ตรวจสอบแล้ว โรคงูสวัด หากเชื้อวนรอบตัวจะทำให้เสียชีวิต จริงหรือไม่

เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง โรคงูสวัด ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อต่างๆ หากเชื้อวนรอบตัวจะทำให้เสียชีวิต ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แล้ว

กรณีความเชื่อเกี่ยวกับโรคสวัด ที่ระบุว่าหากงูสวัดขึ้นวนรอบตัวจะทำให้เสียชีวิตนั้น ทางสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริงว่า โรคงูสวัด เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ที่เรียกว่า ไวรัสวาริเซลลา (varicella virus) ซึ่งเป็นเชื้อเดียวกับไวรัสที่ทำให้เกิดโรคสุกใส และยู่ในกลุ่มเดียวกับไวรัสเริม ผู้ป่วยที่เป็นโรคสุกใสแล้ว เมื่อหายจากโรค เชื้อไวรัสจะเข้าไปซ่อนในปมประสาท และจะถูกกระตุ้นเมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ ซึ่งไวรัสจะมีการแบ่งตัวทำให้การปล่อยเชื้อไวรัสออกมาตามแนวเส้นประสาท จะมีอาการแสดงเบื้องต้นคือปวดแสบปวดร้อนที่ผิวหนังซึ่งถูกควบคุมโดยแนวเส้นประสาทนั้น 

ต่อมาจะมีผื่นแดงตามด้วยตุ่มน้ำในลักษณะเป็นกลุ่มเรียงตัวตามแนวเส้นประสาท โดยที่ตุ่มน้ำสามารถกลายเป็นตุ่มหนอง และแตกเป็นแผล หรือเป็นสะเก็ดตามมาได้ หลังจากอาการทางผิวหนังหายแล้ว อาจมีอาการปวดเรื้อรังในผู้ป่วยบางราย รวมถึงอาจมีแผลเป็นตามหลังได้ ซึ่งการเกิดการกระตุ้นของไวรัส varicella ที่ทำให้เกิดโรคงูสวัดนั้น มักเกิดขึ้นในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ป่วยที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้ยาเคมีบำบัด โดยอาการที่พบมีความรุนแรงมากกว่าผู้ป่วยทั่วไปที่สุขภาพแข็งแรง

ตรวจสอบแล้ว โรคงูสวัด หากเชื้อวนรอบตัวจะทำให้เสียชีวิต จริงหรือไม่

ทั้งนี้ โรคงูสวัดจะเกิดตามแนวยาวของเส้นประสาทเพียงซีกใดซีกหนึ่งของร่างกายเท่านั้น แต่ถ้าเกิดในผู้ที่ร่างกายอ่อนแอหรือภาวะภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำมาก ๆ อาจจะมีอาการกำเริบและเกิดการลุกลามได้มากกว่าปกติ หรืออาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจนเป็นสาเหตุที่ทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ แต่โดยสรุปแล้วโรคงูสวัดไม่ถือเป็นโรคที่ร้ายแรง การรักษาโรคงูสวัดนั้น มีทั้งการรักษาตามอาการ และการรักษาร่วมกับการใช้ยาต้านไวรัส รวมถึงให้ยาแก้ปวดปลายเส้นประสาทร่วมด้วย หากสงสัยว่าเป็นโรคงูสวัดแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เนื่องจากการรักษาในช่วงแรกของโรคจะให้ผลการรักษาที่ดีกว่า

ตรวจสอบแล้ว โรคงูสวัด หากเชื้อวนรอบตัวจะทำให้เสียชีวิต จริงหรือไม่

ดังนั้น ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมการแพทย์ สามารถติดตามได้ที่ www.dms.go.th หรือโทร 02 5906000