เปิดตำนาน "ดาบเพชฌฆาต" ดาบตัดคอนักโทษในอดีต...สัมผัสสุดท้ายของนักโทษประหารชีวิต

ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://panyayan.tnews.co.th

    เปิดตำนาน \"ดาบเพชฌฆาต\" ดาบตัดคอนักโทษในอดีต...สัมผัสสุดท้ายของนักโทษประหารชีวิต

                “การประหารชีวิต” เป็นบทลงโทษสูงสุดสำหรับผู้ที่กระทำความผิด และเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า วิธีการประหารชีวิตของไทยในอดีต จะใช้วิธีการตัดคอของนักโทษให้ขาดกระเด็น และนำหัวไปเสียบไปประจาน ส่วนศพ(ร่างกาย) จะถูกนำไปปล่อยให้แร้งกาจิกกิน ซึ่งกว่าจะตัดคอของนักโทษประหารแต่ละคนได้นั้น มีพิธีมากมายหลายขั้นตอน ทั้งต้องเฟ้นหาเพชฌฆาตที่ดวงแข็ง และอุปกรณ์ของเพชฌฆาตที่สำคัญคือ 'ดาบ' โดยวันนี้ทางเราจะนำท่านไปรู้จักกับ “ดาบ” ในการประหารชีวิตให้ทุกท่านได้ทราบกัน

            ดาบ นั้นจะต้องแข็งแกร่งพอที่ตัดสิ่งของที่หนาอย่างคอของมนุษย์ได้ ตามตำนานนั้นดาบเพชฌฆาตสร้างด้วยการหาเหล็กเนื้อดีนำมาไล่ขี้ควายออกแล้วหลอมกันเป็นก้อนเจือด้วยเหล็กจากบ่อพระแสง (เหล็กน้ำพี้)

               **แร่เหล็กน้ำพี้และเหล็กน้ำพี้ ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่าแร่เหล็กน้ำพี้และเหล็กน้ำพี้ เป็นเหล็กกล้าที่สมบูรณ์ทีสุดมีความมหัศจรรย์เหนือธรรมชาติ  มีหลักฐานปรากฏในตำราพิชัยสงครามที่มีฤทธานุภาพเป็นธาตุศักดิ์สิทธิ์  คงกระพัน ป้องกันภูมิผีปีศาจ เวทมนต์คาถาและความเป็นสิริมงคล เป็นเหล็กอัศจรรย์มีธาตุเหมือนเหล็กไหล เหล็กน้ำพี้นั้นเป็นเหล็กที่มีส่วนผสมโลหะธาตุตามธรรมชาติที่มีคุณสมบัติควบคุมเนื้อเหล็กธรรมดาให้เกิดความคงทนแข็งแกร่งไม่กินตัวเองให้เป็นสนิม ในปัจจุบันได้นำเหล็กน้ำพี้มาทำวัตถุมงคล และนำแร่เหล็กน้ำพี้มาเป็นส่วนผสมในการทำพระเครื่อง พระบูชาและเครื่องรางของขลัง

ซึ่งการสร้างดาบเพชฌฆาตต้องถือฤกษ์เพชฌฆาต ส่วนการตีดาบให้ได้รูปลักษณ์ที่ต้องการและคม ต้องใช้ยามยมขันธ์เป็นหลัก

                 *ยมขันธ์- เป็นวันที่ให้ความเดือดร้อน ร้อนอกร้อนใจ เสมือนอยู่ท่ามกลางขุมไฟนรก วันทักทิน-ยมขันธ์ เป็นชื่อดิถีขึ้นแรม ถือว่าเป็นวันชั่วร้าย ห้ามมิให้ทำการมงคลใดๆ ทั้งสิ้น  เป็นวันที่ให้ความเดือดร้อน หาความเจริญมิได้*

                     ดาบที่ใช้ในการประหารชีวิตนั้น มีรูปร่างต่างๆกัน ดาบเก่าครูเพชฌฆาตจะจัดทำขึ้น เช่น ดาบปลายแหลม ดาบปลายตัด  ดาบหัวปลาไหล ดาบมีฝักและสายสะพายพร้อม   เท่าที่ปรากฏอยู่ในพิพิธภัณฑ์ของกรมราชทัณฑ์ขณะนี้มีอยู่ 3 แบบคือ ดาบหัวปลาไหล ดาบปลายแหลม ดาบหัวตัด ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มใช้สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยกฎหมาย พระอัยการขบถศึก จุลศักราช 796 (พ.ศ. 1978) เลิกใช้สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตรงกับแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2477

                  ลักษณะดาบเพชฌฆาตแยกเป็น ดาบหนึ่งและดาบสอง ซึ่งดาบหนึ่งนั้นจะมีความสั้นกว่าดาบสอง แต่ใบดาบนั้นจะกว้างกว่าดาบสอง ในส่วนของสันดาบจะหนา 1 ซม. ส่วนด้ามดาบประกอบด้วยเหล็กรัดและใช้เชือกด้ายดิบถักหุ้มด้วยลวดลายรัดกุมเพื่อให้ถนัดในการกระชับมือ

เปิดตำนาน \"ดาบเพชฌฆาต\" ดาบตัดคอนักโทษในอดีต...สัมผัสสุดท้ายของนักโทษประหารชีวิต

                    เหตุที่ต้องมีดาบหนึ่ง และ ดาบสองนั้น เพื่อเป็นการล่อหลอกนักโทษให้มองตามดาบใดดาบหนึ่งก่อน แล้วจึงใช้อีกดาบในการฟันลงมาในขณะที่ไม่ได้ระวังตัว หรืออีกประการหนึ่งในกรณีที่ หากดาบหนึ่งฟันไม่คาด จะใช้อีกดาบในการเชือดซ้ำ โดยการจิกหัวนักโทษขึ้น แล้วใช้ดาบสองเชือดจนเส้นเอ็น กับกล้ามเนื้อขาด จากนั้นจึงค่อยนำไปวางยังปลายเท้านักโทษ

ทั้งนี้ ทั้งดาบหนึ่ง  ดาบสองนี้ถูกใช้มาจนถึง รัชกาลที่ ๖ จึงได้ยกเลิก แต่สำหรับชีวิตนักโทษที่สังเวยไปจากดาบคู่นี้ประมาณไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ ศพ และ ในปัจจุบันได้ยกเลิกการประหารนักโทษโดยใช้ดาบมาอย่างถาวร

 

เปิดตำนาน \"ดาบเพชฌฆาต\" ดาบตัดคอนักโทษในอดีต...สัมผัสสุดท้ายของนักโทษประหารชีวิต

ปัจจุบันดาบที่ใช้ประหารชีวิตนักโทษนั้นได้ถูกนำไปเก็บ และจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ ตั้งอยู่ที่  436, ถนนมหาไชย เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ (เดิม), แขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร, 10200 10200 โทรศัพท์: 02 226 1704

 

 

จินต์จุฑา สำนักข่าวทีนิวส์ เรียบเรียง