เผยพระราชปุจฉาวิสัชนาธรรมระหว่าง"พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ"กับ"หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ" ที่ชี้ว่าพระองค์ทรงปราถนาในพุทธภูมิ

ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://panyayan.tnews.co.th

             ครั้งแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปกราบนมัสการหลวงพ่อฤๅษีลิงดำนั้นไม่ปรากฏว่ามีผู้จดบันทึกหรือบันทึกเทปเอาไว้  แต่อาศัยความทรงจำของหลวงพ่อเองที่ท่านได้เขียนบันทึกเอาไว้ในหนังสือเรื่อง “พระเมตตา” จึงทำให้เรามีโอกาสได้รับรู้ถึงบทสนทนาธรรมที่มีเนื้อหาน่าสนใจยิ่ง โดยมีใจความสำคัญดังต่อไปนี้

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : ในแดนนี้มีผู้ก่อการร้ายมากหรือ ... มีบุคคลที่ใจแตกแยกออกไปมาก ?

 

หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ : ขอถวายพระพร  อาตมาทราบเรื่องผู้ก่อการร้ายมากนี่ ทราบมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๙  เรื่องผู้ก่อการร้ายหรือคนที่มีคติตรงกันข้าม เขาตั้งมุมจะเล่นงานเราที่เขตอำเภอบ้านไร่ เพราะตอนนี้มันต่อกับเขตอะไรไม่ทราบ  โน่น... มันจะออกไปเขตพม่าโน่น เราไม่ต้องการความแตกแยก  เราต้องการสามัคคี  การสร้างสถานที่ให้มีความโอ่โถงสวยสดงดงามก็เพื่อจะเป็นกำลังใจแก่บรรดาพุทธบริษัทหรือประชาชนชาวไทย และถือว่ามีความสามัคคีซึ่งกันและกัน  แต่ว่าบุคคลกลุ่มหนึ่งท่านมีความสำคัญผิดไปจากนั้น เราก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : เรื่องพระสงฆ์นี่มีความสำคัญ... อยากจะให้กฎหมายช่วยเหลือพระวินัย เพราะว่าสถาบันของศาสนาเป็นสถาบันที่ยึดเหนี่ยวกำลังใจคน คนไทยของเราทั้งหลายเป็นส่วนมาก ... ถ้าศาสนามีความมั่นคง พระศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวใจคน  อยากจะให้กฎหมายสนับสนุนพระวินัย  เพราะว่าถ้าพระปฏิบัติอยู่ในพระธรรมวินัยดีแล้ว จิตใจของบุคคลที่ยึดถือยึดเหนี่ยวคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าก็จะพากันมีความกลมเกลียว ประเทศชาติจะมีความสุข

 

หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ : อาตมาก็ปรารภอยู่เหมือนกัน  และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาตมาก็เคยปรารภกับอธิบดีกรมการศาสนา ... อาตมาทำอยู่แล้ว และร่วมมือกับอธิบดีกรมการศาสนา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : พวกเด็กๆ เขาไม่เชื่อกฎแห่งกรรม  เมื่อเร็วๆ นี้ ไฟไหม้ที่สลัม  สลัมจุดไหนมีไฟไหม้ขึ้นก็มีพวกเด็กๆ เขาออกหนังสือเวียน เป็นหนังสือเลย ออกประกาศโฆษณา ... ทำอย่างไรดีถึงจะให้เด็กรู้กฎแห่งกรรม ?

 

หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ : เวลานี้อาตมาก็หาทางจะให้คนทั้งหลายมีความเข้าใจในกฎแห่งกรรม รู้คุณค่าของพระพุทธศาสนา  อาตมาก็พยายามทำ  อย่างการเขียนหนังสือเรื่องของหลวงพ่อปาน มีการโลดโผนโจนทะยานเป็นกรณีพิเศษ

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : บางคนเขาจะหาว่า พระนี่เขียนหนังสือโลดโผนเกินไป จะเห็นว่าเป็นการไม่สมควร  แต่แม้กระผมเองก็มีความคิดเห็นว่า ในกาลบางครั้งก็มีความจำเป็นเหมือนกันขอรับ
ผมเหน็ดเหนื่อยมาก...  มีผู้มีความรู้บอกว่า ผมจะต้องเหน็ดเหนื่อยมาก  คนที่มีความรู้เขาบอกว่า ผมจะไม่มีโอกาสหายความเหน็ดเหนื่อยเลย

 

หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ : เรื่องนี้ก็เป็นธรรมดาของพระมหากษัตริย์ที่มีพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกร  บรรดาพสกนิกรมีความทุกข์ร้อนทุกข์ยากอยู่ที่ไหนก็ต้องมีความเหน็ดเหนื่อย ต้องไปเยี่ยมไปเยือน ไปให้ความสุขเขา  อย่างน้อยไปให้กำลังใจ ให้ความช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ ... เรื่องนี้เป็นที่ประทับใจของประชากรทั้งหลายโดยทั่วไป  เราปฏิเสธกันไม่ได้
ถ้าหากว่า ข้าราชการของพระองค์ (หมายถึงข้าราชการทุกคน) ปฏิบัติอย่างพระองค์บ้าง ประเทศชาติจะมีความสุข  การที่จะมีผู้ก่อการร้ายหาไม่ได้แน่  เพราะเราจะไปทางไหน เราก็จะเจอะแต่ผู้ก่อการดี จงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อข้าราชการ  แล้วคนทั้งหมดนั้นก็จะมีความจงรักภักดีเป็นปึกแผ่นอยู่ในแผ่นดินไทย  เมืองไทยถึงแม้ว่าจะเป็นเมืองเล็ก เรามีกำลังน้อย บรรดาพุทธบริษัท ถ้าเรารวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เต็มไปด้วยความสามัคคี ประเทศถึงแม้จะใหญ่เข้ามาโจมตีก็รู้สึกว่ายาก  ทั้งนี้เพราะอะไร  เพราะความสามัคคีนี่มีกำลังมาก ยากที่คนจะทำลายได้ ...


ถ้าหากว่า ข้าราชการของพระองค์ปฏิบัติอย่างพระองค์บ้าง เป็นผู้เสียสละ  ความจริงเงินเดือนของเราก็มีแล้ว  เงินเดือนทุกเดือน บรรดาพุทธบริษัทเขาให้ใช้พอเดือน  แต่ที่ไม่พอเพราะไม่รู้จักปริมาณการใช้ ทะเยอทะยานมากไป  เลยเมื่อมันไม่พอใช้ก็ต้องหาทางอื่นที่มันไม่ตรงกับระเบียบข้าราชการ  ถ้าทุกคนอยู่ในระเบียบ อยู่ในวินัย ตัดความละโมบโลภในด้านวัตถุเสีย และทำตัวให้เหมาะสมกับระเบียบข้าราชการ  นี่ทุกคนทำได้ตามแบบนี้ รับรองว่าไม่มีการแตกแยก ไม่มีผู้ก่อการร้าย

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : บรรดาประชาชนทั้งหลายทุกคน ถ้าต่างคนต่างรักษาศีล ๕ ครบถ้วน บ้านเมืองจะมีความสุข  เรื่องศีล ๕ นี่เป็นของยาก  คนเขาไม่ค่อยจะเห็นคุณเห็นโทษ  และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง...พระ  พระนี่เมื่อมีความผิดแล้วก็มีอาบัติเป็นเครื่องปรับ  แต่คนเขาขาดศีล ๕ ไม่มีอาบัติเป็นเครื่องปรับ  เป็นของยากที่จะให้คนเห็นโทษเห็นคุณในการรักษาศีล ๕

 

หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ : หลวงพ่อปานท่านไม่ต้องการให้คนละศีล ๕  หลวงพ่อปานต้องการอย่างเดียวคือ ให้คนละศีล ๒

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว :(ทรงแย้มพระโอษฐ์แล้วตรัสถาม)  ศีล ๒ มีอะไรบ้างขอรับ ?

 

หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ : ศีล ๒ ที่หลวงพ่อปานต้องการ นั่นก็คือ
๑.  อทินนาทาน  ต้องการให้คนไม่ลัก ไม่ขโมย ไม่คดโกงซึ่งกันและกัน ยอมรับนับถือในสิทธิสมบัติซึ่งกันและกัน
๒.  หลวงพ่อปานต้องการให้คนละการดื่มสุราและเมรัย
ศีล ๒ ของหลวงพ่อปานนี้ มีความสำคัญมาก  เพราะในอันดับแรก ถ้าทุกคนไม่คดโกงซึ่งกันและกันแล้ว สุขมันก็จะมีมากขึ้นมามาก ทุกคนต่างยอมรับนับถือในสิทธิ์ในสมบัติซึ่งกันและกัน  แล้วอีกประการหนึ่ง ถ้าคนทั้งหลายไม่เสพสุราเมรัย จิตใจก็ทรงสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ความเร่าร้อนของประเทศชาติก็จะลดน้อยลงไป ประเทศชาติจะมีแต่ความเยือกเย็น  และเมื่อ ๒ ศีล ครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว ในไม่ช้า อีก ๓ ศีล ก็ครบถ้วนบริบูรณ์

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : (ทรงแย้มพระโอษฐ์อีก แล้วค่อยตรัสว่า)  เมื่อก่อนนี้มันยุ่งเหลือเกินขอรับ  มันติดอยู่ในวัตถุ ยุ่งมาก  แต่เวลานี้สบายใจมากแล้ว เพราะไม่ติดในวัตถุ ... วันนี้ผมมีความสุขใจมาก ผมมีความสบายใจมาก

เผยพระราชปุจฉาวิสัชนาธรรมระหว่าง"พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ"กับ"หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ" ที่ชี้ว่าพระองค์ทรงปราถนาในพุทธภูมิ

 

พระธรรมเทศนาหน้าพระที่นั่ง

ครั้งหนึ่ง หลวงพ่อฤๅษีลิงดำเคยเข้าเฝ้าแสดงธรรมเทศนาและสนทนาธรรมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๒๐  หลวงพ่อฤๅษีลิงดำได้เมตตาเล่าเรื่องราวการสนทนาธรรมในครั้งนั้น ซึ่งต่อมาได้พิมพ์ลงในหนังสือ “ธัมมวิโมกข์” ฉบับที่ ๒๑๒ ประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๑  บทสนทนาธรรมดังกล่าวมีเนื้อหาที่น่าสนใจดังนี้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : เขาพูดกันว่า “ผมปรารถนาพุทธภูมิ”  เป็นความจริงไหมครับ ?

หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ : เรื่อง “ปรารถนาพุทธภูมิ” นี่ พระองค์ปรารถนามานาน  แต่เวลานี้ บารมีเป็น “ปรมัตถบารมี” แล้ว ก็เหลืออีก ๕ ชาติ  และที่พระองค์ปฏิบัติมามันเลยแล้ว  ไม่ใช่ไม่สำเร็จ
พุทธภูมินี่ต้องบำเพ็ญกันมาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระองค์เป็น “วิริยาธิกะ”  วิริยาธิกะนี่ต้องบำเพ็ญบารมีถึง ๑๖ อสงไขยกำไรแสนกัป  นี่บำเพ็ญมาเกิน ๑๖ อสงไขยแล้ว  แสนกัปอาจยังไม่ครบ จึงต้องเกิดอีก ๕ ชาติ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : ที่หลวงพ่อก็ดี อาจารย์องค์อื่นก็ดี มักจะขู่เสมอว่า คนที่เจริญสมาธิจะต้องมีศีลบริสุทธิ์  แต่กระผมเห็นว่า ถึงแม้ว่าศีลไม่บริสุทธิ์ก็เจริญสมาธิได้

หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ : คนที่มีศีลบริสุทธิ์หรือไม่มีศีลบริสุทธิ์ก็เจริญสมาธิได้ ฝึกสมาธิได้ แต่ว่าผลย่อมต่างกัน  ตอนที่คนที่มีศีลบริสุทธิ์ เขาก็มีผลอย่างคนที่มีศีลบริสุทธิ์  คนที่มีศีลไม่บริสุทธิ์ก็มีผลอย่างคนที่มีศีลไม่บริสุทธิ์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : พระองค์หญิงวิภาวดี (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต) มีความหวังตั้งใจเพื่อนิพพาน  เห็นว่าจะเป็นการไกลเกินไป

หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ : สำหรับคนที่ตั้งใจจริงย่อมมีผลเป็นของไม่หนักในเรื่องพระนิพพาน

เผยพระราชปุจฉาวิสัชนาธรรมระหว่าง"พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ"กับ"หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ" ที่ชี้ว่าพระองค์ทรงปราถนาในพุทธภูมิ

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : ที่หลวงพ่อว่า ร่างกายสกปรก  สมมติว่า  มือผมนี่น่ะ มันสะอาดๆ ดีอยู่ ผมก็ไปหยิบของสกปรกมา  เมื่อแตะต้องกับของสกปรก มันก็สกปรก  แล้วผมมาล้างเสียให้มันสะอาด มันก็สะอาด ไม่สกปรก

หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ : เรื่องร่างกายสกปรกนี่ไม่ใช่เอาร่างกายภายนอกไปแตะต้องกับของภายนอกมา  ให้พิจารณาส่วนภายในของร่างกายว่ามันสกปรก  เช่น  เลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง อุจจาระ ปัสสาวะ เสลด น้ำลาย เป็นต้น ที่มันอยู่ในร่างกาย มันสกปรก  ถ้าพิสูจน์กันง่ายๆ ก็เอามีดกรีดเนื้อออกไปให้เลือดมันไหลออกมา  เมื่อเลือดไหลออกมาแล้ว ถ้าเลือดมันสะอาดจริงๆ ก็ไม่ต้องล้างเลือด  ถ้าหากต้องล้างเลือดออกก็แสดงว่าเลือดสกปรก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : หลวงพ่อขอรับ  ผมว่าธาตุแท้นี่ไม่สกปรกนะขอรับ  ธาตุแท้มันสะอาด

หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ : อาตมาเห็นชอบด้วยว่า “ธาตุแท้” จริงๆ ไม่สกปรก  ทั้งนี้หมายถึงธาตุทั้ง ๔ ในร่างกาย  ตอนที่ว่ากันถึงเรื่องร่างกายสกปรกน่ะ ว่ากันในเรื่องของ “กายคตานุสติกรรมฐาน” ก็เลยเกณฑ์สมมติขึ้น  แต่ความจริง การสมมติไม่ใช่ของลี้ลับ  เป็นของธรรมดาๆ ที่บุคคลจะเห็นได้ง่าย ถ้าเป็นนักสังเกตการณ์
สมมติว่า  เอาแก้วมาวางไว้ลูกหนึ่ง เอาน้ำแข็งใส่ไปในแก้ว สักประเดี๋ยวหนึ่งจะมีน้ำชื้นอยู่ข้างนอก  เนื้อแท้จริงๆ น้ำที่จับข้างนอกไม่ใช่น้ำแข็งที่ละลายในแก้วแล้วไหลออกไป  อาศัยความเย็นของน้ำในแก้ว อาโปธาตุในอากาศจึงมาจับอยู่ที่ผิวแก้วข้างนอก  อาโปธาตุอย่างนี้เป็นอาโปธาตุที่มีความสะอาดและเป็นธาตุแท้  อย่างนี้สะอาด  แต่ทว่าอาโปธาตุในร่างกาย มีน้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง หรือปัสสาวะอย่างนี้เป็นต้น เป็นอาโปธาตุที่เต็มไปด้วยความสกปรก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : นั่นเป็นธาตุที่ปรุงแล้วนี่ขอรับ

หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ : การพิจารณาร่างกายคือธาตุ ๔ ก็ให้พิจารณาธาตุที่ปรับปรุงแล้ว  มันเป็นของสกปรก มันเป็นของไม่สะอาด

เผยพระราชปุจฉาวิสัชนาธรรมระหว่าง"พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ"กับ"หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ" ที่ชี้ว่าพระองค์ทรงปราถนาในพุทธภูมิ

เผยพระราชปุจฉาวิสัชนาธรรมระหว่าง"พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ"กับ"หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ" ที่ชี้ว่าพระองค์ทรงปราถนาในพุทธภูมิ

จากหนังสือเรื่อง "มหาบพิตร" ในหลวงทรงถาม พระอรหันต์ตอบ โดยวีระวัฒน์ ชลสวัสดิ์