หมอธีระวัฒน์ เผยความชอกช้ำแพทย์ใช้ทุน งานล้นมือ ถูกแพทย์อาวุโสเอาเปรียบ

หมอธีระวัฒน์ เผยความชอกช้ำแพทย์ใช้ทุนโรงพยาบาลชุมชน แบกรับหน้าที่มากกว่าการรักษา บางคืนไม่ได้นอน ถูกแพทย์อาวุโสเอาเปรียบ ปัญหาใต้พรมกระทบโรงพยาบาลต่างจังหวัดขาเแคลนหมอ

วันที่ 17 พ.ย. 64 นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เรื่องราวผ่านเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ถึงประเด็น "ความชอกช้ำ ของแพทย์ใช้ทุนโรงพยาบาลชุมชน" โดยมีการระบุข้อความว่า

 

หมอธีระวัฒน์ เผยความชอกช้ำแพทย์ใช้ทุน แบกรับหน้าที่มากกว่าการรักษา ถูกแพทย์อาวุโสเอาเปรียบ

 

จากใจของนายแพทย์ประกิต อนุกูลวิทยา อายุ 30 ปี ขณะเขียนเรื่องนี้ ปฏิบัติงานเป็นแพทย์ประจำบ้านอายุรกรรมประสาทชั้นปีที่ 3 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 


2564 บรรจุเป็น อาจารย์ หน่วยประสาทวิทยา คณะแพทยศาสตร์ รพ จุฬา

"หมอไปไหน หมอทำอะไรอยู่ ทำไมยังไม่ออกตรวจ" คงเป็นคำถาม ที่คนไข้ที่ไปใช้บริการที่โรงพยาบาลทั่วไปถาม บางคนคงคิดว่าหมอไปเปิดคลินิกบ้าง บางคนคงคิดว่าหมอไปอยู่เวรเอกชนบ้าง แต่มีไม่กี่คนที่รู้ว่าแพทย์ใช้ทุนที่อยู่โรงพยาบาลชุมชนเขาทำอะไรกัน ผมเป็นคนหนึ่งที่เคยผ่านเหตุการณ์นั้นมา


เป็นที่ทราบกันดี ระบบการเรียนแพทย์ในประเทศไทยนั้น เรียนเป็นระยะเวลาทั้งหมด 6 ปี และหลังจากเรียนจบจากโรงเรียนแพทย์ แพทย์เกือบทั้งหมดต้องออกไปทำงานเพื่อชดใช้ทุน เนื่องจากการเรียนแพทย์ในประเทศไทย รัฐบาลมีส่วนสนับสนุนในการเรียน มีแค่ไม่กี่โรงเรียนแพทย์บางที่เท่านั้น ที่ไม่ต้องชดใช้ทุน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม แพทย์ที่จบทุกคนก็จำเป็นต้องเป็นแพทย์เพิ่มพูนทักษะในปีแรกของการทำงาน เพื่อจะได้มีโอกาสในการเข้ามาเรียนต่อเฉพาะทาง ซึ่งโรงพยาบาลที่ไปทำงานส่วนใหญ่ก็คือโรงพยาบาลจังหวัด หรือโรงพยาบาลศูนย์ที่มีความสามารถในการฝึกอบรมได้ หลังจากนั้นก็จะออกไปชดใช้ทุนที่โรงพยาบาลชุมชน ซึ่งการชดใช้ทุนอย่างน้อย รวมทั้งหมดประมาณ 3 ปี หลังจากนั้นจึงสามารถขอทุนเข้ามาเรียนต่อเฉพาะทางได้

 

หมอธีระวัฒน์ เผยความชอกช้ำแพทย์ใช้ทุน แบกรับหน้าที่มากกว่าการรักษา ถูกแพทย์อาวุโสเอาเปรียบ

แพทย์ส่วนใหญ่ในระบบสาธารณสุขของประเทศไทยส่วนใหญ่จะต้องเคยผ่านการใช้ทุนที่โรงพยาบาลชุมชน ซึ่งจากที่เราประมาณกัน หนึ่งปีน่าจะมีผู้ที่จบแพทย์ประมาณ 2,000 กว่าคน ซึ่งเป็นจำนวนมาก แต่แล้วทำไมสาธารณสุขของไทยยังขาดแคลนแพทย์ที่อยู่โรงพยาบาลชุมชน ถ้าถามปัญหาในผู้ใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุข ก็คงบอกว่าแพทย์หลังจากชดใช้ทุน 3 ปี ก็อาจจะมาเรียนต่อบ้าง ลาออกบ้าง หรืออาจจะขอย้ายกลับมาบ้านเกิดบ้าง แต่สาเหตุที่แท้จริงที่อยู่ใต้พรมของปัญหาเหล่านี้ล่ะ ว่าทำไมแพทย์ถึงไม่พอ การกระจายแพทย์ถึงไม่เป็นสัดส่วน บางภูมิภาคขาดแคลน บางภูมิภาคมีแพทย์ล้นหลาม ปัจจัยอะไรที่ทำให้แพทย์ไม่ไปอยู่โรงพยาบาลชุมชนต่อ สาเหตุหลักที่แท้จริงของการเกิดปัญหาเหล่านี้ น่าจะเกิดจากนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่มอบให้กับแพทย์ใช้ทุนที่ทำให้ทนแรงกดดันไม่ได้ และการเอารัดเอาเปรียบของแพทย์อาวุโส (Staff)


หนึ่งวันทำงานของแพทย์ใช้ทุนที่อยู่ตามโรงพยาบาลชุมชน ไม่ได้สบายอย่างที่คิด บางคนต้องตื่นมาแต่เช้า เพื่อมาตรวจคนไข้ในหอผู้ป่วยซึ่งอาจจะเป็น 10-20 คน หรือบางคนอาจจะตรวจมากถึง 50 คน หลังจากนั้นอาจจะต้องมาตรวจผู้ป่วยนอกที่รับบริการ เฉลี่ยวันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 50-100 คน บางวันอาจจะมากกว่า 150 คนเลยก็ได้ ตอนเย็นยังต้องมาอยู่เวร ที่บางคืนไม่ได้นอน ซึ่งเดือนหนึ่งเฉลี่ยแล้ว ไม่ต่ำกว่า 10 เวรต่อเดือน ซึ่งงานอื่นๆที่แพทย์ใช้ทุนต้องทำในโรงพยาบาล เช่น บางคนต้องเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลไปด้วย หรือบางคนต้องรับผิดชอบดูแลการสรุปเวชระเบียน (Audit chart) บางวันต้องออกไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วย หรือประชุมแผนงานการดูแลผู้ป่วยของแต่ละโรค (Service plan) เป็นต้น

 

หมอธีระวัฒน์ เผยความชอกช้ำแพทย์ใช้ทุน แบกรับหน้าที่มากกว่าการรักษา ถูกแพทย์อาวุโสเอาเปรียบ


ซึ่งจะเห็นได้ว่างานบางอย่างไม่ได้เป็นการตรวจหรือดูแลผู้ป่วย แต่เป็นจากนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่ทำให้เกิดงานเหล่านี้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า แพทย์ใช้ทุนหนึ่งคนที่เพิ่งจบมาต้องมาเผชิญงานหนัก และงานที่ทำบางส่วน โรงเรียนแพทย์ไม่ได้สอนความรู้เหล่านี้เอาไว้ ทำให้แพทย์เลือกที่จะหาทางออกอื่น เช่น ไปเรียนต่อเฉพาะทาง หรือลาออก เพื่อลดภาระงานที่ไม่จำเป็นเหล่านี้


ส่วนปัจจัยที่สอง คือการเอารัดเอาเปรียบจากแพทย์อาวุโส (Staff) ซึ่งแพทย์ใช้ทุนคงจะต้องเจอกับปัญหานี้ เช่น การบังคับซื้อเวรให้อยู่เวรแทนตนเองเพื่อตนเองจะไปอยู่คลินิกอื่นนอกโรงพยาบาล การจำกัดจำนวนคนไข้ในการตรวจวันละไม่กี่คนเพื่อนำเวลาราชการไปตรวจคลินิกอื่นนอกโรงพยาบาล การเลือกคนไข้ในการตรวจ การให้ทำงานวันหยุดให้ โดยไม่มีค่าตอบแทน หรือแม้แต่แพทย์อาวุโสบางท่าน มีชื่ออยู่ในโรงพยาบาลเพื่อใช้สิทธิ์สวัสดิการต่างๆแต่ไม่เคยมาทำงานตรวจคนไข้ หรือให้บังคับให้แพทย์ใช้ทุน ทำงานโดยที่ไม่อยากทำ นี่ยังไม่รวมถึงการที่แพทย์อาวุโสที่เป็นแพทย์เฉพาะทาง (Specialists) รับปรึกษาและตอบคำปรึกษา ด้วยถ้อยคำไม่สุภาพ ด่าทอ


ซึ่งปัญหานี้เองทำให้แพทย์ใช้ทุนรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม บางคนถึงขั้นลาออกก่อนชดใช้ทุนครบ และเกลียดระบบนี้ไปเลย หรืออาจจะเป็นปัจจัยให้แพทย์ใช้ทุนต้องดิ้นรนเพื่อไปเรียนต่อเฉพาะทาง เพื่อไม่ให้อยู่ในชนชั้นล่างสุดของห่วงโซ่อาหารนี้ นโยบายกระทรวงที่เข้าใจปัญหาของแพทย์ใช้ทุนน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่น่าจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เช่น การให้แพทย์ที่อยู่ในโรงพยาบาลชุมชนมีส่วนให้ความเห็นกับนโยบายที่กระทรวงสาธารณสุขจะออก การจำกัดเวลาในการทำงานของแพทย์ต่อสัปดาห์ให้เป็นรูปธรรม การจัดสรรบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลงานอื่นๆที่แพทย์ใช้ทุนไม่มีความเชี่ยวชาญ หรือการจัดภาระงานของแพทย์อาวุโสกับแพทย์ใช้ทุนให้เทียบเท่ากัน และมีการตรวจสอบแพทย์ที่เอารัดเอาเปรียบและกำหนดบทลงโทษ เป็นต้น


การมีแนวทางเหล่านี้ อาจจะไม่ได้แก้ปัญหาได้ทั้งหมด แต่อาจจะลดความเครียดของแพทย์ใช้ทุน ที่ต้องมารับภาระเหล่านี้ได้ และอาจจะให้เขามีความสุขในการทำงานได้ ซึ่งก็จะมีผลต่อการตัดสินใจในการลาออก หรือการไปเรียนต่อของแพทย์ใช้ทุน ซึ่งน่าจะลดปัญหาการกระจายแพทย์ได้บางส่วน