เตือนผู้ว่าฯทุกจังหวัด เตรียมรับมือพายุฤดูร้อนถล่ม สิ้นเดือนก.พ.-มี.ค.

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา เตือนด่วนถึงผู้ว่าราชการทุกจังหวัดให้เตรียมตัวรับมือพายุฤดูร้อน อาจถล่มสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม 2566 นี้

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เตือนผู้ว่าฯทุกจังหวัด เตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อน ก.พ.-มี.ค. 2566 เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างรวดเร็วและทันท่วงที

พลเอก อนุพงษ์ เปิดเผยว่า ได้ติดตามลักษณะอากาศช่วงฤดูร้อนของประเทศไทยร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนมีนาคม ประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศร้อนหลายพื้นที่ในตอนกลางวัน จากนั้น จนถึงปลายเดือนเมษายน จะมีอากาศร้อนอบอ้าว  โดยทั่วไป เมื่ออากาศร้อนจัด และจะเกิดพายุฤดูร้อนในหลายพื้นที่ โดยจะมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง รวมทั้งอาจมีลูกเห็บตกลงในบางแห่ง

 

เตือนผู้ว่าฯทุกจังหวัด เตรียมรับมือพายุฤดูร้อนถล่ม สิ้นเดือนก.พ.-มี.ค.

 

โดยดำเนินการ  ด้านการเตรียมความพร้อม ดังนี้

1.ติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่อาจทำให้เกิดพายุฤดูร้อนกับกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด

2.ให้ผู้อำนวยการแต่ละระดับ ตรวจตราอาคารสถานที่ ป้ายโฆษณา สิ่งก่อสร้าง ไม้ยืนต้นตามที่สาธารณะ

3.ให้ผู้อำนวยการท้องถิ่นเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์ ทรัพยากร เครื่องจักรกลสาธารณภัย เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยเป็นไปอย่างรวดเร็วและทันท่วงที 

4.สร้างการรับรู้ให้ประชาชนทราบถึงแนวทางการปฏิบัติตนให้เกิดความปลอดภัย

เตือนผู้ว่าฯทุกจังหวัด เตรียมรับมือพายุฤดูร้อนถล่ม สิ้นเดือนก.พ.-มี.ค.

 

ด้านการเผชิญเหตุ ให้จังหวัดดำเนินการตามแนวทาง ดังนี้

1.หากเกิดเหตุวาตภัยที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินในพื้นที่ใด ให้เร่งสำรวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามกฎ ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

2.กรณีบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย ให้จัดทีมปฏิบัติการเร่งเข้าซ่อมแชมบ้านเรือนประชาชนโดยเร่งด่วน 

3.กรณีป้ายโฆษณา สิ่งก่อสร้าง ไม้ยืนต้น หรือโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะระบบไฟฟ้าได้รับความเสียหาย ให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าแก้ไข และซ่อมแซมโดยเร็ว 

4.กรณีความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและอำเภอร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งสำรวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือตามกฎ ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง 

5.เมื่อเกิดสถานการณ์วาตภัยจากพายุฤดูร้อนขึ้นในพื้นที่ ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสรุปสถานการณ์ รายงานให้ มท. ทราบ จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ

หากได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์วาตภัยและภัยต่าง ๆ ติดต่อแจ้งขอรับความช่วยเหลือผ่านสายด่วนนิรภัยโทร. 1784 ตลอด 24 ชม. หรือแจ้งผ่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเร่งให้การช่วยเหลือต่อไป

 

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Thainewsonline