ราชกิจจาฯประกาศ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มให้สูญหาย มีผลในอีก 120 วัน

ราชกิจจาฯประกาศ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มให้สูญหาย มีผลใน 120 วัน นับจากวันที่เผยแพร่ประกาศฉบับนี้ออกไป

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมาเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระบรมราชโองการ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ไว้ ณ วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2565 เป็นปีที่ 7 ในรัชกาลปัจจุบัน โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ โดยขอยกเนื้อหามาบางส่วน ดังนี้

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ร.บ.นี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 32 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

 

ราชกิจจาฯประกาศ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มให้สูญหาย มีผลใน 120 วัน จากนี้

 

เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตาม พ.ร.บ.นี้ เพื่อให้ความคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกัน ปราบปราม และเยียวยาผู้เสียหายจากการกระทำในลักษณะดังกล่าว ซึ่งการตรา พ.ร.บ.นี้ สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พ.ร.บ.นี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565

มาตรา 2 พ.ร.บ.นี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ราชกิจจาฯประกาศ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มให้สูญหาย มีผลใน 120 วัน จากนี้

 

มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้

“ผู้เสียหาย” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือจิตใจ จากการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย และให้หมายความรวมถึงสามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยา
ซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรส ผู้อุปการะและผู้อยู่ในอุปการะของผู้ถูกกระทำให้สูญหาย

“เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า บุคคลซึ่งใช้อำนาจรัฐหรือได้รับมอบอำนาจ หรือได้รับการแต่งตั้ง อนุญาต สนับสนุน หรือยอมรับโดยตรงหรือโดยปริยาย จากผู้มีอำนาจรัฐให้ดำเนินการตามกฎหมาย

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย

“ควบคุมตัว” หมายความว่า การจับ คุมตัว ขัง กักตัว กักขัง หรือกระทำด้วยประการอื่นใดในทำนองเดียวกันอันเป็นการจำกัดเสรีภาพในร่างกายของบุคคล

มาตรา 4 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรักษาการตาม พ.ร.บ.นี้

ขณะที่ในหมวด 1 บททั่วไป มีการระบุว่า

มาตรา 5 ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ เพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(1) ให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือคำรับสารภาพจากผู้ถูกกระทำหรือบุคคลที่สาม
(2) ลงโทษผู้ถูกกระทำเพราะเหตุอันเกิดจากการกระทำหรือสงสัยว่ากระทำของผู้นั้นหรือบุคคลที่สาม
(3) ข่มขู่หรือขู่เข็ญผู้ถูกกระทำหรือบุคคลที่สาม
(4) เลือกปฏิบัติไม่ว่ารูปแบบใด
ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำทรมาน

มาตรา 6 ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐลงโทษหรือกระทำด้วยประการใดที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันเป็นเหตุให้ผู้อื่นถูกลดทอนคุณค่าหรือละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานความเป็นมนุษย์ หรือเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานแก่ร่างกายหรือจิตใจที่มิใช่การกระทำความผิดตามมาตรา 5 ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

การกระทำตามวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงอันตรายอันเป็นผลปกติหรือสืบเนื่องจากการลงโทษทั้งปวงที่ชอบด้วยกฎหมาย

มาตรา 7 ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐควบคุมตัว หรือลักพาบุคคลใด โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิเสธว่ามิได้กระทำการดังกล่าว หรือปกปิดชะตากรรมหรือสถานที่ปรากฏตัวของบุคคลนั้นซึ่งส่งผลให้บุคคลนั้นไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย
การกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งให้ถือเป็นความผิดต่อเนื่องจนกว่าจะทราบชะตากรรมของบุคคลนั้น

มาตรา 8 ผู้ใดกระทำความผิดฐานกระทำทรมานตามมาตรา 5 ความผิดฐานกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามมาตรา 6 หรือความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหายตามมาตรา 7 นอกราชอาณาจักร ต้องรับโทษในราชอาณาจักรตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.นี้ โดยให้นำความในมาตรา 10 แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

มาตรา 9 การกระทำความผิดฐานกระทำทรมานตามมาตรา 5 และการกระทำความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหายตามมาตรา 7 มิให้ถือว่าเป็นความผิดที่มีลักษณะทางการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน และความผิดทางการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา

มาตรา 10 ในคดีความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหายตามมาตรา 7 ให้ดำเนินการสืบสวนจนกว่าจะพบบุคคลซึ่งถูกกระทำให้สูญหายหรือปรากฏหลักฐานอันน่าเชื่อว่าบุคคลนั้นถึงแก่ความตายและทราบรายละเอียดของการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด

มาตรา 11 ในคดีความผิดฐานกระทำทรมานตามมาตรา 5 หรือความผิดฐานกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามมาตรา 6 ซึ่งผู้เสียหายไม่อยู่ในฐานะที่จะร้องทุกข์หรือกล่าวโทษด้วยตนเองได้ หรือความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหายตามมาตรา 7 ให้สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรส ผู้อุปการะ และผู้อยู่ในอุปการะของผู้ถูกกระทำทรมาน ผู้ถูกกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือผู้ถูกกระทำให้สูญหายตาม พ.ร.บ.นี้ แล้วแต่กรณี เป็นผู้เสียหาย
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วย

มาตรา 12 พฤติการณ์พิเศษใดๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะสงครามหรือภัยคุกคามที่จะเกิดสงคราม ความไม่มั่นคงทางการเมืองภายในประเทศ หรือสถานการณ์ฉุกเฉินสาธารณะอื่นใด ไม่อาจนำมาอ้างเพื่อให้การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย

มาตรา 13 ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐขับไล่ ส่งกลับ หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะไปตกอยู่ในอันตรายที่จะถูกกระทำทรมาน ถูกกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือถูกกระทำให้สูญหาย

สำหรับหมวด 5 มีการระบุถึง บทกำหนดโทษ ดังนี้

มาตรา 35 ผู้กระทำความผิดฐานกระทำทรมานตามมาตรา 5 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000-300,000 บาท

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 10-25 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 15-30 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 300,000-1,000,000 บาท

มาตรา 36 ผู้กระทำความผิดฐานกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามมาตรา 6 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 37 ผู้กระทำความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหายตามมาตรา 7 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000-300,000 บาท

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 10-25 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 15-30 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 300,000-1,000,000 บาท

มาตร 38 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 35 หรือมาตรา 36 เป็นการกระทำแก่บุคคลอายุไม่เกิน 18 ปี หญิงมีครรภ์ ผู้พิการทางร่างกายหรือจิตใจ หรือผู้ซึ่งพึ่งตนเองมิได้เพราะอายุหรือความป่วยเจ็บ ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นกึ่งหนึ่ง

ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 37 เป็นการกระทำแก่บุคคลตามวรรคหนึ่ง ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นกึ่งหนึ่ง

มาตรา 39 ผู้ใดสมคบเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 35 มาตรา 36 มาตรา 37 หรือมาตรา 38 ต้องระวางโทษ 1 ใน 3 ของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

ถ้าได้มีการกระทำความผิดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันตามวรรคหนึ่ง ผู้สมคบกันนั้นต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

ในกรณีที่ความผิดได้กระทำถึงขั้นลงมือกระทำความผิด แต่เนื่องจากการเข้าขัดขวางของผู้สมคบทำให้การกระทำนั้นกระทำไปไม่ตลอดหรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ศาลจะลงโทษผู้สมคบที่กระทำการขัดขวางนั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดเพียงใดก็ได้

มาตรา 40 ผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดตามมาตรา 35 มาตรา 36 มาตรา 37 หรือมาตรา 38 ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น

มาตรา 41 ถ้าผู้กระทำความผิดตามมาตรา 37 มาตรา 38 วรรคสอง มาตรา 39 หรือมาตรา 40 ช่วยให้มีการคันพบผู้ถูกกระทำให้สูญหายก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา โดยผู้นั้นมิได้รับอันตรายสาหัสหรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต หรือให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์ในการดำเนินคดี ศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดเพียงใดก็ได้

มาตรา 42 ผู้บังคับบัญชาผู้ใดทราบว่าผู้ใต้บังคับบัญชาซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของตนจะกระทำหรือได้กระทำความผิดตามมาตรา 35 มาตรา 36 มาตรา 37 หรือมาตรา 38 และไม่ดำเนินการที่จำเป็นและเหมาะสม เพื่อป้องกันหรือระงับการกระทำความผิด หรือไม่ดำเนินการหรือส่งเรื่องให้ดำเนินการสอบสวนและดำเนินคดีตามกฎหมาย ต้องระวางโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

ผู้บังคับบัญชาตามวรรคหนึ่งจะต้องเป็นผู้ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบและมีอำนาจควบคุมการกระทำซึ่งเกี่ยวข้องกับความผิดฐานกระทำทรมาน ความผิดฐานกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย

นอกจากนี้ ในบทเฉพาะกาล มาตรา 43 ระบุด้วยว่า ให้นำความในมาตรา 10 มาใช้บังคับแก่การกระทำให้บุคคลสูญหายก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับโดยอนุโลม

 

ราชกิจจาฯประกาศ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มให้สูญหาย มีผลใน 120 วัน จากนี้

 

ราชกิจจาฯประกาศ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มให้สูญหาย มีผลใน 120 วัน จากนี้

 

ราชกิจจาฯประกาศ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มให้สูญหาย มีผลใน 120 วัน จากนี้

 

เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ โดยที่การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่ไม่อาจกระทำได้ไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆ ดังนั้น เพื่อยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย สมควรกำหนดฐานความผิด มาตรการป้องกันและปราบปราม และมาตรการเยียวยาผู้เสียหาย ตลอดจนมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ.นี้

 

อ่านราชกิจจานุเบกษาฉบับเต็ม ที่นี่

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Thainewsonline