สุดประทับใจ!! เปิดเรื่องเล่าของ "มหาดเล็กเด็กในหลวง" ถึง "คุณเสมอ" แซกโซโฟนของในหลวง อายุกว่า ๕๐ ปี ที่พระราชทานให้ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย

ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th

สุดประทับใจ!! เปิดเรื่องเล่าของ "มหาดเล็กเด็กในหลวง" ถึง "คุณเสมอ" แซกโซโฟนของในหลวง อายุกว่า ๕๐ ปี ที่พระราชทานให้ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย

              เนื่องในวันที่ ๖ พฤศจิกายน เป็นวันแซกโซโฟนโลก และเนื่องด้วย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ ๙ มหาราชผู้ยิ่งใหญ่ของพสกนิกรชาวไทย นั้นทรงโปรดการทรงดนตรี และพระองค์ยังมีพระปรีชาสามารถในการทรงเครื่องดนตรีประเภทแซกโซโฟนอย่างยิ่ง พระองค์เคยนำแซกโซโฟนส่วนพระองค์ ชื่อว่า คุณเสมอคือแบริโทนแซกโซโฟน พระราชทานให้โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย

สุดประทับใจ!! เปิดเรื่องเล่าของ "มหาดเล็กเด็กในหลวง" ถึง "คุณเสมอ" แซกโซโฟนของในหลวง อายุกว่า ๕๐ ปี ที่พระราชทานให้ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย

  สุดประทับใจ!! เปิดเรื่องเล่าของ "มหาดเล็กเด็กในหลวง" ถึง "คุณเสมอ" แซกโซโฟนของในหลวง อายุกว่า ๕๐ ปี ที่พระราชทานให้ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย

            จากกรณีดังกล่าว ผู้ใช้ Facebook Tanakorn Juangbhanich ได้โพสต์เรื่องราวและภาพเกี่ยวกับ คุณเสมอ แบริโทนแซกโซโฟน ที่ในหลวงพระราชทานให้โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ด้วยความประทับใจว่า

คุณเสมอของในหลวงกับเด็กชายจ๋วงและแจ๊ส
--------------------------------

           ครั้งแรกที่พบกัน คุณเสมออายุประมาณห้าสิบกว่าๆ ส่วนเด็กชายจ๋วงนั้นอายุ ๑๓ ปี คุณเสมอคือแบริโทนแซกโซโฟนที่ในหลวงพระราชทานให้โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยส่วนเด็กชายจ๋วงหรือตัวผมนั้น คือหนึ่งในเหล่า ' มหาดเล็กเด็กในหลวง' หรือนักเรียนที่โชคชะตาฟ้าลิขิตให้เป็นผู้เล่นแบริโทนแซกโซโฟนอยู่ห้าปี ในโรงเรียนวชิราวุธฯ มีวงดนตรีนับสิบวง เช่นวงจุลดุริยางค์ วงปี่สก๊อต วงโยธวาทิต และแน่นอนที่สุด วงหัสดนตรีหรือวงแจ๊ซที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่ม และเคยเสด็จมาร่วมสอน ร่วมทรงดนตรีอยู่บ่อยครั้งในอดีต

           โดยปกติแล้ว อาจารย์จะมาคัดนักดนตรีวงแจ็ซไปจากนักดนตรีวงโยธวาทิต ซึ่งมีไพร่พลสกลไกรมากเป็นอันดับหนึ่งของโรงเรียน และเลี้ยงมือทรัมเป็ต มือทรอมโบน มือแซกโซโฟนไว้ชนิดละเจ็ดแปดคน เกินพอจะแบ่งให้วงแจ๊ส ซึ่งรวมสมาชิกเครื่องเป่าทั้งหมดแทบจะไม่ได้สิบคนดี ส่วนมากอาจารย์วงแจ็สก็จะคัดเอาแต่พวกมีหน่วยก้านดีกว่าเพื่อน เพราะในวงแจ๊สเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นแม้จะเป็นชนิดเดียวกันก็ต้องเป่าโน๊ตคนละโน๊ต ถ้าคนใดคนหนึ่งอมพนำไม่เป่าหรือเป่าไม่แข็ง เสียงดนตรีจะฟังกะพร่องกะแพร่งชัดเจน ยิ่งกว่านั้นดนตรีวงแจ๊สแต่ละเพลงมักมี "ท่อนโซโล" ให้นักดนตรีบรรเลงเดี่ยว อย่างที่คอแจ๊สเรียกว่า "ชิคาโกสไตล์" อันจะเป็นอุปสรรคสำหรับคนที่ฝีมือยังไม่แก่กล้า แต่ที่ผมได้ยกระดับจากวงโยฯไปวงแจ๊สนั้นไม่ใช่เรื่องฝีมืออะไรทั้งสิ้น เป็นแต่ว่าตอนมัธยมสองนั้นผมตัวใหญ่กว่าเพื่อน อาจารย์จึงเห็นเหมาะให้ไปเป่าแบริโทนแซ็กโซโฟนเพียงหนึ่งเดียวของวงแจ๊ส แทนอัลโตแซ็กโซโฟนซึ่งผมกำลังฝึกหัดอยู่ที่วงโยฯ จากอัลโตแซ็กฯคันยาวเพียงแขน ผมจึงได้มาเป่าแบริโทนแซ็กโซโฟนซึ่งวางกับพื้นแล้วสูงแทบท่วมหัวผม (ตอนนั้น) พอดี

           นอกจากขนาดอันน่าสะทกสะท้านแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สะดุดตาผมคือ บนคันแซกฯกรุเป็นลวดลายดอกไม้งดงาม ล้อมยี่ห้อ "Selmer" อันเป็นยอดยี่ห้อของเครื่องเป่า ภายหลังผมมาได้ยินนักเรียนเก่ารุ่นลุงเล่าว่า แซ็กฯคันนี้ในหลวงท่านเคยทรงก่อนจะพระราชทานให้แก่โรงเรียน และยี่ห้อ Selmer นี้ท่านทรงตั้งชื่อไทยให้ว่า "คุณเสมอ" แต่ในเมื่อตอนนั้นไม่มีใครบอกเด็กชายจ๋วงว่าคุณเสมอเป็นของพระราชทาน ผมจึงออกจะเป็นนักดนตรีที่รันทดชีวิตตัวเองมาก อยากเป่าอัลโตแซ็กคันเล็กๆ ก็ไม่ได้เป่า เพื่อนๆ นักอัลโต หรือเทเนอร์แซ็กยกแซ็กจากขาตั้งมาแขวนไว้กับคอเวลาเป่า ส่วนคุณเสมอของผมนั้นหนักเหมือนแขวนจักรยาน จนผมต้องเอาคอยื่นไปเป่าแกที่พาดไว้กับขาตั้งแทน ถ้าจำนวนโน้ตเท่ากัน เวลาเป่าผมเป็นเหนื่อยกว่าคนอื่น เพราะต้องเค้นลมให้ยาวขึ้นตามคันคุณเสมอ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นรองก็แต่ "แอลเพินฮอร์น" หรือแตรตามวัวของพวกสวิสบนเขาแอลป์เท่านั้น

 

สุดประทับใจ!! เปิดเรื่องเล่าของ "มหาดเล็กเด็กในหลวง" ถึง "คุณเสมอ" แซกโซโฟนของในหลวง อายุกว่า ๕๐ ปี ที่พระราชทานให้ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย

            อาจารย์เห็นผมเหนื่อยนัก ก็แนะเคล็ดว่าเช้ามืดให้ตื่นมาดูพระอาทิตย์ขึ้น แล้วก็ค่อยๆสูดลมเข้าท้องป่องจนสุด แล้วพ่นลมออกจนท้องแบน ทำหลายๆครั้งเพื่อบริหารปอดทุกวัน จะทำให้ปอดแข็งแรง เป่าคุณเสมอได้ไม่เหนื่อย ผมตื่นมาพ่นอยู่วันสองวัน แต่เมื่อเวลาเป่ายังเหนื่อยเท่าเดิม จึงเลิกตื่น เพราะคิดแล้วว่าให้มันเหนื่อยทีเดียวตอนเป่าเลยดีกว่า แต่ที่เป็นรุ่น "เฮฟวี่ เวท" ตัวจริงยิ่งกว่าคุณเสมอ ก็คือกล่องเก็บคุณเสมอ ซึ่งทำจากเหล็กหนาหนัก และทำท่าเป็นโลงมากกว่ากล่องมาโดยตลอด เพราะมีขนาดโอ่โถงจนผมแน่ใจว่าถ้าลึกอีกสักหน่อยคงจะเก็บทั้งคุณเสมอและผมได้พร้อมกัน ในยามที่โรงเรียนเรายกวงไปแสดงดนตรีต่างสถานที่ นักดนตรีแต่ละคนต้องรับผิดชอบหิ้วหอบเครื่องมือของตัวเอง ผมซึ่งยังโตไม่เต็มที่ต้องเอียงตัวกะทายกล่องคู่บารมีคุณเสมอ แล้วกลั้นใจเดิน -วาง-เดิน-วาง เป็นพักๆ จนกว่าจะถึงที่หมาย

             อาจารย์พิเศษคนหนึ่งเห็นผมหอบกล่องคุณเสมอ ก็ถามผมอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยว่า ผมเคยได้ยินเรื่อง "บุญเพ็งหีบเหล็ก" ไหม พอผมบอกไม่เคย อาจารย์ก็เล่าเรื่องบุญเพ็งให้ผมฟังเป็นคุ้งเป็นแคว โชคดีที่ไม่มีเพื่อนๆมาฟังด้วย ไม่เช่นนั้นผมคงได้สมญานามใหม่เป็น "จ๋วงหีบเหล็ก" อีกครั้งหนึ่งอาจารย์สอนไวโอลินของวงจุลดุริยางค์เห็นสภาพปล้ำผีลุกปลุกผีนั่งของผมเข้า ท่านก็รีบปรี่เข้ามาช่วยถือ พร้อมสอนว่าเป็นนักดนตรีต้องรู้จักถนอมมือ นัยว่าอย่าให้นิ้วซึ่งมีไว้บรรเลงคันแซกฯ มาป่นกับการหอบหิ้วกล่องคุณเสมอเสียก่อน แต่ไปๆมาๆกับผมกับคุณเสมอและหีบเหล็กก็ลากลู่ถูกังกันเรื่อยมาจากมัธยมหนึ่งกระทั่งมัธยมหก จะว่าไปคุณเสมอก็คงมีส่วนช่วยเลี้ยงผมให้โตไวเหมือนกัน เพราะการที่ต้องต่อกรคุณเสมอนานปี ทำให้ข้อลำผมมันล่ำสันขึ้น

            และแม้จะไม่ได้บริหารปอดยามเช้าอย่างที่อาจารย์แนะนำ แต่โน๊ตยาวๆที่เป่าเปลืองปอดแทบชักหน้าไม่ถึงหลังตอนแรกนั้น ก็กลายเป็นของง่าย จนเวลาผมเป่าเต็มแรง อาจารย์ต้องคอยสั่งว่า "pianissimo" หรือ "บาริโทนเบาๆหน่อย" ไม่ให้ไปกลบเสียงแซ็กฯชนิดอื่นๆ ผมนั้นเป็นนักดนตรีแบบมวยวัด ถึงจะอ่านโน้ตบันไดห้าเส้นออก แต่ก็ชอบให้อาจารย์มาฮัมทำนองให้คุ้นหูก่อนแบบต่อเพลงไทยเดิม ไม่ยอมศึกษาเองจากโน๊ตตามที่อาจารย์เคี่ยวเข็ญเพราะลองมาหลายครั้งแล้ว โน้ตที่ผมอ่านได้นั้นดูจะเป็นคนละเพลงกับโน้ตที่อาจารย์เขียนอยู่ร่ำไป

            แม้การเล่นดนตรีวิธีนี้จะไม่ค่อยสมศักดิ์ศรีคุณเสมอแต่ผมถือเสียว่าลางเนื้อชอบลางยา และปลอบใจคุณเสมอว่าดูแต่หลุยส์ อาร์มสตรองปะไร ตอนที่คุณทวดหลุยส์อายุเท่าๆกับผมก็ไม่เห็นอ่านโน้ตคล่องที่ไหน ชั่วแต่ว่าจำทำนองแม่น ฟังครั้งเดียวก็เป่าตามถูกต้อง เท่านั้นคุณทวดก็ยังได้ดิบได้ดีเป็นมหาราชาแจ๊สของโลก แต่นอกจากเรื่องอ่านโน้ตไม่คล่องนี้แล้ว ดูเหมือนผมจะไม่ค่อยทำอะไรให้คุณเสมอแกต้องน้อยหน้าใครอีก อย่างเวลาอาจารย์ครึ้มอกครึ้มใจสั่งให้เซกชั่นทรอมโบนหรือแซกโซโฟนลุกยืนขึ้นมาทำสวิงสวาย ส่ายคันเครื่องมือไปมาในเพลง "In the Mood" หรือ "Peppito" เพื่อเพิ่มบรรยากาศให้กับงานรื่นเริงในโรงเรียน มิไยว่าอาจารย์จะกำชับว่าแบริโทนไม่ต้องส่าย เพราะกลัวว่าผมจะเอาคุณเสมอไปฟาดหางกับแท่นวางโน้ตหรืออะไรต่อมิอะไรรอบๆนั้น ผมก็ไม่ยอมเพราะถือว่าคุณเสมอแกก็เป็นแซ็กฯเหมือนกัน จึงมีสิทธิชอบธรรมจะส่ายเหมือนแซ็กฯเล็กแซ็กฯน้อยอื่นๆ

 

สุดประทับใจ!! เปิดเรื่องเล่าของ "มหาดเล็กเด็กในหลวง" ถึง "คุณเสมอ" แซกโซโฟนของในหลวง อายุกว่า ๕๐ ปี ที่พระราชทานให้ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย

            ดังนั้น แม้ว่าจะมีความรู้สึกเหมือนทหารที่แบกปืน (ใหญ่) ไปเบิกปูนมาโบกตึก แต่ผมก็อดทน เกร็งข้อยกคุณเสมอส่ายไปมาพร้อมๆกันกับคนอื่นในวงอย่างไม่ย่อท้อและเท่าที่ผ่านมา คุณเสมอก็ยังไม่มีประวัติกวาดเอาไมค์หรือแท่นวางโน้ตลงไปพังพาบกับพื้นสักที อาจารย์จึงมักแค่ส่ายหัวแต่ก็ยอมให้ผมกับคุณเสมอสนุกกันทุกครั้งไป ที่ทำไปนี้ต้องถือว่าคุณเสมอกระชากวัยอยู่ไม่น้อย เพราะจริงๆแล้วคุณเสมอเป็นแซ็กฯชั้นผู้ใหญ่ เครื่องดนตรีอื่นในวงรุ่นผมตั้งแต่ทรัมเป็ต ทรอมโบน กลอง เบส ฉิ่ง ฉาบอะไรล้วนไม่เคยเห็นคุณเสมอตอนยังหนุ่ม ก็คุณเสมอนั้น มาวชิราวุธฯตั้ง ๕๐ กว่าปีมาแล้ว คือตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๗ ตอนนั้นตัวคุณเสมอเองจะอายุเท่าไหร่ผมก็ไม่ทราบ ได้แต่เดาเอาว่าแกคงยังหนุ่มแน่นอยู่ไม่น้อย

            แต่ที่แน่ๆ คือแกมาพร้อมกับเพื่อนๆ เครื่องดนตรีครบวงในฐานะเครื่องดนตรีพระราชทานใหม่เอี่ยมจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้แก่วงหัสดนตรีของวชิราวุธวิทยาลัยเล่ากันว่าที่โรงเรียนโชคดีเช่นนี้เพราะ ครั้งหนึ่งภายหลังจากที่ทรงใช้แซกโซโฟนของโรงเรียนร่วมซ้อมดนตรีร่วมกับนักเรียนวชิราวุธฯ ทรงมีรับสั่งว่า

"เครื่องดนตรีของโรงเรียนเก่ามาก"

            แต่นานไปๆ เครื่องดนตรีพระราชทานเหล่านี้ก็ค่อยๆถูกปลดระวาง เว้นไว้ก็แต่คุณเสมอ ซึ่งเป็นของส่วนพระองค์มาก่อน เมื่อถึงตอนที่ผมเข้ามารับสืบทอดนั้น คุณเสมอเองก็ตกอยู่ในฐานะเหมือนกันกับเครื่องดนตรีที่คุณเสมอเคยเข้าแทนที่เมื่อกว่าห้าสิบปีก่อนไม่มีผิด เบาะไม้คอร์กรอบกำพวดสำหรับสวมเมาธ์พีสของคุณเสมอลุ่ยจนไม่อาจสวมได้แนบสนิททำให้เวลาเป่านั้นผมต้องคอยเตรียมผ้าไว้ซับน้ำลายคุณเสมอบริเวณที่เมาธ์พีสกับเบาะไม่แนบกัน ไม่ผิดกับปรนนิบัติคนเฒ่าคนแก่ ส่วนนวมที่บุก้านเปิดปิดช่องลมของคุณเสมอเล่าก็เปื่อยบ้าง ยุบบ้างเหมือนหมอนรองกระดูกคุณปู่คุณตา จึงเป็นธรรมดาที่จะเปิดปิดลมได้ไม่เด็ดขาดเหมือนแต่ก่อน และแสดงออกด้วยเสียงเพี้ยนๆของโน้ตบางตัว เช่น โดชาร์ป ผมจึงมีหน้าที่ต้องจำ เพื่อจะได้ไม่เป่าโน้ตพวกนี้ออกเสียงให้คุณเสมอแกเสียหน้า แต่โรคชราที่ร้ายที่สุดของคุณเสมอก็คืออาการก้านเปิดปิดช่องลมหัก ซึ่งเป็นเรื้อรังเพราะการรักษาเท่าที่ทำได้ก็คือการบัดกรีด้วยตะกั่ว แต่ด้วยเหตุที่ผิวคุณเสมอแกเป็นทองเหลืองชั้นดี ตะกั่วจึงเกาะอยู่ได้ไม่นานก็หลุดอีก

           ผมเทียวพาคุณเสมอเข้าๆออกๆโรงซ่อมบำรุงของโรงเรียนเพื่อบัดกรีอยู่เป็นหลายครั้ง อาจารย์ของผมท่านจึงสั่งห้ามไม่ให้บัดกรีอีก โดยได้กรุณาเอาเชือกฟางสีแดงมาผูกตรึงให้แทน (ซึ่งถ้าสังเกตดีๆในรูปก็จะเห็นอยู่แถวๆบั้นงอนงามของคุณเสมอ) และแล้ว ตั้งแต่วันนั้นมาก้านคุณเสมอก้านนั้นก็ไม่มีหลุดอีกเลย สร้างความเลื่อมใสให้กับผู้พบเห็นวิทยาการนี้กันถ้วนหน้า อย่างไรก็ดี เมื่อได้ดูแล เห็นน้ำใจกันอย่างนี้ ผมกับคุณเสมอก็ยิ่งผูกพัน ตอนที่โรงเรียนอนุมัติงบประมาณมาซื้อเครื่องเป่าใหม่ให้นักดนตรีวงหัสดนตรีเกือบทั้งวง ยกเว้นแบริโทนแซกโซโฟนซึ่งมีราคาแสนแพงนั้น ผมน้อยใจได้แว่บเดียวว่าคุณเสมอไม่แวววับ มันปลาบเหมือนของใหม่ แต่แล้วก็นึกเห็นด้วยก็อาจารย์หลายท่านที่ต่างบอกว่าเครื่องดนตรีวาวๆนั้นแถวเวิ้งพระนครเกษมมีถมไปแต่แซกฯพระราชทานนั้นทั้งโรงเรียนมีแค่คันเดียว

 

สุดประทับใจ!! เปิดเรื่องเล่าของ "มหาดเล็กเด็กในหลวง" ถึง "คุณเสมอ" แซกโซโฟนของในหลวง อายุกว่า ๕๐ ปี ที่พระราชทานให้ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย

             ในเมื่อตกลงใจอย่างนั้นแล้ว ก่อนถึงวันออกงานทีไรผมก็จะตั้งอกตั้งใจขัดถูคุณเสมอให้เงางามไม่ด้อยกว่าพวกเครื่องใหม่ แม้จะเป็นงานหลังขดหลังแข็งเต็มที เพราะคุณเสมอมีความใหญ่โตเป็นสมบัติ ดูแต่น้ำยาบราสโซทั้งขวด เทียบขนาดแล้วใหญ่ยังไม่เท่าเมาธ์พีสคุณเสมอด้วยซ้ำ ในขณะที่พวกเครื่องใหม่เขาใช้ผ้าน้ำมันชนิดพิเศษที่แถมมากับเครื่องลูบเครื่องราวสามลาเท่านั้นก็ได้เรื่อง ผมต้องเอาน้ำมันบราสโซมาไล้จนขึ้นคราบทั่วสรีระคุณเสมอ ทิ้งให้แห้ง ก่อนจะใช้ผ้าขัดออก ฟังดูเหมือนจะง่าย แต่หากคุณดูรูปประกอบ ก็จะว่ายังมีส่วนซอกมุมและหลุมรูต่างๆอีกมาก ซอกแซกต่างๆเหล่านี้ผมต้องใช้คอตตอนบัดหรือเอาไม้แยงผ้าถูเอาด้วยมานะ ทำทีไรผมเป็นต้องเห็นภาพแม่เอาผ้าพันนิ้วเช็ดทำสะอาดหูของผมทุกที แม่จะรู้ตัวหรือเปล่าก็ไม่รู้ว่าเป็นโชคของแม่ที่ผมมีแค่สองหู ส่วนผมนั้นไม่โชคดีเท่าแม่ เพราะคุณเสมอแกมีตั้งช่องลมตั้ง ๑๖ ช่อง ผลจากความมานะพยายาม คุณเสมอจะเผยเงางามพอให้ใจชื้นบ้าง ยามออกงานด้วยกัน หนุ่มวัยดึกอย่างคุณเสมอจึงหล่อเหลางามสง่าไม่น้อยไปกว่าเครื่องดนตรีรุ่นหลังในวงแจ๊ส แต่ไม่นานเกินเจ็ดวันคุณเสมอก็หมดความกระชุ่มกระชวย กลับมาทำท่าหม่นๆเหมือนกับไม่เคยมีอาทิตย์ที่แล้วมาก่อน

          ถึงกระนั้นคุณเสมอก็ปูนบำเหน็จให้หายเหนื่อย เพราะในขณะที่วงดนตรีอื่นๆของโรงเรียนอย่างวงโยธวาทิต หรือวงปี่สก็อตต้องสวนสนามสะเทินแดดสะเทินฝนอยู่กลางแจ้ง แล้วได้แต่น้ำหวานลูบท้อง วงหัสดนตรีออกงานคราใด ก็ล้วนแต่เป็นงานในรั้วในวังอันรื่นรมย์ เช่นงานวันเฉลิมพระชนมายุของสมเด็จเจ้าเพชรรัตน์ ณ ตำหนักพัชราลัย ที่หัวหิน ซึ่งนอกจะเป็นโอกาสให้เราได้เฝ้าพระองค์ท่านในระยะใกล้ชิดแล้ว สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ยังทรงพระราชทานเลี้ยงอันเลิศด้วยเครื่องคาวหวานแก่เหล่านักดนตรี เป็นที่รื่นเริงแก่พวกเราซึ่งตั้งใจรับพระมหากรุณาธิคุณคนละหลายๆ อิ่มจนแทบจะไม่เป็นอันเป่าเครื่องดนตรีเลยทีเดียว

 

สุดประทับใจ!! เปิดเรื่องเล่าของ "มหาดเล็กเด็กในหลวง" ถึง "คุณเสมอ" แซกโซโฟนของในหลวง อายุกว่า ๕๐ ปี ที่พระราชทานให้ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย

              ชวนให้นึกถึงประวัติของครูเอื้อ สุนทรสนาน ผู้ซึ่งตัดสินใจฝากเนื้อฝากตัวกับวงแจ๊ซเพราะเห็นว่าคุณภาพชีวิตดีกว่าวงคลาสสิก ท่านเคยให้สัมภาษณ์ไว้เองว่า เมื่อครั้งที่เขามีการประชุมสภาผู้แทนครั้งแรกเมื่อพ .ศ. ๒๔๗๕ นั้น หลังประชุมมีการเลี้ยงและมีดนตรีบรรเลงทั้งข้างล่างและข้างบน ครูเอื้อท่านเล่นอยู่ข้างบน เป็นวงแจ๊สซึ่งบรรเลงให้ผู้กินเลี้ยงชั้นบนและมีการลีลาศด้วย ส่วนวงข้างล่างเป็นวงคลาสสิก

               ในขณะที่วงแจ๊สซึ่งฐานะด้อยกว่า มีอาหารการกินบริบูรณ์ แต่วงคลาสสิกกลับไม่มีใครเอาใจใส่ ครูเอื้อท่านเลยตัดสินใจว่า หากจะเล่นเพื่ออาชีพให้คนชอบต้องเล่นแจ๊ส หากเล่นคลาสสิกคงไปไม่รอด แม้เวลาจะต่างกันกว่าครึ่งศตวรรษ แต่ผมเองก็เดินทางมาถึงบทสรุปเดียวกับครูเอื้อไม่มีผิดเลย คือเล่นแจ๊สแล้วมีกินมากกว่าเมื่อถึงวันที่ผมสำเร็จการศึกษาและต้องลาจากโรงเรียนตลอดจนวงหัสดนตรี ผมก็รู้สึกเป็นหน้าที่ที่จะต้องขัดเช็ดคุณเสมอเป็นครั้งสุดท้าย ตรวจดูข้อต่อต่างๆว่ายังอยู่ดี แล้วจึงบรรจงวางแกลงในกล่องเหล็กใบดั้งเดิม เพื่อให้แน่ใจว่านักเรียนรุ่นต่อไปจะได้พบกับคุณเสมอในสภาพหล่อเหลาที่สุดเท่าที่แกจะเป็นได้ ก่อนจะปิดกล่องลงด้วยความสำนึกในบุญคุณของคุณเสมอและพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด ก็ไม่จางหายไปได้เลย

------------------
ปล. มหาดเล็กเด็กในหลวง คือวลีจากเพลง "เราเด็กในหลวง" พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำนอง สิงโตเล่นหาง ซึ่งนักเรียนโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยร้องเมื่อมีงานพระราชพิธีในโรงเรียนหรือโอกาสสำคัญต่างๆ

 

                 สำหรับบาริโทนแซกโซโฟน (Baritone Saxophone) เป็นแซกโซโฟนที่มีขนาดใหญ่และมีความถี่เสียงต่ำ แต่ยังสามารถที่จะบรรเลงเดื่ยวได้เพราะโทนเสียงอยู่ในช่วงโทนเทนเนอร์-เบส ถือเป็นเครื่องที่ใช้แทนเชลโล่ในวงประเภทเครื่องเป่า และมีราคาค่อนข้างแพง และมีน้ำหนัก ดังนั้นบาริโทนแซกโซโฟนจึงไม่เหมาะแก่นักแซกโซโฟนมือใหม่ทั้งหลาย ความยาวท่อของบาริโทนแซกโซโฟนจะอยู่ประมาณ ๗ ฟุต

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก :  Facebook Tanakorn Juangbhanich  เคยตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารพลอยแกมเพชร ฉบับ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๐

สุดประทับใจ!! เปิดเรื่องเล่าของ "มหาดเล็กเด็กในหลวง" ถึง "คุณเสมอ" แซกโซโฟนของในหลวง อายุกว่า ๕๐ ปี ที่พระราชทานให้ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย