"หมอธีระ"เผย ยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในการรับมือ โอไมครอน

"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความระบุ เรื่อง โควิด-19 โอไมครอน ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

โดย "หมอธีระ" ระบุข้อความดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในการรับมือโอไมครอนคือ การทำให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองโรคมาตรฐานได้เร็วที่สุด ทั่วถึง และไม่มีค่าใช้จ่าย

หมอธีระ

RT-PCR เป็นวิธีที่มีความไวสูงและความจำเพาะสูง โดยความไวสูงกว่าชุดตรวจ ATK

หากใช้ ATK จะมีโอกาสหลุด (ผลลบปลอม) สูง และทำให้แพร่ระบาดได้

ระบบคัดกรองคนจากต่างประเทศ จำเป็นต้องใช้ RT-PCR เป็นหลัก

ส่วนประชาชนในประเทศ หากทำให้เข้าถึง RT-PCR ได้อย่างทั่วถึงย่อมดีที่สุด โดยการสร้างจุดบริการครอบคลุมทุกพื้นที่ และไม่เสียค่าใช้จ่าย

อย่าลืมว่าแม้ราคาจะลดลงมาเหลือพันต้นๆ แต่ในยามเศรษฐกิจฝืดเคือง คงยากที่ทุกคนจะเข้าถึงบริการได้

นอกจากนี้หากยังให้คนตรวจ ATK กัน ก็ต้องย้ำให้ตรวจบ่อย เพื่อเพิ่มโอกาสตรวจพบได้มากขึ้น ทั้งนี้แม้ ATK จะราคาถูกกว่ามาก แต่สำหรับคนจำนวนไม่น้อยที่หาเช้ากินค่ำ ย่อมยากที่จะเข้าถึงบริการเช่นกัน

 

หมอธีระ

...อัพเดต 3 เรื่อง

1. สถานการณ์ระบาดของโอไมครอนในแอฟริกาใต้

ชัดเจนว่าในไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โอไมครอนระบาดอย่างรวดเร็ว มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้นมาก โดยกราฟการระบาดชันกว่าเดลต้าอย่างมาก แสดงถึงสมรรถนะในการแพร่ที่สูงกว่าเดลต้า

ปัจจุบันอัตราการเพิ่มของจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของแอฟริกาใต้อยู่ราว 25%

จำนวนผู้ป่วยที่ต้องรับการดูแลรักษาในโรงพยาบาลนั้นสูงขึ้นชัดเจน ทำให้ภาระของระบบสาธารณสุขสูงขึ้นมากในพื้นที่ระบาด

ช่วงเวลาเหลื่อมระหว่างติดเชื้อกับนอนโรงพยาบาลนั้น (Lag time between infection and hospitalization) น่าจะอยู่ระหว่าง 5-7 วัน

ในขณะนี้ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงของจำนวนผู้เสียชีวิตว่าจะเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด จำเป็นจะต้องติดตามต่ออีก 1-2 สัปดาห์ น่าจะสรุปได้ว่าอัตราตายน้อยกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้านี้จริงหรือไม่ คาดการณ์ว่าถ้าเป็นไปในลักษณะนี้อัตราตายจะน้อยกว่าเดิมอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง

2. ข้อมูลจากสหราชอาณาจักรเกี่ยวกับโอไมครอน

หากดูอัตราของจำนวนการติดเชื้อใหม่ต่อจำนวนคนที่ป่วยจนต้องรับการรักษาตัวในโรงพยาบาล จะพบว่าดูจะมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าระลอกก่อนหน้า นั่นแปลว่าโอกาสติดเชื้อแล้วป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาลดูจะลดลงกว่าเดิม

ปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจต้องติดตามต่อไปอีกระยะเช่นกันว่า จำนวนติดเชื้อโอไมครอนที่กำลังเพิ่มขึ้นนั้น ลักษณะของประชากรที่ติดเชื้อในสหราชอาณาจักรนั้นเป็นเช่นไร เหมือนและต่างจากแอฟริกาใต้หรือไม่ และหากมีการแพร่กระจายมากขึ้นกว่านี้ จะยังคงอัตราเดิมให้เห็นหรือไม่

3. ข้อมูลจากอิสราเอลเกี่ยวกับผลจากการฉีดกระตุ้นเข็มสาม (mRNA vaccine)

เราทราบกันดีว่าอิสราเอลรณรงค์ฉีดวัคซีนเข็มสามของ Pfizer/Biontech ไปก่อนหลายประเทศทั่วโลก

ข้อมูลจาด Yaniv Erkich และ Ido Irani วิเคราะห์จำนวนการติดเชื้อโควิด-19 ต่อประชากร 100,000 คน จำแนกตามช่วงอายุและจำนวนวัคซีนที่ได้รับ (ไม่ฉีดวัคซีน, 2 เข็ม และ 3 เข็ม) ตั้งแต่ธันวาคม 2563 เป็นต้นมา

พบว่าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นนั้นดูจะลดโอกาสการเป็นโรคโควิด-19 ได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้หากมองในแง่ดีจะพบว่า การที่ประชากรในประเทศฉีดวัคซีนมากขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้จำนวนประชากรกลุ่มเสี่ยงลดลง และน่าจะบรรเทาการระบาดในภาพรวมได้ อย่างไรก็ตาม คงต้องมีการติดตามเรื่องระดับภูมิคุ้มกันที่ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป และวางแผนเรื่องการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันเป็นระยะ

...สำหรับไทยเรา

เน้นย้ำว่า อย่าประมาท เพราะยังไม่ถึงเวลาสรุปประเมินเรื่องอัตราตายของสายพันธุ์โอไมครอน

และแม้อัตราตายจะน้อยกว่าเดิม หรือป่วยรุนแรงน้อยกว่าเดิม แต่หากแพร่เร็วขึ้นมากจนทำให้คนติดเชื้อมากขึ้นอย่างมากทั้งคนฉีดวัคซีนครบ ไม่ครบ หรือยังไม่ได้ฉีดก็ตาม ผลกระทบในแง่จำนวนคนนอนโรงพยาบาลและจำนวนผู้เสียชีวิต แบบ absolute numbers จริงนั้นก็จะมากกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้าที่รุนแรงกว่าแต่แพร่น้อยกว่าก็ได้