วันนี้ในอดีต!! 15 พค.รำลึก ที่มาวันฉัตรมงคลครั้งแรก ในสมัย ร.4 ทรงให้เกียรติยศ "พระปิ่นเกล้าฯ" เสมอพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่2 #จักรีวงศ์

ติดตามเรื่องราวดีๆ ได้ที่ http://www.tnews.co.th

ในแผ่นดินของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ 9 นั้น วันฉัตรมงคลตรงกับ วันที่ 5 พฤษภาคม ของทุกปี

 

ความหมายของวันฉัตรมงคล

         วันฉัตรมงคล (อ่านว่า ฉัด-ตระ-มง-คล) มีความหมายตามพจนานุกรมว่า พระราชพิธี ฉลองพระเศวตฉัตร ทำในวันซึ่งตรงกับวันบรมราชาภิเษก

ความเป็นมาของพระราชพิธีฉัตรมงคล

 

         ก่อนหน้ารัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชพิธีฉัตรมงคลถือเป็นพิธีของเจ้าพนักงานในพระราชฐาน ที่มีหน้าที่รักษาเครื่องราชูปโภคและพระทวารประตูวัง ได้จัดการสมโภชสังเวยเครื่องราชูปโภคที่ตนรักษาทุกปีในเดือนหก และเป็นงานส่วนตัว ไม่ถือเป็นงานหลวง

 

         จนกระทั่ง สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ ได้ทรงกระทำพิธีฉัตรมงคลขึ้นเป็นครั้งแรก ในวันบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2393 โดยมีพระราชดำริว่า วันบรมราชาภิเษกเป็นมหามงคลสมัยที่ควรแก่การเฉลิมฉลองในประเทศที่มีพระเจ้า แผ่นดิน จึงถือให้วันนั้นเป็นวันนักขัตฤกษ์มงคลกาล และควรที่จะมีการสมโภชพระมหาเศวตฉัตรให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติ แต่เนื่องจากเป็นธรรมเนียมใหม่ ยากต่อการเข้าใจ อีกทั้งเผอิญที่วันบรมราชาภิเษกไปตรงกับวันสมโภชเครื่องราชูปโภคที่มีแต่ เดิม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงอธิบายว่า วันฉัตรมงคลเป็นวันสมโภชเครื่องราชูปโภค จึงไม่มีใครติดใจสงสัย

 

ดังนั้นจึงได้มีพระราชดำริจัดงานพระราชกุศลพระราชทานชื่อว่า "ฉัตรมงคล" นี้ ขึ้น โดยได้มีการเฉลิมฉลองด้วยการนิมนต์พระสงฆ์มาสวดเจริญพุทธมนต์ ในวันขึ้น 13 ค่ำเดือน 6 รุ่งขึ้นมีการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ด้วยเหตุนี้จึงถือว่าการเฉลิมฉลองพระราชพิธีฉัตรมงคล เริ่มมีในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งแรก

 

          ต่อมาในสมัยรัชกาล ที่ 5 วันบรมราชาภิเษกตรงกับเดือน 12 จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฉัตรมงคลในเดือน 12 แต่ไม่ได้รับการยินยอม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงแก้ไขด้วยการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยตราจุลจอมเกล้าสำหรับตระกูลขึ้น ให้มีพระราชทานตรานี้ตรงกับวันคล้ายบรมราชาภิเษก ท่านผู้หลักผู้ใหญ่จึงยินยอมให้เลื่อนงานฉัตรมงคลมาตรงกับวันบรมราชาภิเษก แต่ยังให้รักษาประเพณีสมโภชเครื่องราชูปโภคอยู่ตามเดิม รูปแบบงานวันฉัตรมงคลจึงเป็นเช่นนี้จนถึงปัจจุบัน

 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394 พระราชวงศ์และเสนาบดีมีมติเห็นชอบให้ถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ จึงได้ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ไปเฝ้าเจ้าฟ้ามงกุฎ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร แต่พระองค์ตรัสว่า ถ้าจะถวายพระราชสมบัติแก่พระองค์จะต้องอัญเชิญสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ขึ้นครองราชย์ด้วย เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นว่าเป็นผู้ที่มีพระชะตาแรง ต้องได้เป็นพระมหากษัตริย์

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น พระองค์ได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พร้อมกันนี้ พระองค์ทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลมีพระราชพิธีบวรราชาภิเษกและทรงรับพระบวรราชโองการ ให้พระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 2 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า "พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว" 

 

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชกรณียกิจที่สำคัญ ได้แก่

ทรงแก้ไขธรรมเนียมข้าราชการเข้าเฝ้าให้สวมเสื้อเช่นประเทศตะวันตก

ทรงทำสัญญาทางพระราชไมตรีและการต่างประเทศกับชาติตะวันตก (สนธิสัญญาเบาว์ริง)

ทรงนำสยามรอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของตะวันตก

ทรงสนพระทัยเรียนรู้ภาษาตะวันตกและวิชาการของตะวันตก เช่น วิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ จนทรงสามารถทำนายการเกิดสุริยุปราคาที่ ต. หว้ากอ จ. ประจวบคีรีขันธ์ ได้อย่างแม่นยำ จนได้รับการขนานพระนามว่า “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย”

ทรงดำรงสิริราชสมบัติเป็นเวลา 18 ปี จึงเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411