เปิดผลตรวจสอบ"ไม่พบทุจริต" โครงการปรับปรุงป้ายชื่อ "สถานีกลางบางซื่อ"

ผลการตรวจสอบ โครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ เป็น สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ล่าสุด คณะกรรมการฯ ไม่พบการทุจริต ระบุ รฟท. ดำเนินการตามขั้นตอน ขอบเขตที่รับผิดชอบ


    โครงการปรับปรุงป้ายชื่อ "สถานีกลางบางซื่อ"ไม่พบการทุจริต หลังทางคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงการก่อสร้าง โครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ เป็น สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และ ตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ออกมาเผยผลการตรวจสอบ เมื่อวันที่24 ม.ค.66 ที่ผ่านมา พร้อมเสนอให้ปรับปรุงกระบวนการ เพื่อลดงบประมาณ 

   ก่อนหน้านี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ออกมาชี้แจงเพิ่มเติม ประเด็นราคาค่าตัวอักษร “โครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย” 

โดยการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยใช้งบประมาณปรับปรุงป้ายชื่อสูงถึงตัวอักษรละ 5 แสนบาทนั้น ถือเป็นเรื่องที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงเป็นอย่างมาก เนื่องจากโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ดังกล่าว ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนป้ายชื่อจำนวน 56 อักษรอย่างที่มีการตั้งข้อสังเกต

 

แต่ในความจริงมีการปรับปรุงป้ายชื่อมากถึง 112 ตัวอักษร (110 ตัวอักษร กับ 2 ตราสัญลักษณ์ฯ) เพราะมีการติดตั้งป้ายชื่อสถานีอยู่ทั้ง 2 ฝั่ง ทั้งบริเวณโดมด้านหน้าสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก และยังมีจำนวนตัวอักษรที่เพิ่มขึ้นจากป้ายเดิมอีกด้วย

เปิดผลตรวจสอบ"ไม่พบทุจริต" โครงการปรับปรุงป้ายชื่อ "สถานีกลางบางซื่อ"


สำหรับรายละเอียดของการติดตั้งตัวอักษร ได้แบ่งเป็นตัวอักษรภาษาไทยฝั่งละ 24 ตัวอักษร อักษรภาษาอังกฤษฝั่งละ 31 ตัวอักษร และตราสัญลักษณ์การรถไฟฯ ฝั่งละ 1 ตราสัญลักษณ์ ซึ่งหากรวมทั้ง 2 ฝั่ง จะมีการติดตั้งอักษรภาษาไทยรวมถึง 48 ตัวอักษร อักษรภาษาอังกฤษรวม 62 ตัวอักษร และ 2 ตราสัญลักษณ์ของการรถไฟฯ  รวมทั้งสิ้น 112 ตัวอักษร (110 ตัวอักษร กับ 2  ตราสัญลักษณ์ฯ)

เปิดผลตรวจสอบ"ไม่พบทุจริต" โครงการปรับปรุงป้ายชื่อ "สถานีกลางบางซื่อ"

    ที่สำคัญการกำหนดขอบเขตของงานโครงการฯ ในวงเงิน 33 ล้านบาทนั้น ไม่ได้มีเพียงแค่ค่าใช้จ่ายการปรับปรุงป้ายชื่อตัวอักษรเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงงานรื้อถอน การเปลี่ยนผนังกระจก โครงผนังกระจกอะลูมิเนียม การจัดทำระบบไฟแสงสว่าง ค่าการออกแบบด้านวิศวกรรมโครงสร้างและรูปแบบการติดตั้งที่มีขอบเขตงานที่เกี่ยวกับการรื้อถอนของเดิมและติดตั้งของใหม่ที่กระทบต่อโครงสร้างของอาคารสถานีที่ดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว

 

   ตลอดจนมีการกำหนดการรับประกันความชำรุดบกพร่องภายในขอบเขตงานอีก 365 วันด้วย รวมถึงความรับผิดชอบบำรุงรักษางานระบบไฟแสงสว่าง ที่ไม่มีค่าใช้จ่ายที่การรถไฟแห่งประเทศไทยจะจ่ายให้ แต่ผู้รับจ้างต้องรับผิดชอบตลอดระยะเวลาการรับประกันผลงาน โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้


งานส่วนที่ 1 งานโครงสร้างวิศวกรรม
- งานรื้อถอนผนังกระจก 85 ตารางเมตร โครงผนังกระจก 188 ตารางเมตร และป้ายสถานีเดิม 2 ฝั่ง
เป็นเงิน  4,098,329.16 ล้านบาท
- งานโครงสร้างเหล็ก น้ำหนักเหล็ก 13,014 กิโลกรัม เป็นเงิน   1,524,824.35  บาท
- งานกระเช้าไฟฟ้ารองรับการทำงานที่สูง 28 เมตร เป็นเงิน  605,368.00  บาท  


งานส่วนที่ 2 งานสถาปัตยกรรม
- การจัดหาและติดตั้งกระจกชุดใหม่ ที่ต้องสั่งหล่อเป็นพิเศษโดยเว้นรูเจาะให้พอดีจุดยึดโครงเหล็กกับตัวอักษรแต่ละตัวไว้ล่วงหน้า  เป็นเงิน 2,657,882.85 บาท
- งานจัดหาและติดตั้งโครงกระจกอะลูมิเนียม เป็นเงิน 2,094,915.02 บาท
- งานจัดหาติดตั้งป้ายที่มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และสัญลักษณ์การรถไฟฯ ทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก รวม 110 ตัวอักษร และ 2 ตราสัญลักษณ์ เป็นเงิน 19,642,043.52 บาท


งานส่วนที่ 3 งานออกแบบรายละเอียดพร้อมรายการคำนวณ
- งานออกแบบด้านวิศวกรรมโครงสร้าง และรูปแบบการติดตั้ง เป็นเงิน 918,700.89 บาท
งานส่วนที่ 4 งานเผื่อเลือก (Provisional Sum)
- งานติดตั้งและรื้อถอนวัสดุปิดแทนกระจกระหว่างเปิดใช้งาน เป็นเงิน 1,627,662.60 บาท

แต่ในส่วนรายการนี้ ได้กำหนดไว้ว่า จะจ่ายให้ก็ต่อเมื่อผู้ว่าจ้างสั่งให้ดำเนินการ สำหรับงานติดตั้งและรื้อถอนวัสดุปิดแทนผนังกระจก เช่น แผ่นผนังอะครีลิกใส เป็นต้น เพื่อป้องกันไม่ให้ลมหรือฝนสาดเข้าตัวอาคารสถานี ระหว่างที่รอการผลิตและติดตั้งผนังกระจกใหม่ โดยในกรณีที่ผนังกระจกใหม่สามารถผลิตและติดตั้งให้แล้วเสร็จได้ทันภายใน 90 วัน ยอดเงินเผื่อจ่าย (Provisional Sum) รายการนี้ผู้ว่าจ้างก็จะไม่ต้องสั่งให้ผู้รับจ้างดำเนินการและผู้รับจ้างก็จะไม่สามารถขอเบิกจ่ายเงินค่าจ้างได้ ซึ่งก็คือ ถ้าไม่ต้องดำเนินการก็จะไม่ต้องจ่ายเงินค่าจ้างรายการนี้ การรถไฟฯ ก็จะสามารถประหยัดเงินค่าจ้างลงได้ส่วนหนึ่งด้วย

 

เปิดผลตรวจสอบ"ไม่พบทุจริต" โครงการปรับปรุงป้ายชื่อ "สถานีกลางบางซื่อ"
ดังนั้น เห็นได้ว่าการตั้งข้อสังเกตที่ระบุว่า การรถไฟฯ ใช้งบประมาณในการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ในราคาตัวอักษรละ 5 แสนบาท จึงไม่ใช่ความจริง เพราะในข้อเท็จจริงมีการติดตั้งตัวอักษรมากถึง 112 ตัวอักษร ไม่ใช่ 56 ตัวอักษร

 

อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายการดำเนินงานอื่น ๆ เข้าไปรวมอยู่ในเนื้องานอีกจำนวนมากด้วยและที่สำคัญราคาการเปลี่ยนป้ายชื่อดังกล่าวยังสอดคล้องกับราคาประมาณการของชมรมป้าย ซึ่งประเมินค่าใช้จ่ายตัวอักษร เนื่องจากขนาดตัวอักษร
ป้ายชื่อมีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ มีความสูงถึง 3 เมตร กว้าง 2.6 เมตร หนา 40 เซนติเมตร มีความยาวของป้ายใหม่รวม 60 เมตร ตามจำนวนอักษรของชื่อพระราชทาน ในส่วนที่เป็นอักษรภาษาอังกฤษ มีความสูง 2.1 เมตร กว้าง 2.2 เมตร หนา 40 เซนติเมตร อีกทั้งยังผลิตด้วยวัสดุพิเศษ เป็นอะคริลิกสีขาวนม ยกขอบ ซึ่งมีความทนทานต่อแดดและฝน รวมถึงซ่อนไฟแสงสว่างไว้ด้านหลังป้ายด้วย ขณะที่ตราสัญลักษณ์ของการรถไฟฯ ยังมีความสูงถึง 7 เมตรเช่นกัน


ส่วนประเด็นการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความเหมาะสม ในการใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจงนั้น

เปิดผลตรวจสอบ"ไม่พบทุจริต" โครงการปรับปรุงป้ายชื่อ "สถานีกลางบางซื่อ"
การรถไฟฯ ขอชี้แจงเหตุผลที่ต้องจ้างโดยวิธีดังกล่าว เนื่องจากการจ้างปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นการจ้างปรับปรุงงานก่อสร้างที่ได้ดำเนินงานก่อสร้างจนแล้วเสร็จเรียบร้อยแล้วและยังอยู่ระหว่างการรับประกันความชำรุดบกพร่องของกิจการร่วมค้า เอส ยู ประกอบด้วย บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)

และบริษัท ซิโน-ไทยเอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างสถานี ซึ่งงานจ้างปรับปรุงฯ นี้ มีขอบเขตงานที่เกี่ยวกับการรื้อถอนของเดิมและติดตั้งของใหม่ที่กระทบต่อโครงสร้างของอาคารสถานีที่ดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว ย่อมส่งผลต่อการรับประกันความชำรุดบกพร่องของงาน การรถไฟฯ จึงได้กำหนดขอบเขตของงานให้ผู้รับจ้างต้องดำเนินงานภายใต้เงื่อนไข ข้อกำหนด รายการจำเพาะ ตามขอบข่ายวัตถุประสงค์ ของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต สัญญาที่ ๑ ซึ่งมีเพียงบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไข จึงเป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๕๖ (๒) (ค) ที่ให้หน่วยงานของรัฐสามารถดำเนินการจัดจ้างจากผู้ประกอบการซึ่งมีคุณสมบัติโดยตรงเพียงรายเดียว ซึ่งถือเป็นการดำเนินการตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และหลักธรรมมาภิบาลทุกประการ

 ล่าสุดทาง "เนชั่นออนไลน์" เปิดเผยว่า นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้แบ่งการตรวจสอบเป็น 2 ประเด็น ได้แก่

1.ความเหมาะสม ของขอบเขตงาน และ ราคากลาง

พบว่า รฟท. ไม่ได้ดำเนินการนอกเหนือจากขอบเขตงาน และ เป็นไปตามรายละเอียดของงานติดตั้งป้ายเดิม ที่ รฟท.รายงานว่าได้ตรวจสอบและรับรองทางวิศวกรรม รวมทั้งติดตั้งไปแล้ว และมีความปลอดภัยแข็งแรงตามมาตรฐาน ดังนั้น การกำหนดขอบเขตการดำเนินการ และการกำหนดราคากลางของ รฟท.ของการดำเนินโครงการครั้งนี้ เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพที่สามารถตรวจสอบได้ 

โดยคณะกรรมการฯ ได้แนะ ให้ รฟท. ทบทวนเพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพ และ ประหยัดงบประมาณของ รฟท.ให้ได้มากที่สุด เช่น ทบทวนรายละเอียดของวัสดุ เทคนิคที่ใช้ที่อาจทำให้การออกแบบ เลือกใช้วัสดุ และ วิธีการจัดทำ  เปรียบเทียบว่าติดตั้งป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อในครั้งนี้มีประสิทธิภาพสูงกว่า หรือมีต้นทุนที่ต่ำกว่าเดิม

ทบทวนค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน และ จำนวนและเวลาที่ใช้งานของกระเช้าอีกครั้ง และเสนอให้ใช้ตัวอักษรเดิม “สถานีกลาง” ที่ติดตั้งอยู่ในปัจจุบัน มาปรับปรุงเพื่อใช้ติดตั้งแทนที่จะทำขึ้นใหม่ทั้งหมด เพราะยังอยู่ในสภาพดี และสามารถนำมาปรับปรุงเหมือนกับตัวอักษรใหม่ได้

รวมถึงทบทวนค่างานออกแบบที่อาจต่ำลงกว่าเดิมได้ เนื่องจากเป็นงานที่ออกแบบไว้เดิมอยู่แล้ว ทบทวนงานเผื่อเลือก (Provisional Sum) ที่อาจสามารถปรับลดได้ อาทิ การทบทวนความจำเป็นที่จะต้องมีวัสดุมาปิดไว้ทดแทนกระจกในขณะที่มีการรื้อถอน เนื่องจากงานดำเนินการในช่วงฤดูหนาว และ อาคารสถานีบางส่วนเป็นพื้นที่ที่ไม่มีกระจกอยู่แล้ว เป็นต้น

2. การตรวจสอบความถูกต้องของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง

คณะกรรมการฯเห็นว่า เป็นการใช้ดุลยพินิจ ตีความระเบียบกฎหมาย ในกรอบอำนาจหน้าที่  แต่เห็นว่า รฟท. ควรศึกษาทบทวนวิธีการจัดซื้อจัดจ้างให้เหมาะสม รอบคอบ โดยอาจพิจารณาแนวทางการจัดซื้อจัดจ้าง ด้วยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปเป็นลำดับแรกก่อน เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเปิดกว้าง  ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นถึงความโปร่งใส เป็นธรรม และเป็นที่ยอมรับของประชาชน

 รองปลัดกระทรวงคมนาคม แจ้งว่าได้รายงานผล การตรวจสอบไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแล้ว ส่วนข้อเสนอแนะทั้งหมด จะถูกนำไปปฏิบัติตามหรือไม่ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการหรือบอร์ดของ รฟท.พิจารณา ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงจะต้องรายงานมายังกระทรวงคมนาคมตามระเบียบต่อไป


ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่ thainews