"อ.เจษฎ์"ไขข้อข้องใจ กระติกน้ำร้อน กินไฟ ครึ่งหนึ่งของแอร์ จริงหรือไม่

"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความระบุ "กระติกน้ำร้อน กินไฟเท่ากับ ครึ่งหนึ่งของแอร์" จริงหรือ?

"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ระบุว่า 

"กระติกน้ำร้อน กินไฟเท่ากับ ครึ่งหนึ่งของแอร์" จริงหรือ?

(ออกตัวก่อน ว่าไม่ได้เป็นผู้ที่รู้อะไรมากเกี่ยวกับเรื่องไฟฟ้า แต่คิดว่าเป็นโจทย์ที่น่าสนใจดี .. ลองมาช่วยกันคิดนะครับ)

มีทางบ้านส่งคลิปวิดีโอสั้น ๆ ของการบรรยายในโรงเรียน เกี่ยวกับ "การประหยัดไฟฟ้า" มาถาม โดยในคลิปนี้จะเป็นตอนเกี่ยวกับ "การเสียบปลั๊กกระติกน้ำร้อน กินไฟมาก เท่ากับครึ่งหนึ่งของแอร์ " !?

ในคลิป วิทยากรได้เสียบกระติกน้ำร้อนไฟฟ้า เข้ากับปลั๊กไฟ แล้วก็มีตัวเลขการใช้พลังงานขึ้นมาบนจอด้านหลัง สังเกตตัวเลขวัตต์ ได้ 6 ร้อยกว่าๆ แล้ววิทยากรก็บอกทำนองว่า เห็นมั้ยว่ากระติกน้ำร้อนกินไฟสูงมาก เป็นครึ่งหนึ่งของเครื่องปรับอากาศเลย หรือประมาณว่า 2 กระติกน้ำร้อนกินไฟเท่ากับแอร์หนึ่งเครื่อง ! ... นักเรียนจึงควรจะช่วยกันถอดปลั๊กกระติกน้ำร้อน ในโรงเรียน เวลาไม่ได้ใช้

ฟังเผินๆ ก็ตรงกับที่เรารู้กันอยู่ว่า การใช้กระติกน้ำร้อนไฟฟ้า มาต้มน้ำร้อน เพื่อใช้ในบ้าน สำนักงาน โรงเรียน ฯลฯ เพื่อชงชา กาแฟ ชงนมเด็ก ฯลฯ นั้น แม้ว่าจะสะดวกสบาย แต่ก็ต้องระวังเรื่องการใช้ไฟฟ้าด้วย เพราะเครื่องใช้ไฟฟ้ากลุ่มนี้ใช้พลังงานสูงในการต้มน้ำร้อน แล้วถ้าเปิดทิ้งไว้ทั้งวัน เราก็เสียค่าไฟทั้งวันไปด้วย

แต่มันก็คาใจนะ ว่ากระติกน้ำร้อนไฟฟ้า มันจะกินไฟขนาดครึ่งหนึ่งของเครื่องแอร์เชียวเหรอ ? .. ถ้าตามรูปประกอบในการบรรยายนี้ แสดงว่าแอร์กินไฟประมาณ 1200 - 1300 วัตต์ ขณะที่กระติกน้ำร้อนกินไฟ ประมาณ 600 วัตต์ (ซึ่งก็ตรงตามที่โฆษณากันส่วนใหญ่)

ประเด็นที่ต้องคิดคือ กระติกน้ำร้อนกินไฟสูงตอนที่ "ต้มน้ำ" แต่มันกินไฟลดลงนะ เวลาที่ "อุ่นน้ำ" ตัวอย่างเช่น กระติกน้ำร้อน TOSHIBA รุ่น PLK-G33TS

ขณะต้มน้ำร้อน กินไฟประมาณ 655 วัตต์ ขณะอุ่นน้ำร้อน กินไฟประมาณ 33 วัตต์ (ข้อมูล) ... ไม่ใช่ว่ามันจะกินไฟ 600 กว่าวัตต์ตลอดเวลาทั้งวัน

ดังนั้น การที่วิทยากร เสียบปลั๊กกระติกน้ำร้อนให้ดู แล้วตัวเลขกินไฟมันสูง ก็เพราะว่าตอนนั้นเป็นช่วงที่กระติกกำลังต้มน้ำให้ร้อน และพอมันเดือดแล้ว กระติกจะตัดไฟ เปลี่ยนมาเป็นการอุ่นให้ความร้อนกับน้ำเป็นระยะ ซึ่งจะกินไฟน้อยลง ... ไม่ได้แปลว่า กระติกน้ำร้อนจะกินไฟครึ่งหนึ่งของแอร์ ตลอดเวลา (อย่างที่ผู้ฟังการบรรยาย จะเข้าใจตามไปอย่างนั้น)

ทีนี้ แล้วกระติกน้ำร้อนไฟฟ้านี่ จริงๆ มันกินไฟประมาณเท่าไหร่กันแน่ ก็ลองกูเกิ้ลข้อมูล

พบการทดสอบนี้ ในปี 2554 (ดูลิงค์ด้านล่าง) ว่าน่าจะพออ้างอิงได้ (แต่การคำนวณค่าไฟ คงต้องคิดใหม่ตามอัตราปัจจุบัน)

.

#กระติกต้มน้ำร้อนแบบอัตโนมัติ (Electric Hot Pot)

- ทดสอบกระติกน้ำร้อนของ Toshiba ขนาดปานกลาง มีความจุน้ำ 2.5 ถึง 3.0 ลิตร สามารถต้มน้ำให้ร้อน โดยมีโปรแกรมควบคุมรักษาอุณหภูมิให้คงที่ได้ 3 ระดับ คือ 98, 85 และ 60 องศาเซลเซียส

.

#การทดสอบกระติกขนาด 4.5 ลิตร

- ต้มน้ำให้ร้อนจนเดือด จะใช้กำลังไฟฟ้าประมาณ 738 วัตต์ ใช้เวลาต้มน้ำประมาณ 32 นาที

- ช่วง Warm Mode ตั้งไว้ที่ 98 องศาเซลเซียส จะใช้ไฟฟ้า 70 วัตต์ หรือคิดเป็นค่าไฟฟ้าเดือนละประมาณ 200 - 210 บาท

.

#การทดสอบกระติกขนาด 3.0 ลิตร

- เมื่อเร่งจากน้ำอุ่นมาเป็นน้ำเดือด จะใช้ไฟฟ้าประมาณ 653 วัตต์

- ช่วงรักษาอุณหภูมิของน้ำไว้ที่ 98 องศาเซลเซียส จะใช้ไฟฟ้า 64 วัตต์ เกือบตลอดเวลา (มีบางช่วงสั้นๆ ที่ลดลงเหลือ 2 วัตต์)

- ตลอดช่วงอุ่นน้ำ ใช้ไฟฟ้าโดยเฉลี่ยชั่วโมงละ 0.049 หน่วย หรือเดือนละ 35.77 หน่วย คิดเป็นค่าไฟฟ้าประมาณเดือนละ 144 บาท

- เมื่อรวมค่าไฟฟ้าในช่วงที่ต้มน้ำให้เดือด จะประมาณเดือนละ 180 บาท

.

#การทดสอบกระติกขนาด 2.5 ลิตร

- ต้มน้ำเดือดใช้ไฟฟ้าประมาณ 677 วัตต์ ใช้เวลาประมาณ 20 นาที เสียค่าไฟฟ้าประมาณครั้งละ 1.10 บาท

- ช่วง Warm Mode ตั้งไว้ที่ 98 องศาเซลเซียส จะใช้ไฟฟ้า 64 วัตต์ (บางเวลา ลดเหลือ 2 วัตต์เมื่อไม่ต้องการทำความร้อน) จะใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยประมาณวันละ 0.87 หน่วย คิดเป็นค่าไฟฟ้าเดือนละ 105 บาท

.

.

#สรุป แม้ว่ากระติกต้มน้ำร้อนไฟฟ้า จะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟสูงอีกชนิดหนึ่ง และกินไฟต่อเนื่องจากการที่เสียบปลั๊กอุ่นน้ำร้อนเอาไว้ แต่ช่วงที่กินไฟฟ้าสูงนั้นจะเป็นช่วงที่ต้มน้ำให้เดือด ทำให้ค่าไฟฟ้าที่เสียเพิ่มต่อเดือนจะอยู่ที่ประมาณ 100-200 บาทตามแต่ขนาดของกระติก

ดังนั้น การบอกว่ากระติกน้ำร้อนไฟฟ้ากินไฟเท่ากับครึ่งหนึ่งของแอร์ (ซึ่งเดือนๆ หนึ่ง น่าจะกินไฟเป็นพันๆ บาท ขึ้นกับขนาดของเครื่องและการใช้) ก็คงจะพูดอย่างนั้นไม่ถูกต้องนัก

คำแนะนำที่ว่า "ช่วงที่ไม่ได้ใช้งานนานๆ ก็ควรดึงปลั๊กกระติกน้ำร้อนออก หรือปิดสวิทช์ (ถ้ามี)" ก็ยังคงเป็นคำแนะนำที่ดี

แต่ก็ต้องคิดด้วยว่า การเริ่มกลับมาต้มน้ำใหม่นั้น จะเป็นช่วงที่เสียค่าไฟฟ้าเพิ่มและต้องรอเวลานาน 20-25 นาทีกว่าน้ำจะเดือด ... กระติกประเภทนี้จึงเหมาะกับสถานที่ที่มีการใช้น้ำร้อนบ่อยครั้งในแต่ละวัน

นอกจากนี้ ถ้าเป็นการใช้กระติกน้ำร้อนรุ่นใหม่ๆ ที่มีฉนวนป้องกันการสูญเสียความร้อนที่ดี และมีระบบควบคุมรักษาอุณหภูมิของน้ำที่ดี ก็จะช่วยให้ประหยัดพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ได้ส่วนหนึ่งครับ

ปล. โดยส่วนตัว ผมใช้เตาอบไมโครเวฟ อุ่นน้ำร้อนมาชงกาแฟ แทนพวกกระติกน้ำร้อนไฟฟ้าครับ .. แต่ต้องระวังกันด้วยนะ ควรอุ่นแค่ 1-1.5 นาที อย่าให้นานเกินไป ไม่งั้นน้ำจะเดือดแบบ superheat ได้ ซึ่งจะอันตรายมากครับ (ดูตัวอย่างคลิป)

อ้างอิงข้อมูลการทดสอบจาก คลิก

"อ.เจษฎ์"ไขข้อข้องใจ กระติกน้ำร้อน กินไฟ ครึ่งหนึ่งของแอร์ จริงหรือไม่