"หมอธีระ" เผยรากเหง้าการระบาดของโควิด ลั่น อย่าโทษประชาชน

"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความระบุ เรื่อง โควิด-19 โอมิครอน

"หมอธีระ" ระบุข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า 

...สำหรับไทยเรา
ศักยภาพของระบบการตรวจคัดกรองโรค RT-PCR นั้นสำคัญมากในการรับมือ Omicron (โอมิครอน)
การเข้าถึงบริการตรวจ ความครอบคลุม ความทันต่อเวลาตั้งแต่ตรวจจนถึงรายงานผล และการปลดล็อคกฎเกณฑ์และเรื่องค่าใช้จ่ายให้คนสามารถเข้าถึงได้ง่ายและฟรี คือสิ่งที่จำเป็น
สร้างความตระหนักให้ประชาชนทราบข้อจำกัดเกี่ยวกับการใช้ ATK ว่าความไวจำกัด จะมีโอกาสเกิดผลลบปลอมสูงกว่า RT-PCR ดังนั้นหากได้ผลลบแต่มีประวัติชัดเจนหรือมีอาการสงสัย จำเป็นต้องตรวจซ้ำ หรือไปตรวจด้วย RT-PCR 

หมอธีระ

ATK มีประโยชน์ในแง่ของการ rule in แต่ไม่ควรใช้ rule out...แปลง่ายๆ คือ หากได้ผลลบ อย่าวางใจ อย่าประมาท หากเสี่ยงหรือมีอาการสงสัย แต่หากได้ผลบวก โอกาสติดเชื้อจริงมีสูง ยามที่ระบาดกันเยอะๆ
 

สถานการณ์ระบาดของ Omicron (โอมิครอน) ในไทย ชัดเจนแล้วว่าไม่ใช่แค่เจอในนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ แต่ตอนนี้แพร่กันในชุมชน โดยเป็นแบบ superspreaders เหมือนฉายหนังม้วนเก่าแต่แนวโน้มหนักกว่าเดิม เช่น ที่กาฬสินธุ์ซึ่งติดไปแล้วกว่า 170 คนจากร้านอาหารกึ่งสถานบันเทิง หรือแม้แต่กทม. ที่ติดกันในวง 11 คนที่กินดื่มไวน์กัน

ย้ำเตือนกันให้ใส่หน้ากากเสมอ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า

เลี่ยงการตะลอนท่องเที่ยว

เลี่ยงที่แออัด อยู่ห่างจากคนอื่นเกินหนึ่งเมตร

งดการปาร์ตี้สังสรรค์ การแชร์ของกินของใช้

Omicron มีหลายเหตุการณ์ทั่วโลกที่ติดเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ สัมพันธ์กับเรื่องการแพร่เชื้อติดเชื้อทางอากาศ (airborne transmission) ดังนั้นจึงต้องป้องกันตัวเคร่งครัดมากๆ

คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลปกป้องลูกหลาน เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง เนื่องจากยังไม่ได้วัคซีนหรือได้วัคซีนจำกัดมาก ทั่วโลกเด็กและเยาวชนติดกันมาก ป่วยกันมาก

ลองวิเคราะห์การระบาดที่เกิดขึ้นในแต่ละระลอก ไม่ว่าจะที่ใดในโลก ไม่ได้มีสาเหตุหลักมาจากการปฏิบัติตัวประชาชนเป็นเหตุรากเหง้า

แต่รากเหง้ามาจากเรื่องนโยบายและมาตรการระดับประเทศ ทั้งเรื่องสุขภาพท่องเที่ยวเดินทาง

ตัวนโยบายและมาตรการต่างๆ นั้นจะส่งผลต่อการรับรู้ ความตระหนัก และการปฏิบัติตัวของประชาชน

เฉกเช่นเดียวกับระลอก Omicron (โอมิครอน)

การจะหนักหนาสาหัสหรือไม่ ไม่ใช่ขึ้นกับประชาชน แต่ขึ้นกับนโยบายและมาตรการครับว่าจะนำไปสู่กระบวนการต่างๆ ที่ทำให้ประชาชนในสังคมรับรู้ ตระหนัก และปฏิบัติตัวป้องกันตนเองและครอบครัวได้เข้มข้นเข้มแข็งและทันเวลาหรือไม่

ดังนั้นหากทราบรากเหง้าสาเหตุ กระบวนการที่เกิดขึ้นตามมาดังที่อธิบายแล้วข้างต้น หากเกิดผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบใดๆ ต่อมา

ต้องไม่โทษการกระทำเชิงพฤติกรรมของประชาชน ซึ่งถือเป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นจากนโยบาย มาตรการ และการดำเนินการจากนโยบายและมาตรการ

ต้องวิเคราะห์ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นว่าจะดีแย่เพียงใด หากออกมาไม่ดี ก็ต้องไปปรับที่รากเหง้าสาเหตุ ไม่ใช่โยนให้ผลผลิตรับผิดชอบการเกิดขึ้นของผลลัพธ์และผลกระทบ

ระลอกต่างๆ ที่ผ่านมา รอดมาได้เพราะประชาชนทุกภาคส่วนร่วมด้วยช่วยกันประคับประคอง ใช่หรือไม่ ลองตรองดู

หมอธีระ