่ภายใต้กฎหมาย หากการตรวจสอบกระทำไปโดยไม่คำนึงถึงผลที่เกิดและเผยแพร่ไปยังสื่อมวลชน ทำให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหาย และอาจส่งผลสร้างความเสียหายไปถึงกระบวนการยุติธรรมได้

 

“อีกทั้งการจัดรายการของจำเลยทั้งสามมีการใช้ถ้อยคำที่มีความหมายพิเศษ จากหลักฐานที่โจทก์ร่วมนำสืบว่าถ้อยคำของจำเลยทั้งสามแสดงให้คนทั่วไปเห็นว่า การกระทำของโจทก์เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมทางเพศ ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่าคำฟ้องโจทก์เป็นการนำข้อความของจำเลยคนละช่วงในการจัดรายการมาปะปนกันและเป็นการคาดคะเนของโจทก์ร่วมเอง เห็นว่า การฟ้องโจทก์จำเป็นต้องนำข้อความในส่วนที่มีลักษณะหมิ่นประมาทโจทก์มายื่นฟ้อง การยื่นฟ้องดังกล่าวจึงไม่ได้เป็นการตัดต่อข้อความ ซึ่งศาลจะเป็นผู้พิจารณาข้อความทั้งหมดเหมือนการอ่านหนังสือหรือชมภาพยนตร์ทั้งเรื่อง ไม่ได้มีการพิจารณาเฉพาะข้อความบางท่อน”

 

 

 

ส่วนที่จำเลยอ้างว่าเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริตเพื่อให้โจทก์ร่วมออกมาชี้แจงเหตุการณ์ที่ไปปฎิบัติภารกิจในวันดังกล่าว ศาลมองว่าการกระทำของจำเลยไม่ได้เป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริตแต่ลักษณะการพูดเป็นการชี้นำในรายการ ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับที่จำเลยอ้าง ส่วนที่จำเลยยังอุทธรณ์อีกว่าหากมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงถึงการทำภารกิจของโจทก์ร่วมในวันเกิดเหตุดังกล่าวจะเป็นเหตุไม่ต้องรับโทษเนื่องจากเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะนั้น ศาลเห็นว่าจำเลยไม่ได้นำสืบข้อเท็จจริงดังกล่าวในการต่อสู้คดี ที่จำเลยอุทธรณ์มานั้นยังรับฟังไม่ได้

 

ส่วนที่โจทก์ร่วมขอให้มีการลงโทษจำเลยโดยไม่รอการลงโทษ นั้นศาลเห็นว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวตัวโจทก์ร่วมเองก็ไม่ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุให้กระจ่าง การกระทำจำเลยต้องการให้โจทก์ร่วมออกมาชี้แจงเรื่องภารกิจในวันดังกล่าว การกระทำเป็นเจตนาดีสมควรให้รอการลงโทษ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามา ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืนจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 1 ปี ปรับคนละ 5 หมื่นบาท โทษจำให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี

 

อย่างไรก็ตามภายหลังฟังคำพิพากษา นายเทพไท ขอปรึกษาทนายความก่อนว่า จะยื่นฎีกาต่อสู้คดีหรือไม่ เนื่องจากสองศาลพิพากษาตรงกัน หากจะยื่นฏีกาต่อสู้คดี จะต้องมีการขออนุญาตฎีกา และล่าสุดวันนี้(24ม.ค.)ศาลได้นัดอ่านคำพิพากษาฏีกา ซึ่งฝ่ายโจทก์ได้ยื่นฎีกา ขอไม่ให้ศาลรอการลงโทษ ส่วนจำเลยยื่นฎีกา ขอให้ศาลยกฟ้องด้วย อย่างไรก็ตาม ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ทั้งฝ่ายโจทก์ และฝ่ายจำเลยต่างไม่ติดใจเอาความ จึงยื่นคำร้องขอถอนฎีกาออกจากการพิจารณาของศาลฎีกา

 

โดยในวันนี้จำเลยทั้งสามได้เดินทางมาศาลด้วย ซึ่งศาลฎีกาไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสามถอนฎีกา เพราะคดีนี้ศาลฎีกาทำคำพิพากษาเสร็จสิ้นและส่งให้ศาลชั้นต้นพร้อมอ่านแล้ว ศาลฎีกาจึงอ่านคำพิพากษาทันที โดยพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ร่วมซึ่งเป็นแผ่นดีวีดีอัดรายการและคำถอดเทปแล้ว มีคำเช่นว่า "ปูเอาอยู่" โดยจำเลยอ้างว่าเป็นฉายาตั้งแต่ช่วงน้ำท่วมปี 2554 นั้น แต่เมื่อพิจารณาบริบทซึ่งเป็นคำสนทนาของจำเลยทั้งสามแล้ว เป็นการสื่อความหมายไปในทางชู้สาวว่าวันที่ 8 ก.พ. 2555 โจทก์ร่วมไม่เข้าประชุมสภา แต่ไปที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ด้วยภารกิจอะไร ซึ่งแม้โจทก์ร่วมจะเป็นบุคคลสาธารณะที่จำเลยทั้งสามที่เป็น ส.ส. จะตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่วิธีการที่จำเลยทั้งสามพูดในเชิงชู้สาวดังกล่าวเป็นการกระทำโดยมิชอบ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

 

ส่วนที่โจทก์ร่วมขอให้ไม่รอการลงโทษนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าแม้การกระทำของจำเลยทั้งสามจะเป็นการกระทำที่มิชอบ แต่โจทก์ร่วมก็ไม่ชี้แจงข้อเท็จจริงการไม่เข้าร่วมประชุมสภาแล้วไปที่โรงแรมให้สาธารณชนรับทราบ โดยชั้นสืบพยาน โจทก์ร่วมก็ระบุเพียงว่าไปพบนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อสอบถามแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจ หากกรณีไม่เป็นความลับก็ไม่น่าทำให้เกิดความระแวงสงสัยเรื่องชู้สาวหรือผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งโจทก์ร่วมก็สามารถชี้แจงต่อสาธารณชนได้ การที่จำเลยเรียกร้องให้โจทก์ร่วมชี้แจงเป็นเจตนาดีเพื่อประโยชน์สาธารณะ พิพากษายืนให้จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 1ปี ปรับคนละ 5 หมื่นบาท โดยโทษให้รอลงอาญา