เปิดตำนาน!! อาถรรพ์ "ศาลสิงโตทอง"  เสียงคร่ำครวญจากสิงโตผู้เดียวดาย..

ติดตามเรื่องราวดี ๆ อีกมากมายได้ที่ http://panyayan.tnews.co.th

ศาลเจ้าสิงห์โตทอง

เปิดตำนาน!! อาถรรพ์ \"ศาลสิงโตทอง\"  เสียงคร่ำครวญจากสิงโตผู้เดียวดาย..

          ประวัติความเป็นมา

          “ศาลสิงห์โตทอง” นั้นคือรูปปั้นสิงโตเพศเมียขนาดใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(ท่าพระจันทร์) บริเวณข้างตึกคณะเศรษฐศาสตร์โดยมีลักษณะหันหน้าไปยังท่าน้ำศิริราช กล่าวคือ หันหน้าออกไปยังแม่น้ำเจ้าพระยาราวกับกำลังมองหาผู้เป็นที่รักของตนที่จมลงสู่แม่น้ำนั้น

          รูปปั้นสิงโตนี้เป็นหนึ่งใน “หินอับเฉา” หรือ “ตุ๊กตาอับเฉา” อันเป็นสินค้าจากประเทศจีนที่นำมาสู่ประเทศไทยและยังมีประโยชน์ไว้สำหรับใช้ถ่วงใต้ท้องเรือสำเภาจีนให้มีน้ำหนักพอที่จะกินร่องน้ำให้สามารถแล่นข้ามมหาสมุทรได้ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีตุ๊กตาอับเฉาหรือหินอับเฉานี้มาด้วยกันสองตัวเป็นคู่กันเพื่อให้เรือสำเภาเกิดความสมดุล

          ตามตำนานได้เล่าขานกันมาว่า ในวันหนึ่งเกิดพายุลูกใหญ่ที่บริเวณปากคลองบางกอกน้อย ส่งผลให้เรือสำเภาจีนที่เข้ามาค้าขายนั้นอับปางลง ต่อมามีความพยายามที่จะกู้สินค้าเหล่านั้นขึ้นมา จึงได้รูปปั้นสิงโตเพศเมียนี้ขึ้นมาแต่ได้มาแค่เพียงตัวเดียวเท่านั้น รูปปั้นสิงโตเพศชายที่คู่กันกลับไม่สามารถงมขึ้นมาได้หรือบ้างก็เล่าว่า การจมลงสู่ใต้ท้องน้ำของรูปปั้นสิงโตตัวผู้นั้นเกิดจากอุบัติเหตุในการขนสินค้าลงจากเรือ ซึ่งแม้จะเหลือรูปปั้นสิงโตเพศเมียเพียงตัวเดียว ชาวบ้านก็ยังนำรูปปั้นนี้มาตั้งไว้ในลักษณะหันหน้าเข้าหาฝั่ง แต่ทว่าวันหนึ่งสิงโตเพศเมียนี้กลับหันหน้าออกจากฝั่งไปยังแม่น้ำ โดยไม่ว่าเรื่องเล่าใดก็ตามแต่สิ่งที่ประจักษ์ชัดแก่ผู้ที่ได้พบเห็นนางสิงโตนี้คือแบบอย่างแห่งความรักที่ซื่อสัตย์ ผู้ซึ่งมองหาและรอคอยคู่ของนางเสมอมา ไม่ว่าเวลาจะล่วงเลยไปสักเท่าใด

เปิดตำนาน!! อาถรรพ์ \"ศาลสิงโตทอง\"  เสียงคร่ำครวญจากสิงโตผู้เดียวดาย..

 

          นอกจากตำนานในเรื่องความรักที่เล่าต่อกันมา ยังมีการบอกเล่าถึงรูปปั้นสิงโตนี้ว่า ใช้สำหรับล้างอาถรรพ์ของวังหน้า ตามหลักของฮวงจุ้ย ดังนี้

               "อาถรรพณ์ จากความมหัศจรรย์ของสถานที่หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นหนึ่งในสิ่งลี้ลับที่ผู้คนให้ความสนใจไม่น้อย ในเรื่องของอาถรรพณ์อันเกี่ยวกับฮวงจุ้ย มีสถานที่หนึ่งของเมืองไทยที่ผู้เขียนได้ไปค้นหาและนำเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟังที่นั่นคือ ศาลเจ้าพ่อสิงโตทอง ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตั้งอยู่ริมน้ำเจ้าพระยา เป็นศาลคอนกรีตขนาดกลาง ภายในเป็นที่ตั้งของสิงโตหิน ศิลปะแบบจีน เหมือนตุ๊กตาหินจีนที่ตั้งอยู่ตามวัดพระเชตุพนฯ หรือวัดอรุณราชวรารามเพียงต่างกันที่สิงโตหินตัวนี้ได้ผ่านพิธีการทางไสยศาสตร์ปลุกเสกลงยันต์เพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ บันดาลอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์

              มีเรื่องเล่าเมื่อหลายสิบปีก่อนถึงความศักดิ์สิทธิ์ของ เจ้าพ่อสิงโตทอง ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดังนี้ว่ามีอภินิหารนัก ทุกปีจะต้องมีเด็กจมน้ำตายสังเวยเจ้าพ่อไม่ต่ำกว่า 1 คน ชาวบ้านแถวริมน้ำเจ้าพระยาเชื่อกันว่า ท่านต้องการเอาตัวไปเป็นบริวาร ความเป็นมาของ สิงโตหินนี้เป็นอย่างไรมาตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่เมื่อไหร่ เรื่องนี้เป็นเรื่องเก่าแก่โบร่ำโบราณ ที่ปัจจุบันไม่ใคร่จะมีใครรู้ประวัติ หรือจำรายละเอียดในที่มาของสิงโตหินตัวนี้ได้

คนเก่าแก่ละแวกริมแม่น้ำเจ้าพระยา เล่าว่าความจริงแล้วสิงโตหินที่เห็นนี้เป็นหนึ่งในสามของสิงโตหินที่จมอยู่ใต้แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณปากคลองบางกอกน้อย แต่ได้ถูกนำขึ้นมาสักการะที่

             มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 1 ตัว โดยสิงโตหินที่อยู่ใต้น้ำอีก 2 ตัวนั้น ตัวหนึ่งมีขนาดเท่ากับสิงโตหินในธรรมศาสตร์ แต่อีกตัวมีขนาดใหญ่กว่า ซึ่งสันนิษฐานว่าคงเป็นแม่สิงโตกับลูกสิงโต 2 ตัว จึงมีเรื่องเล่าลือกันว่าเคยมีคนได้ยินเสียงร้องของสิงโตตัวลูกในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร้องหาแม่สิงโตและสิงโตตัวเล็กอีกตัวที่อยู่ใต้น้ำ ความที่ได้แสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ให้คนเห็นอยู่บ่อยๆ จึงต้องทำการสร้างศาลให้โดยเรียกศาลนี้ว่า ศาลสิงโตทอง เพื่อให้ชาวธรรมศาสตร์และประชาชนที่สัญจรไปมาทางน้ำหรือผู้ประกอบอาชีพในแม่น้ำเจ้าพระยาได้มาสักการะขอความคุ้มครองให้ปลอดภัยหรือบนบานขอในเรื่องอื่น

            ว่ากันว่าสิงโตหินทั้ง 3 ตัวนี้ ใช้แก้อาถรรพณ์ฮวงจุ้ยของ วังหน้า ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งวังหน้าในสมัยรัตนโกสินทร์นั้นมี

1.กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระอนุชาในรัชกาลที่ 1
2.กรมพระราชวังบวรมหาเสนารักษ์ พระอนุชาในรัชกาลที่ 2

3. กรมพระราชวังบวรราชเจ้ามหาศักดิ์พลเสพ พระปิตุลาในรัชกาลที่ 3

4. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทราเมศมหิศเรศรังสรรค์พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวพระอนุชาในรัชกาลที่ 4
5. กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

              ตำแหน่ง วังหน้า มีความสำคัญในสมัยรัตนโกสินทร์ด้วยความที่มีอำนาจราชศักดิ์รองลงมาจากพระมหากษัตริย์ ที่ตั้งของ วังหน้า จะอยู่ไม่ไกลจาก วังหลัง ซึ่งเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินนักซึ่งในอดีตวังหลวงนั้นอยู่ภายในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับวัดพระแก้ว วังหน้าหรือตำแหน่ง กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ได้ถูกยกเลิกลงในสมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ.2430 และเมื่อพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้าไม่ได้ใช้ประโยชน์ รัชกาลที่ 5 จึงโปรดฯพระราชทานให้เป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมาจนถึงปัจจุบัน

               สำหรับ วังหน้า ที่เกี่ยวข้องกับสิงโตหินจีนทั้ง 3 ตัว นี้ก็คือ กรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพ ซึ่งเรื่องราวนั้นมีอยู่ว่าในสมัยที่ กรมพระราชวังบวรราชเจ้ามหาศักดิ์พลเสพ ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรฯในสมัยรัชกาลที่ 3 ก็ได้มีผู้กราบบังคมทูลว่า พระราชมณเฑียรในพระราชวังบวรสถานมงคลนั้นอยู่ตรงกับปากคลองบางกอกน้อยและเป็นปากทาง 3 แพร่ง ซึ่งตามหลักฮวงจุ้ยในตำราจีนถือว่าไม่ดีจะมีแต่เรื่องวุ่นวาย ต้องแก้เคล็ดโดยทำรูปสิงโตคาบกั้นหยั่นไปติดไว้ที่ริมน้ำหันหน้าไปสู่ปากคลองเพื่อต่อสู้กับสิ่งชั่วร้ายที่จะเข้ามาในพระราชวัง

             ซึ่งเครื่องรางรูปสิงโตคาบกั้นหยั่นของจีนนี้ นับแต่ครั้งโบราณถึงปัจจุบันก็เป็นที่นิยมใช้สำหรับแก้อาถรรพณ์วงจุ้ยของสถานที่อยู่อาศัย หรือที่ทำงาน โดยคนจีนถือว่าเป็นเครื่องรางของขลังสำหรับปราบมาร หรือสิ่งไม่ดี ให้ออกไปและบันดาลโชคลาภมาให้ จึงนิยมหามาติดไว้โดยเฉพาะหน้าบ้านหรือที่ทำงานที่อยู่

ใกล้ทาง 3 แพร่ง หรือมีบ้านที่หน้าจั่วบ้านอื่นหันมาตรงกับบ้านเรา บ้านที่มีเสาไฟฟ้าตรงกับหน้าบ้านและบ้านที่มีเจ้าที่เจ้าทางแรง เป็นต้น

            ส่วนอาถรรพณ์ภายในวังหน้าเมื่อมีผู้กราบบังคมทูล เช่นนั้น กรมพระราชวังบวรราชเจ้ามหาศักดิ์พลเสพ ทรงเห็นว่าหากนำป้ายรูปสิงโตคาบกั้นหยั่นไปติดไว้จะไม่เหมาะสม พระองค์จึงได้สั่งให้นำสิงโตหินมาจากเมืองจีน 3 ตัว เพื่อทำพิธีทางไสยศาสตร์มีการปลุกเสกและลงยันต์ ทำพิธีตามธรรมเนียมจีน เสร็จแล้วจึงนำลงไปไว้ในแม่น้ำเจ้าพระยาหันหน้าตรงปากคลองบางกอกน้อย (บางข้อมูลก็ว่านำไปตั้งไว้ริมน้ำเจ้าพระยา แต่ต่อมาถูกกระแสน้ำกัดเซาะตลิ่งลงไปเรื่อยๆ สิงโตทั้งสามจึงร่วงหล่นไปอยู่ใต้น้ำ) กระทั่งต่อมาได้มีผู้นำสิงโตตัวเล็ก 1 ใน 2 ตัว ขึ้นมาตั้งไว้ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และสร้างศาลให้เป็นที่สักการบูชา ส่วนสิงโตตัวใหญ่และตัวเล็กอีก 1 ตัว นั้นได้มีนักประดาน้ำดำลงไปดูยังเห็นว่าคงอยู่ในตำแหน่งเดิม เพียงแต่มีตะไคร่น้ำเกาะอยู่หนาเตอะ

นี่ก็เป็นที่มาของการแก้อาถรรพณ์ในรั้ววัง ซึ่งทำให้รู้ว่าในสมัยโบราณผู้คนและเจ้านายในยุคนั้นก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อยู่ไม่น้อย หลักฐานนั้นก็ยังมีให้เห็นอยู่ทุกวันนี้"

เรื่องโดย : สายทิพย์    ที่มา: นิตยสารหญิงไทย
ฉบับที่ 744 ปีที่ 31 ปักษ์แรก เดือนตุลาคม พ.ศ. 2549

เปิดตำนาน!! อาถรรพ์ \"ศาลสิงโตทอง\"  เสียงคร่ำครวญจากสิงโตผู้เดียวดาย..

          จากความเชื่อเดิมของชาวจีนที่เชื่อว่าสิงโตนั้นเป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดีและสามารถคุ้มครองป้องกันภยันตรายได้ เมื่อนำมาตั้งบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเช่นนี้จึงเป็นที่เคารพบูชาแก่ผู้เดินเรือ โดยจะเห็นว่าเมื่อมีเรือขับผ่าน ผู้ที่สัญจรทางเรือนั้นจะยกมือขี้นมาพนมไหว้เพื่อขอให้ปลอดภัยในเดินเรือ หรือมั่งคั่งในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือ และด้วยความศักดิ์สิทธิของศาลสิงห์โตทองแห่งนี้ที่มีชื่อเสียงด้านความรัก อีกทั้งยังตั้งอยู่ในบริเวณของมหาวิทยาลัยจึงส่งผลให้เป็นที่พึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการขอเรื่องโชคลาภ ความรักและการเรียนแก่นักศึกษาและประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะผู้ที่ต้องการจะเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นการได้มาขอพรถึงที่นับว่าเป็นต่อเลยทีเดียว

          นอกจากนี้สำหรับนักศึกษาธรรมศาสตร์เอง ยังมีเรื่องเล่ากันปากต่อปากอีกว่าหากอธิษฐานถึงสิงโตทองและปักธูปไว้ที่หนังสือหน้าใดก็ตามหน้านั้นก็จะออกสอบอีกด้วย