ในหลวงทรงสอน "วิธีปฏิบัติสู่ความสำเร็จ" เพียงทำสิ่งนี้ ความสำเร็จไม่หนีไปไหน

ติดตามเรื่องราวดีๆ แบบนี้ได้อีกมากมายที่ http://panyayan.tnews.co.th

 

 

 

การปฏิบัตินั้นก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก  โดยมากพูดถึงปฏิบัติก็กลัวกัน  เพราะว่าปฏิบัตินั้นมีวิธีต่างๆ  แล้วก็โดยมาก วิธีต่างๆ นั้นบรรยายกันมาว่า ต้องทำอย่างโน้นอย่างนี้ ต้องทรมาน ต้องเหน็ดเหนื่อย ต้องเสียเวลามาก  ไม่สามารถที่จะปลีกตัวออกมาปฏิบัติ

ความจริง ปฏิบัติพระพุทธศาสนาตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นไม่ใช่ของยาก  แต่ละคนทำได้ทั้งนั้น  แต่ว่าจะต้องมีความตั้งใจ

เมื่อเราอยากที่จะปฏิบัติธรรม มีความอยากแล้ว ก็หมายความว่าเรายินดี เราอยากที่จะปฏิบัติ  ถ้าเราสนใจพระพุทธศาสนาและปฏิบัติธรรมของพระพุทธศาสนา เริ่มสนใจก็เริ่มทำได้แล้ว

เพราะว่าถ้าคนเราไม่อยากปฏิบัติ ขี้เกียจปฏิบัติ หรือไม่คิดอ่านที่จะปฏิบัติ ก็ย่อมไม่ได้ปฏิบัติ  เมื่อไม่ได้ปฏิบัติแล้ว ความมืดก็ครอบคลุม เพราะว่าไม่ได้เปิดไฟ  แต่ถ้าเราอยากขึ้นมา และเห็นว่าศาสนานี้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ก็ย่อมเป็นการเปิดไฟ  แม้จะริบหรี่ก็เป็นความสว่างให้เห็น

อย่างเช่น  เราเข้าไปในห้องที่มืด แล้วเราก็ไม่รู้จักห้องนั้น ไม่ทราบว่าสวิตช์ไฟอยู่ที่ไหน  เรามีไฟฉาย แล้วก็เปิดไฟฉายอันริบหรี่นั้น หรือขีดไม้ขีดที่เป็นแสงสว่างที่ริบหรี่ไปหาสวิตช์ไฟ  ถ้าเราไม่ไปหาสวิตช์ไฟ เราก็ไม่สามารถที่จะเปิดไฟที่มีอยู่ในห้องนั้น  คือมีหลอดไฟ มีสายไฟ มีสวิตช์ไฟ ครบถ้วนในห้องนั้น  เราไม่สามารถที่จะหาพบนอกจากจะบังเอิญ  โดยบังเอิญ เราไปแตะสวิตช์ไฟแล้วก็เปิดขึ้นมา  แต่ว่าโดยมากก็ต้องหา  เมื่อหาได้แล้ว ด้วยไฟริบหรี่ที่เรามีอยู่กับตัว เราก็สามารถไปเปิดไฟได้

ไฟริบหรี่นี้คือความสนใจเบื้องต้น  เมื่อเราไปเปิดไฟได้แล้วก็จะสว่างขึ้นมา  เราก็จะมีความดีอกดีใจ มีความพอใจว่า ทำตามวิธีนี้ได้ผลดี มันสว่าง  ไฟที่อยู่ในห้องนั้นอาจจะไม่สว่างเต็มที่ อาจจะมีหลายแห่ง  ก็เปิดไฟอันนั้น ก็มีความปีติยินดีแล้ว

เป็นอันว่า เราพอใจในการปฏิบัติเช่นนั้น  คือเปิดสวิตช์ไฟ มันมีความสว่างดี เปิดสว่างดี ก็ย่อมมีความพอใจใหญ่ สบายใจ มีความร่าเริงใจ  ความร่าเริงใจนี้ ความสบายใจเบื้องต้นนี้ เป็นปัจจัยสำคัญของการปฏิบัติพุทธศาสนา  ท่านเรียกว่า “ฉันทะ”  คือมีความพอใจในการปฏิบัติ มีความพอใจในการค้นคว้า

ในหลวงทรงสอน "วิธีปฏิบัติสู่ความสำเร็จ" เพียงทำสิ่งนี้ ความสำเร็จไม่หนีไปไหน

เมื่อมีความพอใจในการค้นคว้า เราก็ต้องค้นคว้าต่อไป  ไม่ใช่พอใจเพียงแค่นั้น  เพราะว่าความสว่าง ความดี ความสุข ความพอใจในการปฏิบัตินั้น ยังมีอีกมาก  ก็ต้องเพียรที่จะปฏิบัติงานของพระพุทธศาสนาต่อไป  อันนี้ก็จะต้องมีวิริยะ

วิริยะนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก  เมื่อเริ่มต้นแล้วต้องมีวิริยะ  หมายความว่าต้องเพียร ต้องมีความขยัน  วิริยะนี้ก็คู่กับขันติ คือมีความอดทน  บางทีเวลาเราทำงานอะไรก็ตาม ทั้งในทางโลกทางธรรม เราทำงานแล้วเหนื่อย  เมื่อเหนื่อยก็ต้องมีความอดทนในความเหนื่อยนั้น ก็ต้องมีความเพียรที่จะปฏิบัติต่อไป

ฉะนั้น  พูดไปก็ต้องเห็นว่า ความเพียรกับความอดทนนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้งานใดๆ บรรลุผลได้  เมื่อมีความเพียร มีความอดทนแล้ว สิ่งอื่นก็มา

แต่ในความเพียร ในความอดทนนี้ ก็ต้องมีการเอาใจใส่  การเอาใจใส่นั้นคือติดตามอยู่ตลอดเวลาว่างานของเราไปถึงไหน แล้วก็ไม่ควรจะเผลอ  ต้องให้มีการดูติดตาม ไม่ฟุ้งซ่าน

เมื่อปฏิบัติเช่นนั้นก็จะยิ่งก้าวหน้าใหญ่  งานต่างๆ ก็จะมีความสำเร็จได้  ไม่ใช่งานทางพุทธศาสนาเท่านั้น  งานอื่นๆ ในโลก งานในหน้าที่ หรืองานในทางส่วนตัว  งานทุกอย่างนั้นจะก้าวหน้าไปได้โดยดี จะไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะว่าราบรื่นได้  เพราะแม้จะมีอุปสรรค อุปสรรคเหล่านั้นไม่ใช่เป็นอุปสรรคที่จะข้ามไม่ได้ ถ้ามีความเพียร ความอดทน ความเอาใจใส่

และเมื่อปฏิบัติงานดังนี้ก็จะต้องทบทวนอยู่เสมอ  ดูให้ชัดว่างานที่เราทำไป มันไปถึงไหน งานนั้นไปในทางที่ถูกต้องหรือไม่  เพราะบางที ถ้ามีความอดทน มีความเพียร และก็มีความเอาใจใส่ อาจจะเอาใจใส่อย่างไม่ถูกต้องนัก

คือ เช่นเดียวกันกับการเดินทางไปที่ไหน สมัยนี้ก็ต้องแล่นรถ  เราก็แล่นรถไปตามทาง  มีทางแยก เราก็เห็นว่าทางนี้ถูกต้องแล้ว  แต่ว่าแท้จริง เราเลี้ยวผิด อาจจะเป็นได้ เพราะว่าดูท่าทางเป็นเช่นนั้น  ก็จะต้องทบทวนว่าทางนั้นถูกต้องหรือไม่ ...

ในหลวงทรงสอน "วิธีปฏิบัติสู่ความสำเร็จ" เพียงทำสิ่งนี้ ความสำเร็จไม่หนีไปไหน

... ที่กล่าวมานี้ก็เป็นทางที่จะให้ได้ปฏิบัติงานของธรรม หรือปฏิบัติพุทธศาสนาในทางที่เรียกว่า “ปฏิบัติ”  เริ่มต้นตรงนี้ อย่างนี้ และที่ว่านี้ ก็จะเป็นประโยชน์สำหรับการปฏิบัติงานทุกอย่าง  ไม่ใช่งานของการปฏิบัติธรรม  เป็นประโยชน์สำหรับการปฏิบัติงานของตัว ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งผู้หญิง ทั้งผู้ชาย มีประโยชน์ทั้งนั้น

ใครมีหน้าที่อะไร มีงานอะไร ถ้าทำตามหลักนี้ก็มีความสำเร็จได้แน่ๆ  บอกว่าแน่  ไม่ใช่อาจจะ  เป็นสิ่งที่แน่เพราะว่าจิตใจของเราจะได้ปฏิบัติในทางที่ถูก ... [1]

 

[1] พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสที่พระครูใบฎีกาเล็ก ญานุตตะโร วัดหลวงปรีชากูล อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี และคณะ เฝ้าถวายเงินเพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัยและต้นเทียนพรรษา  วันจันทร์ที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๘.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บุคคลล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร[2]

 

 

[2] พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะชาวพุทธแขวงห้วยขวาง เขตพญาไท  ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน  วันจันทร์ที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๘.

 

... “วิริยะ” นี้แปลว่า “กล้า”  ทำไมแปลงั้น  แปลว่า “เพียร”  แปลว่า “อุตสาหะ”  ก็หมายความว่า วิริยะนี้น่ะมันเป็นความกล้าที่จะเผชิญตัวเอง ความกล้าที่จะไม่ขี้เกียจ ความกล้าที่จะไม่ละเลยในสิ่งที่เราเริ่มทำหรือเริ่มคิด  ก็เป็นการมีวิริยะอุตสาหะไป

แต่วิริยะก็คือวีระ  ก็เป็นความกล้าเหมือนกัน  กล้าในทางใด  กล้าในตัวเราที่จะสู้ความขี้เกียจของเรา ความอยู่นิ่งในตัวของเราเอง  หรือความกล้าที่จะคิดอะไรที่อาจขัดใจตัวเอง ไม่เข้าใจตัวเอง

ในตัวเองเราอาจคล้ายๆ ไม่มีความสุข เพราะว่ามาเจอของไม่ดี  เมื่อเจอของไม่ดีในตัวเราก็ควรเพ่ง  เราต้องใจแข็ง  ควรเพ่งก็เพ่งต่อไปด้วยเหตุผล  แก้ยังไง หาทางแก้อย่างไร  อาจใช้เวลา ก็ต้องใช้วิริยะ  เมื่อค้นพบแล้วว่าอะไรที่ไม่ถูกต้องก็แก้ไขด้วยความเพียรและด้วยเหตุผล  แล้วเราก็สบายขึ้น สบายขึ้นเป็นขั้นที่สอง

สบายขั้นแรกก็คือ เมื่อเราคิดถึงของดีจนโล่งใจ คือมีความสุข มีความสงบเด็ดขาด  ขั้นที่สองที่ว่า ค้นพบในทางความเพียร ใช้ความเพียรและเหตุผลอย่างแท้จริง  แล้วไปเจอความจริงที่หนักแน่นขึ้นอีก ไม่ใช่ความจริงที่เผินๆ ก็มีความสุข มีความพอใจในตัว

ขั้นต่อไป ก็พบเหตุและผลของความทุกข์ความสุขในเราได้มากขึ้นทุกที เพราะว่าฝึกมาดีโดยอัตโนมัติ  ถ้าจะฝึกให้เร็วขึ้น ให้คิดให้มีเหตุผลเร็วขึ้น  บางทีเมื่อเราไปเจอสถานการณ์อะไรอย่างหนึ่ง ปวดหัว  มีใครมาพูดเรื่องราวอะไรต่างๆ ให้ขัดใจเรา เราคิดไม่ออก ปวดหัว โมโห ไม่สบายใจ ไม่รู้จะตอบอะไร

อันนี้ ถ้าเราฝึกจิตใจให้หาเหตุผลโดยเร็ว เราก็รู้ได้แน่ว่าเขาพูดอะไร  อย่าเพิ่งท้อใจ  มาอย่างไหน มาท่าไหน เรามองเห็น  ก็เท่ากับขึ้นไปสู่ความรู้ รู้ไส้เขา รู้โปร่งในความคิดของเขา  เขามาอย่างไร เรารู้หมด  ฉะนั้น  ถ้าเราฝึกดีแล้ว เราก็ได้เปรียบโดยเร็ว  ใครมาพูดหรือมาทำอะไรก็รู้เท่าทัน  อันนี้เป็นข้อสำคัญ เป็นขั้นต่อไป

เมื่อปฏิบัติพุทธศาสนาในทางที่ถูก ในทางที่ดี ไม่เสียหายแก่ผู้อื่น ด้วยการแผ่เมตตา ด้วยการพิจารณา ด้วยสมาธิ ด้วยเหตุผล  นี่นะเป็นประโยชน์ทั้งนั้น ถ้าถูก ...

... ก็ขอให้ทุกคนวิริยะในทางที่ถูกต้อง ที่ถูกที่ควร แล้วจะประสบความสุขที่ต้องการ ที่ทุกคนปรารถนา แล้วก็เป็นการช่วยส่วนรวมให้มีความสามัคคี มีความเจริญก้าวหน้า ...

 

 

เรียบเรียง ณัฐวุฒิ แจ๊สสูงเนิน จากหนังสือ ธรรมะจากพระโอษฐ์

ในหลวงทรงสอน "วิธีปฏิบัติสู่ความสำเร็จ" เพียงทำสิ่งนี้ ความสำเร็จไม่หนีไปไหน