เปิดตำนาน "บรมครูหลวงปู่เทพโลกอุดร คณะพระอรหันต์จากอินเดีย" ผู้มาเผยแผ่ธรรมในดินแดนสุวรรณภูมิ

ติดตามเรื่องราวดี ๆ อีกมากมายได้ที่ http://panyayan.tnews.co.th

ประวัติของบรมครูหลวงปู่เทพโลกอุดร

เปิดตำนาน "บรมครูหลวงปู่เทพโลกอุดร คณะพระอรหันต์จากอินเดีย" ผู้มาเผยแผ่ธรรมในดินแดนสุวรรณภูมิ

             กล่าวย้อนไปถึงอดีตกาล พุทธศักราชผ่านพ้นไป ๓๐๓ ปี (ตามหลักฐานบันทึกในหนังสือมหาวงศ์พงศาวดารลังกา คำบรรยายของหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ (ป่วน อินทุวงศ์) อดีตภัณฑารักษ์เอก กรมศิลปากร) และตามหลักฐานของวัดเพชรพลี (บันทึกอักษรเทวนาครี ขุดค้นพบ ณ ซากศิลา วัดคูบัว ตำบลคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี) ว่า พระพุทธศาสนาได้เริ่มแพร่เข้าสู่แคว้นสุวรรณภูมิในปีพุทธศักราช ๒๓๕ ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันถึง ๖๘ ปี พระเจ้าอโศกมหาราช ได้ทรงกระทำตติยสังคายนาพระไตรปิฎก คือ การชำระพระไตรปิฎกขึ้นเป็นครั้งที่ ๓ ครั้นแล้วจึงอาราธนาพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ องค์อรหันต์เป็นประธานคัดเลือกบรรดาพระอรหันต์เถระออกทำการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศต่างๆ พระเจ้าอโศกมหาราชกับพระโมคัลลีบุตรติสสเถระ ได้มีความเห็นร่วมกันว่า ในอนาคตพุทธศาสนาอาจไม่มั่นคงอยู่ในอินเดีย จึงเห็นควรส่งพระสมณทูตออกไปเผยแผ่ในส่วนต่าง ๆ ของอินเดียและในต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ จึงมีการส่งพระสมณทูตออกประกาศพุทธศาสนา โดยแบ่งออกเป็น ๙ สาย ภายใต้พระราชูปถัมภ์ของพระเจ้าอโศกมหาราช พระสมณทูต ๙ สาย คือ

สายที่ ๑ มีพระมัชฌันติกเถระ เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย คือ แคว้นกัษมีระ (แคชเมียร์) และแคว้านคันธาระ

สายที่ ๒ มีพระมหาเทวเถระ เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนาทางทิศใต้ของประเทศอินเดีย คือ แคว้นมหิสมณฑล (ปัจจุบัน คือ รัฐไมซอร์)

สายที่ ๓ มีพระรักขิตเถระ เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนาทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย ซึ่งได้แก่ แคว้นวนวาสีประเทศ

สายที่ ๔ มีพระธรรมรักขิตเถระ เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนาแถบชายฝั่งตะวันตกของอินเดีย อันได้แก่ แคว้นอปรันตกชนบท (ปัจจุบัน คือ แถบบริเวณเหนือเมืองบอมเบย์)

สายที่ ๕ มีพระมหาธรรมรักขิตเถระ เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองบอมเบย์ อันได้แก่ แคว้นมหาราษฎร์

สายที่ ๖ มีพระมหารักขิตเถระ เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนาที่โยนกประเทศ (กรีซ)

สายที่ ๗ มีพระมัชฌิมเถระ เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนาทางดินเดียภาคเหนือ (แถมเทือกเขาหิมาลัยและประเทศเนปาล)

สายที่ ๘ มีพระโสณเถระและพระอุตตรเถระ เดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนาในแถบสุวรรณภูมิ (ดินแดนที่เรียกว่า สุวรรณภูมิ ไม่อาจตกลงกันได้ว่าที่ใด แต่มีความเป็นกว้าง ๆ ว่า คือดินแดนที่เป็นประเทศพม่า (เมียนมาร์) ไทย ลาว ญวน เขมร และมลายู)

สายที่ ๙ มีพระมหินทเถระ เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนา ณ ลังกาทวีป (ปัจจุบัน คือ ศรีลังกา)

              สำหรับดินแดนในเขตสุวรรณภูมิ พระโสณเถระ เป็นสมณทูตที่เข้ามาประกาศพระศาสนาได้แสดงธรรมในพรหมชาลสูตรเป็นปฐมเทศนา และได้นำพระบรมสารีริกธาตุเข้ามาพร้อมกับพระอรหันต์อีก ได้แก่

๑. หลวงปู่พระอุตตรเถระเจ้า

 

๒. หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า

 

๓. หลวงปู่พระมูนียเถระเจ้า

 

๔. หลวงปู่พระฌาณียเถระเจ้า

 

๕. หลวงปู่พระภูริยเถระเจ้า

 

                 และ มีสามเณร อุบาสกอุบาสิการ่วมคณะ จำนวน ๓๘ คน ได้รับการต้อนรับจากพระเจ้าสุวรรณภูมิราชาหรือพระเจ้าโลกละว้า ที่เมืองคูบัว ราชบุรี เมื่อเดือนกัตติกมาส หรือเดือน ๑๒ พุทธศก ๒๓๕ (ก่อน ค.ศ. ๓๐๘)

                การเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้ดำเนินจนมาถึง พ.ศ. ๒๖๔ (ก่อน ค.ศ. ๒๗๙) พระโสณเถระจึงได้สร้างวัดขึ้นเป็นแห่งแรก ณ เมืองเถือมทอง อยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำนครชัยศรี ให้พระภูริยเถระเป็นผู้ทำนิมิตพัทธสีมา ในปีพฬศ. ๒๖๕ (ก่อน ค.ศ. ๒๗๘) และได้สร้างพระสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเป็นทรงบาตรคว่ำเหมือนพระสถูปที่เมืองสาญจีในประเทศอินเดีย มีชื่อว่า "วัดพุทธบรมธาตุ" จนพระพุทธศาสนาได้กลายเป็นศาสนาประจำชาติของไทยในปัจจุบัน

 

                    ในคำจารึกอักขรเทวนาครี ฉบับวัดเพชรพลี ปรากฏข้อความที่พิศดารยิ่งขึ้น โดยกล่าวถึงคณะพระธรรมฑูตได้เดินทางมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยทางเรือประกอบด้วย พระโสณะ พระอุตตระ พระมูนิยะ พระฌานียะ พระภูริยะ สามเณรอิสิจน์ สามเณรคุณะ พระสามเณรนิตตย เขมกะอุบาสก อนีฆาอุบาสิกา อดุลยอำมาตย์และคุณหญิงอดุลยา พราหมณ์และนางพราหมณี ผู้คนอีก ๓๘ คน ได้มาพักที่วัดช้างค่อม (นครศรีธรรมราช) เมื่อวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือนอ้าย พ.ศ. ๒๓๕ ออกบิณฑบาต วันขึ้น ๑๕ ค่ำ แล้วเทศนาพรหมชาลสูตรและได้วางวิธีอุปสมบทญัตติจตุตถกรรมวาจา โดยใช้อุทกเขปเสมาหรือเสมาน้ำและได้วางเพศชีไทยโดยถือแบบเหล่าพระสากิยานี ซึ่งเป็นต้นของพระภิกษุณีโดยบวชหรือบรรพชาไม่มีเรือน ออกจากเรือน (อาคารสมา อนาคาริยปพพชชา) ได้วางวิธีสวดปาติโมกข์หรืออุโบสถกรรม ปวารณากรรม

                     เมื่อพระเจ้าโลกละว้าราชา (เจ้าผู้ครองแคว้นสุวรรณภูมิ) รับสั่งให้ มนต์ขอมพิสนุ ขอมเฉย ขอมสอน ขอมเมือง สร้างวัดมหาธาตุ ท่านได้วางวิธีกำหนดนิมิตผูกขันธ์สีมา พ.ศ. 238 เดือน 5 ขึ้น 15 ค่ำขณะอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ท่านได้สอนพระบวชใหม่ให้ท่องพระปาฏิโมกข์จบหลายองค์ แล้วจึงวางวิธีสวดสาธยายโดยฝึกซ้อมให้คล่อง เมื่อคล่องแล้วจึงจะสัชณายกันจริงๆ ท่านให้มนต์ขอมปั้นพระพุทธรูปด้วยปูนขาวเป็นพระประธานในโรงพิธี เมื่อเรียบร้อยแล้วท่านวางวิธีกราบสวดมนต์ไหว้พระ เห็นดีแล้วจึงให้สร้างพระพุทธรูปประจำพระอุโบสถ จึงเป็นธรรมเนียมสืบต่อกันมา ท่านได้วางวิธีกฐินและธุดงค์ไปในเมืองต่างๆ คือ การเที่ยวจาริก

                      การสร้างพระพุทธรูปในสมัยดังกล่าวนี้ ก็ล้วนเป็นสิ่งสมมุติ มีพระพุทธรูปเป็นองค์สมมุติ พระสงฆ์ก็เป็นเพียงสมมุติสงฆ์ ส่วนพระธรรมนั้นเป็นเพียงเสียงสวด ท่านจึงใช้วงล้อเกวียนประดิษฐ์เป็นธรรมจักรแทนพระธรรม กับมี มิค (มิ–คะ) คือสัตว์ประเภท กวาง ฟาน หรือเก้ง เป็นเครื่องหมาย ในสมัยสุวรรณภูมิ

                    พระพุทธรูปที่มีกวางกับธรรมจักรกลับไม่มี การสร้างหรือออกแบบในสมัยนั้น มีอยู่สี่ลักษณะด้วยกันคือ (ประสูติ ตรัสรู้ แสดงธรรมจักร และปรินิพพาน) มีอักษรเทวนาครีจารึกระบุพระนามว่า โลกกน แบบประภามณฑลมี ๓ วงซึ่งเป็นเครื่องหมายพระนามว่า “โลก” คือ วัฏฏ ๓ แบบโปรดสหาย พระยศ ส่วนปางมารวิชัยและปางสมาธิมีทุกสมัย

                   ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๙ พระโสณะกับพระเจ้าโลกละว้าราชา ได้ส่งพระภิกษุไทย ๑๐ รูป มีพระญาณจรณะ (ทองดี) เป็นหัวหน้า ๓ รูป อุบาสก อุบาสิกา ไปเรียนและศึกษา ณ กรุงปาตลีบุตรแคว้นมคธ นับเป็นเวลา ๕ ปี พระญาณจรณะ (ทองดี) ท่านนี้ปรากฏหลักฐานเพียงรูปของพระพิมพ์ มีลักษณะอวบอ้วนคล้ายพระมหากัจจายนเถระเจ้า ด้านหลังมีรูปพระ ๙ องค์เป็นอนุจร หรือบวชทีหลัง คนชั้นหลังเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นองค์เดียวกับพระมหากัจจายนเถระเจ้า และเรียกเพี้ยนเป็นพระสังขจาย เรียกกันมานานนับพันๆ ปี ศัพท์สังขจายไม่มีคำนิยามในพจนานุกรม พุทธสาวกทุกพระองค์จะมีนามเป็นภาษาบาลีทั้งสิ้น ไม่มีนามเป็นภาษาไทย พระญานจรณะ (ทองดี) บรรลุอรหันต์และจบกิจนานนับพันปีแล้ว ปัญหาเช่นดังกล่าวนี้หากนำพระปิดตาขึ้นมาพิจารณาก็ยากที่จะตัดสินว่าเป็นพุทธสาวกองค์ใดกันแน่ อาจจะเป็นพระมหากัจจายนเถระเจ้า ปางเนรมิตวรกายก็ได้ อาจจะเป็นพระควัมปติเถระ ก็ได้ เป็นพุทธสาวกทรงเอตทัคคะด้วยกัน แต่เป็นคนละองค์ คำว่า พระควัมบดี ไม่มี)

                     ปี พ.ศ. ๒๔๕ พระเจ้าโลกละว้าราชาสิ้นพระชนม์ ตะวันทับฟ้าราชบุตรขึ้นครองราชย์ ทรงมีพระนามว่า ตะวันอธิราชเจ้า ถึงปี พ.ศ. ๒๖๔ พระโสณเถระใกล้นิพพาน พระโสณเถระอยู่ ณ แดนสุวรรณภูมิ วางรากฐานธรรมวินัยในพระบวรพุทธศาสนา เป็นระยะเวลา ๒๙ ปี และท่านนิพพานในปีนั้น หลักฐานต่างๆ ตามที่กล่าวจารึกด้วยอักษรเทวนาครี ขุดพบที่โคกประดับอิฐ ตำบลคูบัว จังหวัดราชบุรี พบรูปปั้นลอย องค์ลักษณะนั่ง ลักษณะนั่งห้อยเท้า มีลีลาแบบปฐมเทศนา มีเศียรโล้น ด้านหนึ่งจารึกว่า โสณเถระ ด้านล่าง อุตตรเถระ ด้านล่างสุด สุวรรณภูมิ มีอยู่ด้วยกัน ๕ องค์ ผู้ค้นพบทุบเล่น ๓ องค์ เหลือเพียง ๒ องค์ ตกเป็นสมบัติของวัดเพชรพลี ส่วนครบชุด ๕ องค์ คือ พระโสณเถระ พระอุตตรเถระ พระมูนียเถระ พระฌานียเถระ และพระภูริยเถระ ในท่านั่งแสดงธรรม สมัยต่อมาในรัชกาลที่ ๔-๕ มีการสร้างแบบพระสมเด็จขึ้น แล้วเห็นเป็นพระสมเด็จผิดพิมพ์อีกด้วย จึงเป็นการสับสนสำหรับผู้ที่ไม่รู้จริง

                       จะเห็นได้ว่าตามหลักฐานบันทึก กล่าวเพียงพระโสณเถระ ไม่ได้กล่าวถึงพระอุตตรเถระ (อุตร ก็คือ อุดร) เป็นปัญหาว่า หลวงปู่บรมครูพระเทพโลกอุดรเป็นองค์ใดกันแน่ เพราะในสมัยปัจจุบันกล่าวถึงบรมครูพระเทพโลกอุดร ไม่มีใครรู้จักพระโสณะเถระ ข้อเท็จจริง ท่านทั้งสองเป็นพี่น้องร่วมสายโลหิต องค์พี่คือพระอุตตระ มีร่างกายสันทัด องค์น้องคือพระโสณะ มีร่างกายสูงใหญ่ มีฉายาว่าขรัวตีนโต ถ้านำพระธาตุมาตรวจนิมิตจะบอกว่า โสณ-อุตตร ไม่แยกจากกัน องค์น้องบรรลุอรหันต์ก่อนองค์พี่ แต่มีความเคารพองค์พี่มากต้องกราบองค์พี่ แต่เหตุที่บรรลุก่อนพี่ชายจึงเรียกว่า โสณ-อุตตร ไม่เรียกว่า อุตตร-โสณ ฉะนั้น หลวงปู่ใหญ่ก็คือ พระอุตตระ นั่นเอง ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี กล่าวพระนามขององค์ท่านว่า พระโสอุดรพระโลกอุดร

 

 

ขอขอบคุณที่มาจาก : อุตม กัทลีรัตน์
ขอขอบคุณภาพจาก :
http://board.palungjit.org/

เปิดตำนาน "บรมครูหลวงปู่เทพโลกอุดร คณะพระอรหันต์จากอินเดีย" ผู้มาเผยแผ่ธรรมในดินแดนสุวรรณภูมิ