จับ "ยุงยักษ์" ตัวเป้งได้แถวบ้าน เตือนอย่าตบ มีประโยชน์ต่อคนล้วนๆ

จากกรณี รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ภาพการจับ "ยุงยักษ์" ได้ตัวหนึ่ง ก่อนจะมาเผยแพร่ข้อมูลลงในเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ เกี่ยวกับเรื่องนี้

โดย อ.เจษฎ์ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ "ยุงยักษ์" ว่าสัตว์ที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์ และไม่ควรไปทำร้ายหากใครพบเห็น แม้ว่ามันจะมีรูปร่างน่ากลัวกว่ายุง หรือยุงลาย ทั่วไปก็ตาม

อ.เจษฎ์ โพสต์ข้อความระบุว่า.. เมื่อเช้าจับ "ยุงยักษ์" ได้ตัวนึง  ตัวใหญ่มาก สีสวยดีด้วย และเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์ต่อเราด้วยนะครับ (ไม่ดูดเลือด แต่ช่วยผสมเกสรดอกไม้ แถมลูกน้ำยุงยักษ์ยังกินลูกน้ำยุงอื่นด้วย) เลยเอาข้อมูลความรู้เกี่ยวกับยุงยักษ์ มาฝากกันครับ

ยุงยักษ์

โค้ดส่วนลดลาซาด้า
 

#ยุงยักษ์

อันดับ Diptera
วงศ์ Culicidae
วงศ์ย่อย Toxorhynchitinae (Megarhininae)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Toxorhynchites spp.

#รูปร่างลักษณะ

ยุงยักษ์เป็นยุงขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร มีสีสดใส เกล็ดเป็นมันวาว (metallic) ปลายปากโค้งงอจึงดูดกินเลือดไม่ได้ ขอบปีกด้านล่างมีรอยหยักอยู่ระหว่างเส้น CuA และเส้น Cu2 ไข่ในระยะแรกๆมีสีขาวขนาดประมาณ 0.5 มิลลิเมตร เมื่อใกล้จะฟักเป็นตัวไข่จะมีสีเหลืองอ่อน ลูกน้ำยุงยักษ์ระยะที่ 1 มีขนาดเล็กมากยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร มีสีเทาอ่อน ลูกน้ำระยะที่ 2 มีขนาดยาว 2-4 มิลลิเมตร มีสีเข้มขึ้น ลูกน้ำระยะที่ 3 มีขนาดยาว5-8 มิลลิเมตร มีสีแดงเข้มเหมือนสีเปลือกมังคุด ลูกน้ำระยะที่ 4 เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร มีสีแดงเข้มเช่นเดียวกับลูกน้ำระยะที่ 3 ตัวโม่งมีขนาดใหญ่ มีกลุ่มขน (seta) ที่ปล้อง 1-X 

#วงจรชีวิต

ระยะไข่ใช้เวลา 2 วัน ระยะเวลาที่เป็นลูกน้ำนานประมาณ 16-17 วัน ระยะตัวโม่งนาน 5 วัน หลังจากยุงตัวผู้และยุงตัวเมียลอกคราบออกจากตัวโม่งแล้วประมาณ 2-3 วันก็จะเริ่มผสมพันธุ์ หลังจากผสมพันธุ์ประมาณ 7 วันยุงตัวเมียจะเริ่มวางไข่ ยุงตัวเมียตัวหนึ่งๆจะวางไข่ประมาณ 10-50 ฟองต่อสัปดาห์ อายุเฉลี่ยของยุงตัวผู้ประมาณ 30 วัน สำหรับยุงตัวเมียอยู่ได้นานประมาณ 45 วัน 

#อุปนิสัย

เมื่อไข่ฟักออกเป็นตัวลูกน้ำแล้วประมาณ 2 ชั่วโมงก็จะเริ่มกินอาหาร ซึ่งก็คือลูกน้ำของยุงชนิดอื่นๆและไรน้ำ ลูกน้ำยุงยักษ์จะลอยตัวนิ่งๆรอเหยื่อ และจะกินเหยื่อทุกชนิด (แม้แต่ลูกน้ำยุงยักษ์ด้วยกัน) ที่ว่ายน้ำเข้ามาใกล้ ลูกน้ำยุงยักษ์ระยะที่ 4 สามารถอดอาหารได้นานเป็นเดือนและมีชีวิตอยู่ได้แม้ในที่ชื้นหมาดๆในที่ร่มได้นานหลายวัน ยุงยักษ์ทั้งตัวผู้และตัวเมียไม่กัดคนและสัตว์ จะกินแต่น้ำหวานจากดอกไม้ผลไม้เท่านั้น 

#แหล่งเพาะพันธุ์

ยุงยักษ์ตัวเมียวางไข่ตามท้องร่องในสวน บริเวณที่มีต้นไม้ร่มรื่น อาจพบลูกน้ำยุงยักษ์ได้ตามโอ่งน้ำที่อยู่นอกบ้าน ในโพรงไม้ ตอไม้ ตอไผ่ กาบต้นเตย กะลามะพร้าว เป็นต้น 

#ความสำคัญ

ลูกน้ำยุงยักษ์มีศักยภาพในการกินลูกน้ำยุงลายดีมาก โดยเฉลี่ยแล้วลูกน้ำยุงยักษ์ระยะที่ 4 หนึ่งตัวสามารถกินลูกน้ำยุงลายระยะที่ 1 ได้ 940 ตัวต่อวัน กินลูกน้ำยุงลายระยะที่ 2 ได้ 315 ตัวต่อวัน กินลูกน้ำยุงลายระยะที่ 3 ได้ 60 ตัวต่อวัน และกินลูกน้ำยุงลายระยะที่ 4 ได้ 20 ตัวต่อวัน นอกจากนี้ยังสามารถกินตัวโม่งของยุงลายได้ 30 ตัวต่อวัน การนำยุงยักษ์ไปปล่อยในภาชนะขังน้ำเพื่อควบคุมกำจัดลูกน้ำยุงลายนั้นควรใช้ระยะที่เป็นไข่ เนื่องจากสะดวกแก่การขนส่ง ในระยะที่เป็นลูกน้ำนั้นการขนส่งลำบาก ต้องใช้ภาชนะขนส่งจำนวนมาก เพราะถ้าใส่ลูกน้ำยุงยักษ์ไว้ในภาชนะเดียวกัน ลูกน้ำยุงยักษ์ก็จะกินกันเอง แต่การปล่อยลูกน้ำยุงยักษ์มีข้อดีคือสามารถกินลูกน้ำยุงลายได้ทันที ในประเทศไทยมีผู้ศึกษาเกี่ยวกับการใช้ยุงยักษ์ควบคุมยุงลายหลายท่านด้วยกัน ผลการศึกษาพบว่าสามารถควบคุมยุงลายได้นานหลายสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม การควบคุมยุงลายในเขตเมืองโดยการใช้ยุงยักษ์มีข้อจำกัดเนื่องจากตัวยุงยักษ์ไม่สามารถแพร่พันธุ์ในเขตเมืองได้เพราะขาดแหล่งอาหาร จำเป็นต้องนำไข่หรือลูกน้ำยุงยักษ์ไปปล่อยเพิ่มเป็นระยะๆ

ยุงยักษ์

ข้อมูลจาก dhf.ddc.moph.go.th (22 สิงหาคม 2554)

ลาซาด้าแจกคูปองส่วนลด