หายสงสัย!! "ชายสามโบสถ์" มีความหมายว่าอย่างไร ?! เปิดตำนานสมัยพุทธกาล.."พระจิตตหัตถเถระ" ผู้บวชถึง ๗ ครั้ง จนสุดท้ายได้บรรลุเป็นพระอรหันต์!!

ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th

หายสงสัย!! "ชายสามโบสถ์" มีความหมายว่าอย่างไร ?! เปิดตำนานสมัยพุทธกาล.."พระจิตตหัตถเถระ" ผู้บวชถึง ๗ ครั้ง จนสุดท้ายได้บรรลุเป็นพระอรหันต์!!

             หลายคนเคยได้ยินคำว่า "ชายสามโบสถ์" แต่ทราบกันไหมว่าความหมายที่แท้จริงนั้นคืออะไร เมื่อครั้งในสมัยพุทธกาลชายสามโบสถ์ หมายถึงคนที่เปลี่ยนศาสนา ๓ ครั้ง เช่น ตอนนี้เป็นพุทธ อีกพักหนึ่งกลายเป็นพราหมณ์อีกสักพักไปบวชเป็นชีปะขาว ชายสามโบสถ์ คือชายที่เปลี่ยนศาสนา ๓ หน แต่คนไทยเอามาเรียกคนที่บวชแล้วสึก สึกแล้วบวชใหม่ บวชๆ สึกๆ ถึง ๓ หน

             การที่คนเราจะบวชถึง ๓ หน สึก ๓ หน นั้นว่ากันไม่ได้ เนื่องจากแต่ละคนมีความจำเป็นไม่เหมือนกัน เมื่อย้อนไปในสมัยพุทธกาล ก็มีพระภิกษุรูปหนึ่งบวชแล้วสึกถึง ๗ หน จนในการบวชครั้งสุดท้ายได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

หายสงสัย!! "ชายสามโบสถ์" มีความหมายว่าอย่างไร ?! เปิดตำนานสมัยพุทธกาล.."พระจิตตหัตถเถระ" ผู้บวชถึง ๗ ครั้ง จนสุดท้ายได้บรรลุเป็นพระอรหันต์!!

พระจิตตหัตถเถระ ผู้บวชถึง ๗ ครั้ง

            ชาวนาชาวเมืองสาวัตถีคนหนึ่ง ตามหาโคที่หายไปในป่า รู้สึกหิวมากจึงเข้าไปในวัดประจำหมู่บ้านแห่งหนึ่ง และได้รับประทานอาหารที่เหลือจากพระฉันในตอนเช้า ขณะที่กำลังรับประทานอาหารอยู่นั้น เขาก็มีความคิดว่า แม้ว่าเขาจะทำงานหนักทุกวัน แต่ก็ไม่สามารถหาอาหารดีๆแบบนี้รับประทานได้ เขาควรจะบวชเป็นพระภิกษุก็จะได้ฉันอาหารดีๆ ดังนั้นเขาจึงไปขอให้ภิกษุทั้งหลายบวชให้ เมื่อเข้าไปบวชเป็นพระอยู่ในวัดแล้ว ท่านนี้ก็ได้ทำหน้าที่ต่างๆของภิกษุ และด้วยเหตุที่มีอาหารดีๆรับประทาน ท่านก็เลยอ้วนท้วนน้ำหนักตัวขึ้นมาก แต่ต่อมาไม่นานท่านเกิดความเบื่อหน่ายกับการที่ต้องออกเดินเที่ยวบิณฑบาต และได้ลาสิกขาออกไปเป็นฆราวาสเช่นเดิม แต่พอสึกไปได้ไม่กี่วันก็มีความรู้สึกว่าชีวิตของฆราวาสน่าเบื่อหน่าย จึงได้หวนกลับไปขอบวชจากพระภิกษุอีกเป็นครั้งที่สอง ซึ่งพระภิกษุก็ได้บวชให้ แต่พอบวชครั้งที่สองนี้อยู่ไม่นาน ท่านก็ลาสิกขาออกไปเป็นฆราวาสอีก ท่านบวชแล้วลาสิกขาแบบนี้ถึง ๖ ครั้ง พวกภิกษุทั้งหลายจึงตั้งชื่อให้ว่า

“จิตตหัตถเถระ”  ซึ่งมีความหมายว่าผู้ตกอยู่ในอำนาจของจิต

             ขณะที่ท่านบวชแล้วลาสิกขาไปๆมาๆระหว่างบ้านกับวัดเช่นนี้ ภรรยาของท่านก็ได้ตั้งครรภ์ วันหนึ่งในช่วงที่ท่านลาสิกขาออกไปอยู่ที่บ้านนั้น ท่านบังเอิญเดินเข้าไปในห้องนอนในขณะที่ภรรยาของท่านนอนหลับอยู่ ผ้าที่นางนุ่งเกิดหลุดลุ่ย มีเสียงกรนออกมาทางจมูกและทางปาก มีน้ำลายไหลออกจากปาก อ้าปาก พุงโต มีลักษณะคล้ายกับซากศพ เมื่อท่านมองเห็นภรรยาเป็นเช่นนี้ก็เกิดความคิดขึ้นมาว่า "เราไปบวชเป็นภิกษุหลายครั้งมาแล้ว และอยู่เป็นภิกษุไม่ได้ก็เพราะหญิงผู้นี้" คิดเช่นนี้แล้วก็ฉวยผ้ากาสาวพัสตร์เดินออกจากบ้านไปที่วัดเป็นครั้งที่ ๗ ขณะที่เดินไปนั้นท่านท่องบ่นไปว่า "ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ๆๆๆ"และก็ได้บรรลุพระโสดาปัตติผลในระหว่างทางที่เดินไปวัดนั้นเอง

            เมื่อเดินทางไปถึงที่วัดแล้ว ท่านก็ได้ขอให้ภิกษุทั้งหลายบวชให้ คราวนี้ภิกษุทั้งหลายปฏิเสธและกล่าวว่า "คราวนี้พวกเราบวชให้คุณไม่ได้แล้ว เพราะว่าคุณโกนศีรษะบ่อยมากจนกระทั่งว่าศีรษะของคุณเป็นเหมือนกับหินลับมีดไปแล้ว" ท่านได้วิงวอนขอให้ภิกษุทั้งหลายบวชให้ ซึ่งภิกษุทั้งหลายก็ใจอ่อนได้บวชให้ท่านอีกครั้งหนึ่ง พอบวชไปได้เพียงสองสามวัน ท่านก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล พร้อมด้วยปฏิสัมทาญาณทั้งหลาย พอภิกษุเหล่านั้นเห็นว่าท่านอยู่วัดนานผิดปกติก็มีความแปลกใจได้ถามท่านว่า "คุณจิตตหัตถ์ คราวนี้ทำไมถึงบวชนานนัก ไม่สึกออกไปเป็นฆราวาสอีกเล่า" ท่านได้ตอบไปว่า "ผมลาสิกขาออกไปอยู่บ้าน เมื่อผมมีความยึดมั่นถือมั่น แต่ตอนนี้ความยึดมั่นถือมั่นนั้นผมตัดได้แล้ว"

           พวกภิกษุทั้งหลายไม่เชื่อในคำพูดของท่าน ได้ไปเฝ้าพระศาสดาแล้วกราบทูลเรื่องที่ท่านพูดนั้น พระศาสดาได้ตรัสกับพระภิกษุเหล่านั้นว่า "อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย บุตรของเรา ได้ทำการไปและการมา(บวชแล้วสึกและสึกแล้วบวช) ในเวลาที่ไม่รู้พระสัทธรรม ในเวลาที่ตนยังมีจิตไม่มั่นคง บัดนี้ บุตรของเรานั้นได้ละบุญและบาปได้แล้ว" พระศาสดาทรงแสดงเนื้อความว่า 

"ชื่อว่าจิตนี้ ของใครๆ ไม่มีแน่นอนหรือมั่นคง ก็บุคคลใด ไม่ดำรงอยู่ในภาวะไหนๆ เหมือนกับฟักเขียวที่ตั้งไว้บนหลังม้า เหมือนกับหลักที่ปักไว้ในกองแกลบ เหมือนกับดอกกระทุ่มบนศีรษะล้าน, บางคราวเป็นเสวก บางครั้งเป็นอาชีวก บางคาบเป็นนิครนถ์ บางเวลาเป็นดาบส, บุคคลเห็นปานนี้ ชื่อว่ามีจิตไม่มั่นคง, 
ปัญญาอันเป็นกามาพจรก็ดี อันต่างด้วยปัญญามีรูปาพจรเป็นอาทิก็ดี ย่อมไม่บริบูรณ์แก่บุคคลนั้น ผู้มีจิตไม่มั่นคง ไม่รู้พระสัทธรรมนี้ อันต่างโดยโพธิปักขิยธรรม ชื่อว่ามีความเลื่อมใสอันเลื่อนลอย เพราะความเป็นผู้มีศรัทธาน้อย หรือเพราะความเป็นผู้มีศรัทธาคลอนแคลน, เมื่อปัญญา แม้เป็นกามาพจรไม่บริบูรณ์ ปัญญาที่เป็นรูปาพจร อรูปาพจรและโลกุตระจักบริบูรณ์ได้แต่ที่ไหนเล่า"

             ต่อมาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายสนทนากันว่า "ผู้มีอายุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่ากิเลสเหล่านี้ หยาบนัก, กุลบุตรผู้ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยแห่งพระอรหัตเห็นปานนี้ ยังถูกกิเลสให้มัวหมองได้ (ต้อง) เป็นคฤหัสถ์ ๗ ครั้ง บวช ๗ ครั้ง." พระศาสดาทรงสดับประวัติกถาของภิกษุเหล่านั้น จึงเสด็จไปสู่ธรรมสภา ด้วยการไปอันสมควรแก่ขณะนั้น ประทับบนพุทธอาสน์แล้ว ตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอนั่งประชุมกัน ด้วยถ้อยคำอะไรหนอ" เมื่อพวกภิกษุกราบทูลว่า "ด้วยเรื่องชื่อนี้" แล้ว จึงตรัสว่า "อย่างนั้นนั่นแล ภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่ากิเลสทั้งหลาย ย่อมเป็นสภาพหยาบ, ถ้ากิเลสเหล่านี้ มีรูปร่าง อันใครๆ พึงสามารถจะเก็บไว้ได้ในที่บางแห่ง, จักรวาลก็แคบเกินไป, พรหมโลกก็ต่ำเกินไป, โอกาสของกิเลสเหล่านั้นไม่พึงมี (บรรจุ) เลย, อันกิเลสเหล่านี้ ย่อมทำบุรุษอาชาไนยที่ถึงพร้อมด้วยปัญญา แม้เช่นกับเราให้มัวหมองได้ จะกล่าวอะไรในเหล่าชนที่เหลือ"
     

   

            เพราะฉะนั้นแล้ว คำๆ นี้ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 "ชายสามโบสถ์" หมายความว่า (สํา) น. “ผู้ที่บวชแล้วสึกถึง ๓ หน ใช้พูดเป็นเชิงตําหนิว่าเป็นคนที่ไม่น่าคบ”

ชายสามโบสถ์ หมายถึง คนไม่น่าคบเนื่องจากมีจิตใจไม่มั่นคง โลเล ไม่หนักแน่น

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : เพจ วัดวังพิกุลวราราม อ.วังทอง จ.พิษณุโลก