"หมอธีระ"เผยเตรียมเข้าช่วงติดเชื้อแบบอัตราเร่ง เตรียมของจำเป็นไว้เลย

"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความระบุ เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 โอมิครอน ในเมืองไทย

"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ระบุว่า

4 มกราคม 2565

ทะลุ 292 ล้านไปแล้ว

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,160,313 คน ตายเพิ่ม 3,937 คน รวมแล้วติดไปรวม 292,387,390 คน เสียชีวิตรวม 5,464,789 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ อเมริกา สหราชอาณาจักร สเปน อิตาลี และฝรั่งเศส

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 88.28 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 89.38

ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 50.3 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 59.33

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 5 ใน 10 อันดับแรก และ 11 ใน 20 อันดับแรกของโลก

"หมอธีระ"โอมิครอน

...สำหรับสถานการณ์ไทย

ระบบรายงานจำนวน ATK ปิดปรับปรุงมาตั้งแต่ 28 ธ.ค.64 ลำพังรายงานติดเชื้อเมื่อวาน 2,927 คน ไม่สามารถสะท้อนสถานการณ์ได้อย่างละเอียดพอ

จำนวนเคส Omicron "โอมิครอน" สะสม 1,780 คน เป็นอันดับ 15 ของโลก

...อัพเดต Omicron

ระลอกนี้ทำลายสถิติทุกระลอกที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อทะลุล้านคนต่อวันอยู่เรื่อยๆ ตั้งแต่ช่วงคริสตมาสเป็นต้นมา

Omicron แพร่ระบาดไปแล้ว 132 ประเทศ โดยมี 17 ประเทศที่รายงานมากกว่า 1,000 ราย

ทั้งนี้ ไทยเป็นหนึ่งในนั้น และมีเคสสะสมตอนนี้อันดับ 15 ของโลก

ดังที่เคยประเมินไว้ว่าเราจะเห็นการระบาดใหม่หลังเข็นนโยบายเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่ 1 พ.ย. 2564 ราว 6-8 สัปดาห์

ถัดจากนี้ คาดว่าจะเข้าสู่ช่วงติดเชื้อแบบอัตราเร่ง หรือ acceleration phase ตั้งแต่หลังกลางมกราคม จะไปพีคแรกราว 3 กุมภาพันธ์ หากไม่สามารถบริหารนโยบายและมาตรการควบคุมป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอต่อสถานการณ์

ความน่าห่วงของเราคือ หลายประเทศทั่วโลกจะมีอัตราการติดเชื้อสูงลิ่วอย่างรวดเร็วแบบใกล้เคียงเส้นตั้งฉาก (nearly vertical) จะทำให้มีคนติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากและจะเกินกำลังของระบบสุขภาพที่จะรองรับ แม้จำนวนป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตจะไม่มาก แต่คงเป็นภาพที่ทุกประเทศไม่พึงปรารถนาที่จะให้เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนสำคัญคือ ศักยภาพของระบบตรวจคัดกรองโรค ที่ประชาชนจะเข้าถึงบริการได้จำกัด จะทำให้โอกาสตรวจได้ครอบคลุมครบถ้วนทันเวลาอาจเป็นไปได้ยาก ทำให้คนรู้สถานะการติดเชื้อได้ช้าหรือไม่รู้ และจะระบาดไปอย่างต่อเนื่องทั้งในระดับครัวเรือน ที่ทำงาน และชุมชน

ยิ่งข้อมูลวิชาการชี้ให้เห็นชัดเจนว่า household secondary attack rate หรืออัตราการแพร่เชื้อติดเชื้อในครัวเรือนของ Omicron นั้นสูงกว่าเดลต้าพอสมควร (31% vs 21%) โอกาสที่คุมได้ย่อมลำบากหากระบบตรวจคัดกรองไม่เพียงพอ

สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือ ขอเรียนย้ำเตือนพวกเราให้เน้นดูแลตนเองและสมาชิกในครอบครัวให้ดี

ใส่หน้ากากเสมอ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า

อยู่ห่างคนอื่นเกินหนึ่งเมตรเสมอ

เลี่ยงที่แออัด เลี่ยงการพบปะกัน ทำงานทางไกล แบ่งทีมให้ดี

คอยสังเกตอาการตนเองและสมาชิกในครอบครัว ถามกันเสมอทั้งเช้าและเย็น หากใครมีอาการผิดปกติ ไข้ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม ครั่นเนื้อครั่นตัว ขอให้หยุดเรียนหยุดงาน นึกถึงโควิด-19 ไว้เสมอ และรีบตรวจรักษา

เตรียมที่ทางและข้าวของหยูกยาอุปกรณ์จำเป็นไว้ในบ้าน เผื่อใช้ยามคนใดคนหนึ่งไม่สบาย

ระลึกไว้ด้วยว่า ติดเชื้อโควิด แม้รักษาหายแล้ว ก็มีโอกาสเกิดอาการคงค้างได้นาน ที่เรียกว่า Long COVID โดยเรายังไม่รู้ว่า Omicron จะทำให้เกิดมากน้อยเพียงใด สายพันธุ์ก่อนๆ เกิดได้ถึง 20-40%

ดังนั้นไม่ติดย่อมดีกว่า

ด้วยรักและห่วงใย

"หมอธีระ"โอมิครอน