เปิดเงินเยียวยา “ครูเจี๊ยบ” จากกรมคุ้มครองสิทธิฯ เหยื่อถูกลูกหลงเด็กช่าง

กรมคุ้มครองสิทธิฯ จ่ายเยียวยา “ครูเจี๊ยบ” เหยื่อถูกลูกหลงจากเหตุคนร้ายไล่ยิงเด็กสถาบันชื่อดัง และกระสุนได้พลาดถูก น.ส.ศิรดา หรือ ครูเจี๊ยบ

จากกรณี เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2566 เวลา 09.30 น. ได้เกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนไล่ยิงนักศึกษาสถาบันชื่อดัง และกระสุนได้พลาดถูก น.ส.ศิรดา หรือครูเจี๊ยบ ครูสอนคอมพิวเตอร์ โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ ได้เสียชีวิต นั้น

เปิดเงินเยียวยา “ครูเจี๊ยบ” จากคุ้มครองสิทธิฯ เหยื่อถูกลูกหลงเด็กช่าง

นายธีรยุทธ แก้วสิงห์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ ในฐานะโฆษกกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดเผยว่า เหตุที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องสะเทือนขวัญมาก สร้างความเศร้าสลดให้ครอบครัว เพื่อนครูและนักเรียน รวมทั้งสาธารณชนด้วย  ต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวครูเจี๊ยบด้วยที่ต้องสูญเสียกำลังสำคัญของครอบครัว โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้ดำเนินการแจ้งสิทธิให้แก่ครอบครัวทราบพร้อมรับคำขอการช่วยเหลือเยียวยาตั้งแต่วันเกิดเหตุ และเมื่อวานนี้ (22พฤศจิกายน 2566) ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา กรุงเทพมหานคร คณะที่ 3 โดยมี นางสุจิตรา แก้วไกร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นประธาน และมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้ง ด้านสังคมสงเคราะห์ และด้านคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ

โดยที่ประชุมได้อนุมัติให้ความช่วยเหลือแก่ทายาทของครูเจี๊ยบ เป็นเงิน 200,000 บาท ประกอบด้วย (1) ค่าตอบแทนกรณีผู้เสียหายถึงแก่ความตาย 100,000 บาท (2) ค่าจัดการศพ 20,000 บาท (3) ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู 40,000 บาท และ(4) ค่าเสียหายอื่น 40,000 บาท (กรณีเป็นเหตุอุกฉกรรจ์ สะเทือนขวัญ และเป็นที่สนใจของสาธารณชน)   สำหรับการช่วยเหลือเยียวยานี้ เป็นการคุ้มครองสิทธิเบื้องต้นให้แก่ผู้เสียหายในคดีอาญา ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม( ฉบับที่2) พ.ศ. 2559) ให้ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาตามหลักสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานสากล

เปิดเงินเยียวยา “ครูเจี๊ยบ” จากคุ้มครองสิทธิฯ เหยื่อถูกลูกหลงเด็กช่าง

นายธีรยุทธ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกรณี นายธนสรณ์ หรือน้องหยอด ผู้เสียหายอีกคนที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในเวลาต่อมานั้น  เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมได้ไปแจ้งสิทธิและรับคำขอจากทายาทผู้เสียหายแล้ว และจะนำเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาการช่วยเหลือเยียวยาต่อไป 

"หากท่านตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม ถูกทำร้ายถึงแก่ชีวิต ร่างกาย โดยการกระทำผิดอาญาของผู้อื่น โดยตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง มีสิทธิได้รับการเยียวยา” โดยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ส่วนกลาง (กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ) ส่วนภูมิภาค (สำนักงานยุติธรรมจังหวัด ทุกแห่งทั่วประเทศ) หรือสอบถามได้ที่ สายด่วนยุติธรรม โทร. 1111 กด 77 "