หมอเตือนเอง 5 พฤติกรรมเสี่ยง กินหมูกระทะ เสี่ยงติดโรค

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) พบคนไทยนิยมกินหมูกระทะถึงร้อยละ 32.1 ซึ่งมี 5 พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้ติดโรคไข้หูดับ และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 

นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า ปัจจุบันแนวโน้มการบริโภคอาหารบุฟเฟ่ต์ (Buffet) ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการรวมกลุ่มกินหมูกระทะในหมู่เพื่อน หรือครอบครัว ช่วงวันหยุด หรือเทศกาล ผลการเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงการกินหมูกระทะของคนไทย จำนวน 26,689 ราย ทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 4-22 ธันวาคม 2566 โดยกองสุขศึกษาพบว่า มีผู้นิยมกินหมูกระทะถึงร้อยละ 32.1 โดยมี 5 พฤติกรรมเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพ ซึ่งอาจนำไปสู่การติดโรคจากเชื้อแบคทีเรีย หรือการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases : NCDs) ซึ่งต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ได้แก่

หมอเตือนเอง 5 พฤติกรรมเสี่ยง กินหมูกระทะ เสี่ยงติดโรค

1.การไม่แยกตะเกียบหรือแยกแค่บางครั้ง ระหว่างตะเกียบที่ใช้คีบหมูดิบกับหมูสุก ร้อยละ 44.7 สุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus Suis) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไข้หูดับ

2.กินหมูสามชั้นทุกครั้งหรือเกือบทุกครั้งเมื่อมีการกินหมูกระทะ ร้อยละ 62.9 ซึ่งนำไปสู่ภาวะได้รับไขมันเกินจนเกิดโรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ฯลฯ

3.ดื่มน้ำอัดลมร่วมกับการกินหมูกระทะทุกครั้งหรือเกือบทุกครั้ง ร้อยละ 58.4 ซึ่งนำไปสู่ภาวะได้รับน้ำตาลเกินทำให้เกิดปัญหาโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน

4.เน้นกินอาหารทะเล ร้อยละ 58.8 ซึ่งทำให้มีโอกาสได้รับคอเรสเตอรอลสูงหรือได้รับฟอร์มาลีนที่ใช้สำหรับรักษาความสดของอาหารทะเลเข้าสู่ร่างกาย และ

5.เลือกที่จะกินให้อิ่มมากเกินปกติทุกครั้ง หรือเกือบทุกครั้ง ร้อยละ 42.1 ซึ่งทำให้ได้รับสารอาหารที่มากเกินความจำเป็นต่อร่างกาย


 

หมอเตือนเอง 5 พฤติกรรมเสี่ยง กินหมูกระทะ เสี่ยงติดโรค

นพ.สามารถ กล่าวเพิ่มเติมว่า การรวมกลุ่มกินหมูกระทะในช่วงวันหยุด หรือเทศกาล เป็นกิจกรรมที่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ยาก    เมื่อมีการรวมตัวของกลุ่มเพื่อนฝูง หรือครอบครัว แต่ประชาชนสามารถลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ หรือการเกิดโรคได้ ด้วยการแยกอุปกรณ์ในการตักหรือคีบระหว่างอาหารสุกและอาหารดิบ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย และกินอย่างเหมาะสม “ลดหวาน มัน เค็ม” ดื่มน้ำสะอาดแทนน้ำหวาน พร้อมทั้งการกินผลไม้แทนขนมหวาน เลือกกินเนื้อปลา ไก่ หรือหมูที่มีปริมาณไขมันน้อยๆ ลดการใช้ซอสปรุงรส หรือน้ำจิ้ม เพื่อลดปริมาณโซเดียม และเคี้ยวอาหารให้ละเอียด เพื่อให้ร่างกายจะใช้เวลาในการย่อยอาหารน้อยลง สามารถดูดซึมสารอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยทำให้รู้สึกอิ่มเร็วขึ้นทำให้ลดปริมาณอาหารที่กินและควบคุมน้ำหนักได้ดีขึ้น ประการสำคัญ การรับประทานหมูกระทะ หรือบุฟเฟ่ต์มื้อหนักๆ ไม่ควรรับประทานเกิน 1-2 ครั้งต่อเดือน และควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสุขภาพที่ดี