ทะลุเป้าอีกแล้ว!! ศปถ.แจงยอดอุบัติเหตุ 6 วัน ตายพุ่ง 426 ราย เจ็บ 3,761 ราย ชลบุรีแชมป์ 33 ราย

ติดตามข่าวเพิ่มได้ที่ www.tnews.co.th

วันนี้ ( 3 ธ.ค.)  ที่ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน  พล.ท. ธีรวัฒน์ บุญยะวัฒน์ หัวหน้าฝ่ายกิจการพลเรือน ส่วนงานการรักษาความสงบเรียบร้อย สำนักเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  ในฐานะประธานแถลงข่าว สรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ประจำปี 2560  เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 3 มกราคม 2560 เป็นวันที่ 6 ของการรณรงค์ "ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร" เกิดอุบัติเหตุ 422 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 59 ราย ผู้บาดเจ็บ 419 คน


พล.ท. ธีรวัฒน์  กล่าวว่า  สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุดได้แก่  ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 27.73 เมาสุรา ร้อยละ 26.30  ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 79.17 ส่วนใหญ่เกิดในถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 41.00 บนถนนใน อบต.หรือหมู่บ้าน ร้อยละ 36.02 เส้นทางตรง ร้อยละ62.32  ซึ่งช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 33.41 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 44.80 ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,047 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 64,522 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 683,929 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี 110,704 ราย มีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่ 30,958 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 30,366 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 20 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา 6 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุดได้แก่ นครราชสีมา 21 คน
         
สำหรับผลสรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 6 วัน ตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค.59 – 3 ม.ค.60 เกิดอุบัติเหตุรวม 3,579 ครั้ง ยอดผู้เสียชีวิต 426 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 3,761 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 5 จังหวัด ได้แก่ พังงา แม่ฮ่องสอน ยะลา ระนอง และสตูล จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี 146 ครั้ง :ซึ่งจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ ชลบุรี 33 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี 156 คน โดยข้อมูลปริมาณรถของศูนย์ปฏิบัติการคมนาคม พบว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2559 – 4 มกราคม 2560 มีปริมาณรถบนท้องถนนทั้งขาเข้าและขาออกกรุงเทพฯ จำนวน 6,274,767 คัน เมื่อเทียบกับช่วงปกติ มีปริมาณรถ 4,709,499 คัน เพิ่มขึ้น จำนวน1,565,268 คัน คิดเป็นร้อยละ 33.24 จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น         

 

พล.ท. ธีรวัฒน์ กล่าวอีกว่า วันนี้ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางถึงที่หมายแล้ว ขณะที่บางส่วนยังอยู่ระหว่างการเดินทาง เมื่อเทียบสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 6 วันที่ผ่านมา เพิ่มสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ห่วงใยความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน จึงได้สั่งการให้ ศปถ. ประสานจังหวัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยกวดขันการขับรถเร็ว การคุมเข้มเมาแล้วขับ การส่งเสริมการใช้อุปกรณ์นิรภัย ตรวจสอบรถให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานก่อนเดินทาง และการประเมินความพร้อมของผู้ขับขี่ เพื่อป้องกันการง่วงหลับใน รวมถึงดำเนินการแก้ไขปัญหา และปิดจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ โดยตั้งกรวยริมไหล่ทาง ปิดจุดกลับรถ เปิดสัญญาณไฟวับวาบบนเส้นทางเป็นระยะ ตลอดจนให้ถือปฏิบัติตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติในการดำเนินมาตรการยึดรถผู้ที่เมาแล้วขับอย่างเข้มข้น” หัวหน้าฝ่ายกิจการพลเรือน ส่วนงานการรักษาความสงบเรียบร้อยฯ กล่าวและว่า นอกจากนี้ให้จังหวัดถอดบทเรียนการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2560 เพื่อวางมาตรการและกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับสถานการณ์อุบัติเหตุ ครอบคลุมทั้งการดำเนินงานในช่วงปกติ และช่วงเทศกาลสำคัญ ควบคู่กับการรณรงค์สร้างจิตสำนึกและความรับผิดชอบในการใช้รถใช้ถนน เพื่อเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในสังคมไทยอย่างยั่งยืน
 

 

ด้านนายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย  กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้เน้นย้ำให้จังหวัดจัดประชุมศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด เพื่อสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2560 พร้อมทั้งเร่งตรวจสอบข้อมูลผู้บาดเจ็บอุบัติเหตุทางถนน ในช่วงควบคุมเข้มข้น ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2559 – 4 มกราคม 2560 ซึ่งเสียชีวิตภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันเกิดเหตุ เพื่อให้ได้ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนที่ถูกต้องและเป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมถึงวิเคราะห์สาเหตุหลักการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ถอดบทเรียนการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ เพื่อค้นหาสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุที่จะนำไปสู่การกำหนดมาตรการและกลยุทธ์ในการสร้างความปลอดภัยทางถนนให้สอดคล้องกับสถานการณ์และรูปแบบการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่ที่ครอบคลุมทั้งในช่วงปกติและช่วงเทศกาลสำคัญ
 

ส่วน นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)  กล่าวว่า จากการวิเคราะห์สถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 6 วันที่ผ่านมา พบว่า ผู้ประสบอุบัติเหตุส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่  ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  และการไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย ขณะที่ผู้ประสบอุบัติเหตุบางส่วนเป็นกลุ่มผู้ใช้รถใช้ถนนที่ขับรถระยะทางไกล มีสาเหตุจากการขับรถเร็ว  สภาพรถไม่ปลอดภัย และความอ่อนล้าจากการเดินทาง ทำให้มีอาการหลับใน ศปถ. จึงได้ประสานจังหวัดคุมเข้มพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ขับขี่ ทั้งการดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว และง่วงหลับใน โดยใช้กลไกการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น พร้อมรณรงค์สร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนน ควบคู่กับการดำเนินมาตรการทางสังคมและชุมชน  รวมถึงมาตรการองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการสร้างการสัญจรที่ปลอดภัยตามมาตรฐานสากล


วิทย์ ณ เมธา   สำนักข่าวทีนิวส์