วัคซีนโควิด ต้องฉีดกี่เข็มถึงป้องกันโอมิครอน เข็ม 4-5 จำเป็นหรือไม่

หมอเฉลิมชัย ให้ความรู้เรื่องวัคซีนโควิด-19 ต้องฉีดกี่เข็มถึงป้องกันโอมิครอน เข็ม 4-5 จำเป็นหรือไม่ เช็กรายละเอียด

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ภายหลังจากประเทศไทยผ่อนคลายมาตรการต่างๆ รวมถึงลดเงื่อนไขการเข้าประเทศ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามามากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลประเมินแล้วว่า สถานการณ์โควิดภายในประเทศเริ่มคลี่คลายไปมาก แต่อย่างไรก็ตามยังมีเรื่องที่ต้องเฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิดซึ่งก็คือ โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ว่าจะมีการระบาดรุนแรงอีกหรือไม่

 

วัคซีนโควิด ต้องฉีดกี่เข็มถึงป้องกันโอมิครอน เข็ม 4-5 จำเป็นหรือไม่

ขณะที่เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 65 ที่ผ่านมานั้น ทางด้าน หมอเฉลิมชัย หรือ น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ได้ให้ความรู้ผ่านทาง blockdit "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" เกี่ยวกับเรื่องวัคซีนโควิด โดยระบุว่า ข้อมูลล่าสุด ต้องฉีดวัคซีนโควิดขั้นต่ำ 3 เข็ม เพื่อรับมือไวรัสโอมิครอน ส่วนการติดโควิดตามธรรมชาติก็ได้ภูมิคุ้มกันไม่สูงมากพอ


ณ ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 20 มิ.ย. 65) คนไทยจำนวน 53 ล้านคน หรือ 76.2% ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดครบ 2 เข็มแล้ว โดยมีผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นครั้งที่ 1 ซึ่งนับเป็นเข็มที่ 3 จำนวน 29 ล้านคน คิดเป็น 42% จะเห็นได้ว่าผู้ที่รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 มีจำนวนน้อยกว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว มากถึง 24 ล้านคน ทั้งที่มีวัคซีนจำนวนเพียงพอ มีชนิดของวัคซีนที่หลากหลายครบถ้วน ตลอดจนมีสถานที่ฉีดสะดวกและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย จึงเป็นเหตุที่ทำให้ต้องมาวิเคราะห์หาสาเหตุของผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว แต่ยังไม่มาฉีดเข็มที่ 3 มีเหตุปัจจัยหลายประการ ที่ยังไม่มาฉีดเข็ม 3 เช่น ติดโควิด-19ไปก่อนแล้ว และยังไม่ถึงเวลาที่จะฉีดเข็ม 3 เป็นต้น แต่มีคนเป็นจำนวนมากพอสมควรที่ถึงเวลาที่จะฉีดกระตุ้นเข็ม 3 แล้ว แต่ยังไม่มาฉีด เพราะได้รับข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน หรืออาจไม่ถูกต้อง

 

วัคซีนโควิด ต้องฉีดกี่เข็มถึงป้องกันโอมิครอน เข็ม 4-5 จำเป็นหรือไม่

วันนี้จึงจะมาดูข้อมูลข้อเท็จจริงต่างๆ ให้ถูกต้องและครบถ้วน เกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด ดังนี้


1.ในช่วงปี 2564

ช่วงมกราคม-มีนาคม 2564  ไวรัสสายพันธุ์อู่ฮั่นเป็นสายพันธุ์หลัก

ช่วงเมษายน-มิถุนายน 2564 ตามด้วยไวรัสสายพันธุ์อัลฟ่า

ช่วงกรกฎาคม-ธันวาคม 2564 เป็นไวรัสสายพันธุ์เดลตา

ในช่วงปี 2564 ซึ่งมีไวรัสเด่นสามสายพันธุ์นั้น การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 2 เข็มได้ผลดี ในระดับป้องกันการติดเชื้อได้ 70-95% และลดการเสียชีวิตได้ 90-98% จึงมีคำแนะนำในช่วงปี 2564 ให้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดจำนวน 2 เข็ม


2. นับตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา ไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนเริ่มระบาด และเข้าแทนที่ไวรัสเดลต้าเดิมเกือบทั้งหมดแล้ว จากการศึกษาพบว่าวัคซีน 2 เข็มที่เคยใช้รับมือกับไวรัสในปี 2564 ได้ดี ไม่สามารถจะรับมือกับไวรัสโอมิครอนได้ โดยพบว่าวัคซีน 2 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อโอมิครอนไม่ได้ แต่ยังกันป่วยหนักเสียชีวิตได้ เมื่อฉีดเข็ม 3 พบว่าประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อ เพิ่มจาก 0% เป็น 56% และลดการเสียชีวิตได้ 88% จึงมีคำแนะนำในปัจจุบัน ให้ฉีดวัคซีน 3 เข็มเป็นอย่างน้อย เพื่อรับมือกับไวรัสโอมิครอน


3. มีการศึกษาว่า ฉีดวัคซีนเข็มที่ 4  พบว่าเพิ่มประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อขึ้นเป็น 84.7% ส่วนการเสียชีวิตยังไม่มี จึงมีคำแนะนำให้ฉีดเข็มที่ 4 ในกลุ่มเสี่ยงได้แก่ กลุ่ม 608 และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า


4. การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ถ้าฉีดใกล้กับวัคซีนพื้นฐานมากเกินไป ภูมิคุ้มกันจะขึ้นไม่สูงนัก แต่ถ้าฉีดห่างออกมา ยิ่งห่างมาก ระดับภูมิคุ้มกันที่ได้จะยิ่งสูงมากขึ้น จึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนกระตุ้น ไม่ว่าจะเป็นเข็ม 3 หรือเข็ม 4 อย่างน้อยห่างจากวัคซีนก่อนหน้านั้น 3-4 เดือนขึ้นไป นานกว่านั้นได้


5. การติดโควิดจากไวรัสโอมิครอนจะแตกต่างกับไวรัสเดิมคือ เมื่อหายดีแล้ว ระดับภูมิคุ้มกันขึ้นไม่มากนัก จึงมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อซ้ำได้


สรุป
 
- โควิดในปัจจุบันซึ่งเกิดจากไวรัสโอมิครอน ให้ฉีดวัคซีนขั้นต่ำ 3 เข็ม

- ในกลุ่มเสี่ยง 608 และบุคลากรด่านหน้า ให้สามารถเริ่มฉีดเข็ม 4 ได้ ห่างจากเข็ม 3 อย่างน้อย 4 เดือน

- จะต้องมีการฉีดเข็มที่ 5 หรือการฉีดกระตุ้นทุกปีหรือไม่นั้น ให้รอการรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมที่จะมีการประกาศต่อไป

- การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ดีกว่าการปล่อยให้ติดเชื้อเองตามธรรมชาติ เพราะการติดเชื้อตามธรรมชาติ นอกจากเสี่ยงการเจ็บป่วย การเป็นลองโควิดแล้ว ภูมิคุ้มกันที่ได้จากโอมิครอนก็ขึ้นน้อยกว่าการติดเชื้อไวรัสเดิม ทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำอีกในอนาคต

 

ขอบคุณ ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย